ทิศทางเงินหยวน : แนวโน้มค่อยๆ แข็งค่า…กระทบส่งออกไทย

ประเด็นการอ่อนค่าลงอย่างหนักและต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้จุดชนวนประเด็นข้างเคียงให้กับตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศผ่านเวทีการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ในช่วงวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วยการออกแถลงการณ์ตามปกติ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากแถลงการณ์ในการประชุมครั้งก่อนๆ ก็คือ การระบุถึงจีนและประเด็นเงินหยวนด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น และดูเหมือนจะเป็นถ้อยแถลงที่หนักแน่นที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการรวบรวมประเด็นแวดล้อม ตลอดจนปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมาและระยะถัดไปดังนี้

ต้นตอแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของเงินหยวน
ข้อเท็จจริงที่ว่า เงินหยวนมีมูลค่าที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระแสแรงกดดันให้เงินหยวนแข็งค่ากลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในเวทีการประชุมนานาชาติ โดยเฉพาะการประชุมของกลุ่มประเทศ G-7 นอกจากแรงกดดันให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นจะมาจากปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินระหว่างประเทศแล้ว ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่งของจีนเองก็ให้ภาพที่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้ธนาคารกลางจีนยังคงมีแนวโน้มที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ

ปัจจัยภายนอก
»» กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ และแรงกดดันจากสหรัฐฯ
แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปีในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นในช่วงปี 2548 ที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นถึง 12.8% เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก 6 สกุล โดยได้รับแรงหนุนจากวัฏจักรคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2547) โดยในช่วงปี 2545-2547 เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันอย่างหนักจากปัญหาเรื้อรังทางโครงสร้างของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนผ่านการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังในระดับสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ต่อมาในช่วงปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงเทขายอีกครั้งจากหลากหลายปัจจัยลบ ประกอบด้วย การคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดตามแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2549 วัฎจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเขตเศรษฐกิจอื่นๆ และการกระจายทุนสำรองระหว่างประเทศออกจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ ของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ฯ ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพร์ม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตลาดสินเชื่อทั่วโลกตึงตัว และนำไปสู่ความกังวลต่อภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในที่สุด โดยเงินดอลลาร์ฯ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินยูโรและตะกร้าเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 23 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่ำสุดในรอบ 47 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์แคนาดา และต่ำสุดในรอบ 26 ปีเทียบกับเงินปอนด์

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่บ่งชี้ว่า สหรัฐฯ มีความวิตกต่อการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ อีกด้วย โดยนายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่สนับสนุน “นโยบายดอลลาร์ฯ แข็งค่า” อย่างต่อเนื่อง แต่นายพอลสัน ได้ระบุเพิ่มเติมว่า อัตราแลกเปลี่ยนควรถูกกำหนดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายใต้กลไกตลาดเสรี ซึ่งได้ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดการเงินเชื่อมั่นว่า ทางการสหรัฐฯ ยังคงจะไม่เข้าไปแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา และ/หรือ เข้าจัดการกับค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนแอลง เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นมีส่วนช่วยลดยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลงบางส่วน และการขยายตัวของภาคส่งออกเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยามที่อุปสงค์ภายในประเทศบางส่วนถูกกดดันจากความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ทั่วกระดาน ขณะที่ยังคงมีความเสี่ยงในช่วงขาลงต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางจีนปล่อยเงินหยวนให้แข็งค่าเร็วขึ้น

»» แรงกดดันจากยุโรป…แม้จะไม่เป็นเอกฉันท์
การทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝรั่งเศสและอิตาลี ออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อการแข็งค่าของเงินยูโรซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซน ทั้งนี้ เงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 9.6% ในปีนี้ (ณ 31 ตุลาคม 2550) จากระดับปิดตลาดของปี 2549 ที่ผ่านมา ขณะที่ ตัวเลขดุลการค้าของฝรั่งเศสและอิตาลีให้ภาพที่สอดคล้องกันว่า การแข็งค่าของเงินยูโรอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ดุลการค้าของทั้ง 2 ประเทศบันทึกยอดขาดดุล อย่างไรก็ตามเยอรมนี นั้นดูเหมือนจะไม่วิตกมากนักต่อการแข็งค่าของเงินยูโรเนื่องจากกว่า 60% ของมูลค่าการส่งออกของเยอรมนีนั้นเป็นการส่งออกไปยังประเทศในแถบสหภาพยุโรป และมากกว่า 40% เป็นการส่งออกไปยังประเทศในเขตยูโรโซน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 ยูโรโซนบันทึกยอดขาดดุลการค้ามูลค่า 61.9 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นประมาณ 24% เมื่อเทียบกับยอดขาดดุลมูลค่า 50.1 พันล้านยูโร ในช่วงเดียวกันปี 2549 สาเหตุส่วนหนึ่งของการขาดดุลการค้าอาจเป็นผลมาจากการที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร

แม้ว่าการแข็งค่าของเงินยูโรจะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในแถบยุโรป แต่คงมีความเป็นไปได้ยากที่จะมีการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินยูโรในระยะนี้ เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปกำลังเผชิญกับ Dilemma โดยไม่สามารถแก้ไขการแข็งค่าของเงินยูโรด้วยการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ เนื่องจากเป้าหมายหลักของธนาคารกลางยุโรปคือการดูแลเสถียรภาพของระดับราคา และท่ามกลางการทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลก การแข็งค่าของเงินยูโรจะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อได้บางส่วนในยามที่ธนาคารกลางยุโรปต้องชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงินออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดสินเชื่อโลก ทั้งนี้เงินยูโรยังคงมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า เงินยูโรยังคงมีโอกาสที่จะทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป ซึ่งแนวต้านหลักของเงินยูโรจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.4550 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ของเงินมาร์กเยอรมนี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำไว้เมื่อปี 2538

การร่วงลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินยูโรนั้น มีปัจจัยกดดันอยู่เบื้องหลังจากความกังวลต่อการชะลอลงของเศรษฐกิจ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากวิกฤตตลาดสินเชื่อซับไพร์ม ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อพิจารณาถึงการที่จีนอนุญาตให้เงินหยวนปรับแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ของประเทศในกลุ่มยูโรโซนออกมาเรียกร้องการแบกรับภาระการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ และแก้ไขความไม่สมดุลทางการเงินของโลกร่วมกัน

»» แคนาดา…ได้รับผลกระทบเช่นกัน
แคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่การปรับตัวของสกุลเงินในประเทศมีความแข็งแกร่งมากในช่วงนี้ โดยเงินดอลลาร์แคนาดาทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 47 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการทะยานขึ้นทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสการอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 18% จากระดับปิดในปี 2549 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

แรงผลักดันจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งภายใน
นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีอัตราการขยายตัวในระดับที่แข็งแกร่งเป็นตัวเลข 2 หลักอย่างต่อเนื่อง แต่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจนั้นได้ทำให้ทางการจีนต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการทั้งทางด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา ปัญหาสภาพคล่อง ตลอดจนความร้อนแรงในภาคการผลิต ดังนั้นนโยบายเศรษฐกิจของจีนจึงเข้าสู่วัฏจักรของการคุมเข้มเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีนมีความแข็งแกร่ง ข้อมูลล่าสุดของทางการจีนระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 11.5% ต่อปีในไตรมาส 3/2550 จากร้อยละ 11.9% ในไตรมาส 2/2550 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุใน WORLD ECONOMIC OUTLOOK ฉบับเดือนตุลาคม 2550 ว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจโลกได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนมากกว่าจากสหรัฐฯ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกแทนที่เยอรมนี

แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อัตราเงินเฟ้อของจีนอยู่ที่ 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (สูงเกินเป้าหมายที่ 3.0% ของรัฐบาลจีน) นำโดยราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นถึง 10.6% ในขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของจีนประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนจากระดับ 1.5% ในปี 2549

 ยอดเกินดุลการค้าในระดับสูง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ดุลการค้าของจีนขยายตัวสูงถึง 69% ขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 185.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของจีนประเมินว่า ยอดเกินดุลการค้าของจีนในปีนี้มีแนวโน้มจะทะยานขึ้น 45% สู่ระดับ 257 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการเกินดุลการค้าในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้จีนยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนานาประเทศ ให้เร่งทำการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวน

 การทะยานขึ้นของตลาดหุ้น ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นแล้วประมาณ 122.6% (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550) ในปีนี้ ขณะที่ มูลค่าตลาดหลักทรัพย์โดยรวมของจีนเพิ่มขึ้นแล้วถึง 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจจีนในปี 2549

 การลงทุน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในเขตชุมชนเมืองปรับตัว เพิ่มขึ้น 26.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2549 ที่ 24.5% ขณะที่ มูลค่าการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ขยายตัวสูงถึง 30.3%

แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของจีนได้ชะลอตัวลงแล้ว แต่ยังคงปรับตัวอยู่เหนือระดับ Comfort Zone ของผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการแข็งค่าของเงินหยวนในระดับที่เหมาะสมอาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งธนาคารกลางจีนก็อาจเล็งเห็นประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าจีนนั้นต้องการให้การแข็งค่าของเงินหยวนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเกรงว่าหากเงินหยวนแข็งค่าในอัตราที่รวดเร็วมากเกินกว่าอุตสาหกรรมภายในประเทศของจีนจะรับได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตอื่นๆ เนื่องจากการส่งออกยังเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของจีนอยู่

ค่าเงินหยวน
ภายหลังจากการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวนค่อยๆ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา เงินหยวนแข็งค่าขึ้นทะลุระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 7.5000 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนในเดือนกรกฎาคม 2548 และในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม 2550 ธนาคารกลางจีนทำการกำหนดค่ากลางอ้างอิงเงินหยวนรายวันไว้ที่ระดับแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่จีนทำการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนในเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นจำนวน 6 วันในรอบ 8 วันทำการ ซึ่งส่งผลทำให้นักลงทุนบางส่วนเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางจีนกำลังส่งสัญญาณให้กับตลาดว่า เงินหยวนอาจถูกปล่อยให้แข็งค่ามากขึ้นในปีหน้า และผลที่เกิดขึ้นก็คือ เงินหยวนดีดตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 ซึ่งนับเป็นการแข็งค่ารายวันที่มากที่สุดนับตั้งแต่จีนทำการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนในเดือนกรกฎาคม 2548 และตามมาด้วยการทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเงินหยวนที่ระดับ 7.4608 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2550 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550)

ทั้งนี้ เงินหยวนปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 4.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550) ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่า ทางการจีนจะอนุญาตให้เงินหยวนค่อยๆ ขยับแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้น้ำหนักกับความพร้อมของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีนมากกว่าแรงกดดันจากนานาชาติ และหากพิจารณาความเคลื่อนไหวของเงินหยวนในช่วงหลังจากที่จีนทำการปฏิรูปค่าเงินหยวนจะพบว่า เงินหยวนปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 9.8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร โดยเงินหยวนอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 5% ในปีนี้ และอ่อนค่าลงถึงประมาณ 7.7% หลังการปฏิรูปค่าเงิน

ในตลาดต่างประเทศ สัญญาฟอร์เวิร์ดที่ไม่มีการส่งมอบ (Non-Deliverable Forwards: NDFs) สกุลเงินดอลลาร์ฯ/หยวน ระยะ 1 ปี ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 6.9480/6.9530 หยวนต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550) โดยระดับดังกล่าวบ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดต่างประเทศคาดการณ์ว่า เงินหยวนอาจพุ่งขึ้นประมาณ 7.42-7.50% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนที่ประกาศโดยธนาคารกลาง ทั้งนี้แม้ว่านักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีความเห็นที่สอดคล้องกันในแนวโน้มค่าเงินหยวน แต่จะเห็นว่า นักค้าเงินและนักลงทุนในประเทศส่วนใหญ่คิดว่า การที่ธนาคารกลางอนุญาตให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางจีนได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยน และอนุญาตให้เงินหยวนแข็งค่าในอัตราที่เร็วขึ้น โดยตลาดภายในประเทศยังคงเชื่อมั่นว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% ต่อปี

เงินหยวน..ในระยะถัดไป
นักวิเคราะห์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีการคาดการณ์ในหลากหลายมุมมองว่า แนวทางการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนในระยะถัดไปนั้นอาจออกมาในรูปแบบของการอนุญาตให้เงินหยวนเคลื่อนไหว (แบบ 2 ทาง) อย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้กรอบที่กำหนดโดยธนาคารกลางจีน และ/หรือ การขยายกรอบการเคลื่อนไหวรายวันให้กับค่าเงินหยวนเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และสกุลเงินอื่นๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงิน และ/หรือ การปรับเพิ่มค่าเงินหยวนในครั้งเดียว (One-off Revaluation) และ/หรือ การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนไปเป็นแบบลอยตัวตามกลไกตลาดเสรี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะทำการปรับเพิ่มค่าเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับเพิ่มความยืดหยุ่นแก่เงินหยวนให้สามารถเคลื่อนไหวตามพลังตลาดได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกอาจตกอยู่ในภาวะที่ปั่นป่วนหากทางการจีนประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนอย่างเสรี ในขณะที่ โอกาสของการแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหากเงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จีนจะสามารถรักษามูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วยอัตราเดิมได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของเงินหยวนที่ทางการจีนต้องการเห็นก็คือ การเคลื่อนไหวแบบ 2 ทางในทิศทางที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจีนได้ผ่อนคลายกฏระเบียบของการออกไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจีนเพื่อเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ในเงินดอลลาร์ฯ ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางจีนได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเพิ่มการกันสำรองด้วยการฝากเงินในธนาคารกลางในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แทนที่จะฝากในรูปเงินหยวนอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การปรับเพิ่มค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นในครั้งเดียวตามแรงกดดันจากทางการสหรัฐฯ นั้น ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า จีนจะไม่ถูกกดดันในประเด็นเงินหยวนอีกต่อไปในอนาคต และหากมีการปรับเพิ่มค่าเงินในอัตราที่สูงโดยที่อุตสาหกรรมภายในประเทศยังไม่มีความพร้อมและไม่สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของมาร์จิ้นที่เคยได้รับจากการแข่งขันทางด้านราคาแล้ว ก็อาจจะทำให้การชะลอตัวในภาคส่งออกของจีนส่งผลกระทบออกเป็นลูกโซ่ไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในที่สุด ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ทางการจีนไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น และอาจจะมีการทำการศึกษาถึงผลกระทบทางลบจากแนวทางนั้นไว้แล้วจึงไม่เลือกดำเนินการ และออกมากล่าวย้ำเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ หากทางการจีนยินยอมที่จะเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตัวเองทุกๆ ครั้งที่ได้รับแรงกดดันจากนานาชาติ ก็จะทำให้เป็นการกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของกระแสการเก็งกำไรเงินหยวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ทางการจีนไม่ต้องการให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นมากไปกว่าในปัจจุบัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางจีนได้ออกมาแสดงว่าคิดเห็นอย่างต่อเนื่องว่า การแข็งค่าของค่าเงินเพียงปัจจัยเดียวนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเกินดุลการค้าในระดับสูงของจีนลงได้ และการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการปฏิรูปทางโครงสร้าง ก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลกได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างร้อนแรงมากเกินไปจะไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว และซึ่งผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ และเริ่มดำเนินมาตรการเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจไปบ้างแล้ว และเป็นที่แน่นอนว่า ความยืดหยุ่นของเงินหยวนจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ทางการจีนสามารถปรับสมดุลให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการแข็งค่าของเงินหยวนจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนมีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการเกินดุลการค้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินขึ้นในระบบ อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะทำการปรับเศรษฐกิจในเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากปัญหาของจีนนั้นเป็นปัญหาที่มีต้นตอมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออกและการลงทุน

ประเด็นสำคัญต่อไทย
แม้ว่าความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนได้ทำให้ผู้วางนโยบายมีแนวโน้มที่จะคุมเข้มนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า มาตรการเพื่อชะลอความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของทางการจีนนั้น อาจจะเป็นไปอย่างค่อยไปดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตลอดจนอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ ร่วมไปกับการควบคุมปริมาณเงินและการขยายตัวของสินเชื่อ ในส่วนของค่าเงินหยวนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า โอกาสของการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนแบบก้าวกระโดดคราวละมากๆ นั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากประเทศคู่ค้าของจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ แต่ทางการจีนอาจจะยังคงเลือกวิธีการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงินและปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าในระดับที่ไม่รุนแรงเกินไป พร้อมๆ กับการเข้าดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การที่ทางการจีนค่อยๆ อนุญาตให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การจัดการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยไม่ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปล่อยลอยตัวค่าเงินหรือทำการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนคราวละมากๆ นั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับกระแสการหมุนเวียนของเงินทุนโลกไม่ให้ตกอยู่ในภาวะผันผวนมากไปกว่าปัจจัยแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นผลดีต่อสกุลเงินในภูมิภาครวมทั้งเงินบาท

แต่อย่างไรก็ตาม การขยับแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเงินหยวนก็มีนัยอีกด้านหนึ่งว่า ทางการจีนจะยังคงดูแลการเคลื่อนไหวของเงินหยวนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างฉับพลันตลอดจนเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของจีน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมีความกังวลในศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยเมื่อเทียบกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินบาทต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ในระยะถัดไป ในขณะที่เงินหยวนยังคงอยู่ภายใต้การดูแลจัดการอย่างใกล้ชิดของทางการจีน ก็อาจทำให้ผู้กำกับดูแลของทางการไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย เมื่อเงินบาทอาจต้องเผชิญกับการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์ฯ ในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้