สวทช. จับมือพันธมิตร “ซิ้งเกิ้ล พอยท์ พาร์ท” เตรียมต่อยอดผลงานวิจัยไทย

สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในฐานะหน่วยงานที่สร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย และนำการค้นคว้า วิจัยของคนไทยสู่ภาคเอกชนได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทันตกรรมจัดฟันระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิตทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลงและช่วยให้คนไทยได้มีโอกาสใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถผลิตออกสู่ตลาดภายในกลางปี พ.ศ. 2551

รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ในวันนี้ สวทช. ได้มีพันธมิตรใหม่จากภาคเอกชนที่มาร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนา คือ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำที่ผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกขนาดเล็ก ที่มีความเที่ยงตรงสูง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drive) คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ (consumer electronics) และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และบริษัทได้เห็นความสำคัญและคุณค่าในการวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านวัสดุ อุปกรณ์ กระบวนการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านทันตกรรมจัดฟัน ซึ่งการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนนี้นับเป็นแรง ขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

การวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานส่วนหนึ่งของศูนย์เทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) ซึ่งเป็นโครงการพิเศษของสวทช. โดยมีคณะทันตแพทย์จาก ADTEC และนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มาร่วมวิจัยและพัฒนาวัสดุ, การออกแบบ, กระบวนการผลิต และการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดการข้อมูลภาพและการนำร่อง (Guidance) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานทันตกรรมจัดฟัน นอกจากนี้ ADTEC ยังมีผลงานวิจัยและพัฒนารากฟันเทียมซึ่งได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแล้ว

คุณประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนหรือผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการพัฒนานวัตกรรมจากฝีมือของนักวิจัยไทย และควรให้การส่งเสริมเพื่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ มากกว่ามองในเรื่องของรายได้หรือผลกำไรเพียงด้านเดียว และมั่นใจว่าความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศใดในโลก

สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้ เป็นความร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทันตกรรม จัดฟันระยะเวลา 3 ปี โดยในระยะแรกจะเป็นการร่วมกันวิจัยและพัฒนาหมุดยึดทางทันตกรรมจัดฟัน (mini implant) ซี่งคาดหวังว่าจะสามารถสร้างต้นแบบที่ได้รับการทดสอบทางกล, ความเป็นพิษ, และความเข้ากันได้ทางชีวภาพเป็นผลสำเร็จ และในที่สุดจะสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้เชิงพาณิชย์เพื่อผลิตทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้หมุดยึดทางทันตกรรมจัดฟันมีราคาถูกลง และคนไทยก็จะมีโอกาสได้ใช้แพร่หลายมากขึ้นด้วย