สำหรับในปี 2550 นั้น นักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ชะลอตัวลง หลังจากที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย มีกำไรสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 75.5% (ตัวเลขเบื้องต้น) จากการกันสำรองตามเกณฑ์ IAS39 ของธปท.ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ ขณะที่สำหรับในปี 2551 นั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยถูกคาดหมายว่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นจากปี 2550 หลายเท่าตัว เนื่องจากภาระการกันสำรองจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งสินเชื่อน่าจะเติบโตเร่งขึ้น ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) สูงกว่า 3.32% (ตัวเลขเบื้องต้น) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นด้านผลประกอบการแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะต้องตอบโจทย์และหาทางรับมือกับปัจจัยท้าทายการดำเนินงานอีกหลากหลายประการ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบและเป็นตัวแปรกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจต่อไปในอนาคต
ปี 2551 คงไม่ใช่ปีที่ง่ายสำหรับการทำธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ในปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสเผชิญความซับซ้อนของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์จากทางการ และด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโดยตรง กล่าวคือ
1. ด้านเศรษฐกิจ … ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุดจนถึงเดือนกันยายน 2550 สถานการณ์ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้ด้านการลงทุนและการบริโภคที่ฟื้นตัว ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผลดีจากปัญหาการเมืองที่คลี่คลายลง หลังมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การจัดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในไตรมาส 1/2551 น่าจะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจนความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ขณะที่ปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับการใช้จ่ายภาครัฐตามกรอบงบประมาณขาดดุลปี 2551 ที่สูงขึ้น และการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่บางโครงการน่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 2550 นี้นั้น คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นจากตัวเลขประมาณการที่ 4.3-4.5% ในปี 2550 มาที่ 4.5-6.0% ได้ในปี 2551 ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เผชิญปัญหาซับไพร์มอยู่ก็ตาม
ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นดังกล่าว สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จึงน่าจะเติบโตเร่งขึ้นกว่าปี 2550 ตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อดี (Core Performing Loans) จะอยู่ในกรอบประมาณ 7.5-10.0% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 5.4-6.3% ณ สิ้นปี 2550 และ 5.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีท่าทีที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2551 มากขึ้น ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2550 จนเข้าใกล้ระดับ 95-100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่คลี่คลายลง ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะเดียวกัน ก็อาจกดดันให้การรักษานโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของธปท.ประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ในกรณีที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยปี 2551 เพิ่มขึ้นจากกรณีพื้นฐานที่ 78.3 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล มาที่ 88.34-98.34 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล (ซึ่งจะรองรับความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันอาจขึ้นไปสูงถึง 103-113 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วงระหว่างปี) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2551 อาจลดลงต่ำกว่า 4.6% ซึ่งน่าจะทำให้สินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวไม่เกิน 7%
2. ด้านการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์จากทางการ
ในปี 2551 ธนาคารพาณิชย์คงต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ที่สำคัญจากทางการหลักๆ หลายด้าน คือ หลักเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุนใหม่ Basel II (ที่จะเริ่มบังคับใช้จริง ณ สิ้นปี 2551) แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่สอง (ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นร่างสมบูรณ์ฉบับแรกภายในไตรมาส 1/2551) ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ซึ่ง ปัจจุบัน ร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของ สนช.วาระแรกแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายมาตราโดยคณะกรรมการวิสามัญ ขณะที่คาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ของสนช.ได้ภายในต้น ธ.ค.2550 ซึ่งจะทำให้สามารถประกาศใช้ได้ทันภายในสิ้นปี 2550 ขณะที่ หากเลยกำหนดการดังกล่าว ร่างกฎหมายก็คงจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้) ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน (ซึ่ง ปัจจุบัน อยู่ในสถานะเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) รวมทั้งการกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม (ที่อาจเริ่มรายงานจริงในปี 2551 ขึ้นกับการประกาศใช้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน)
สำหรับกฎเกณฑ์ที่คาดว่าน่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียดของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ว่าจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ รวมทั้ง ระยะเวลาที่ สนช.จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้นำออกใช้ ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบเบื้องต้นนั้น แม้ว่าในปีแรกที่มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากและมีการทยอยลดการคุ้มครองเงินฝากลงโดยอาจจะมาอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่คงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะจำนวนบัญชี 70.991 ล้านบัญชี (จากจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 70.995 ล้านบัญชี) หรือเงินฝากจำนวน 79.2% ของทั้งหมด จะยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่ แต่ก็อาจมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้ฝากเงินได้ โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลที่มีเงินฝากจำนวนมาก (High Net Worth Customers) ซึ่งอ่อนไหวต่อความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน ทำให้มีโอกาสเกิดการโยกย้ายเงินออมบางส่วนไปสู่ช่องทางการออมอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินฝาก หรือผลิตภัณฑ์ของธนาคารอื่นที่มีอัตราผลตอบแทนดีกว่า อันอาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดิมบ้าง ดังนั้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์คงจะต้องทำการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าของตน เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาฐานลูกค้าเงินออมไว้ได้ในอนาคต
3. ด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโดยตรง
นอกเหนือจากธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อแล้ว คาดว่าในปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะต้องเผชิญความซับซ้อนจากการดำเนินงานด้านอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ
การบริหารจัดการสภาพคล่อง
สำหรับปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น โดยนอกจากจะเป็นเพราะการขยายสินเชื่อที่คงจะเร่งขึ้นแล้ว ยังเป็นเพราะมีปัจจัยระบายสภาพคล่องเพิ่มเติมหลายประการ คือ ประการแรก การไหลออกของเงินฝากไปยังผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน เนื่องจากความแตกต่างของอัตราผลตอบแทน โดยแนวโน้มการออกตราสารหนี้จากภาครัฐจำนวนมาก จากนี้ไปจนถึงปี 2551 คาดว่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้น และรักษาความได้เปรียบเหนืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการไหลออกของเงินฝากไปยังตลาดกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงพันธบัตรออมทรัพย์ของภาครัฐที่ยังคงมีกำหนดการออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเกือบทั้งปี 2551
ประการที่สอง การระดมเงินฝากของสถาบันการเงินตามความจำเป็นทางธุรกิจ ซึ่งมาจากสาเหตุต่างๆ กัน อาทิ ผลกระทบจากข่าวการเจรจาเพิ่มทุน หรือการเพิ่มขนาดสินทรัพย์เพื่อขยายธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากในปี 2550 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มความแข็งแกร่งด้านเงินทุนกับพันธมิตรจากต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้เงินฝากและสินเชื่อชะลอตัวลงมากกว่าปกติ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็อยู่ระหว่างการขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และแข่งขันได้มากขึ้น จึงทำให้ธนาคารทั้งสองกลุ่มข้างต้นดังกล่าว เร่งระดมเงินฝาก เพื่อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2550 เป็นต้นมา ส่งผลให้ปริมาณสภาพคล่องของธนาคารทั้งสองกลุ่มดังกล่าว เพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ขณะที่ หากสถานการณ์ดังกล่าว ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2551 ก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารขนาดใหญ่ได้ในที่สุด
ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว อาจกระตุ้นให้วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ โดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบในวงกว้างนั้น อาจเริ่มต้นเร็วกว่าที่คาด และเร็วกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินจาก ธปท. นอกจากนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในรอบนี้ คาดว่าจะแตกต่างจากวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบปี 2547-2549 ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทยถึงประมาณหนึ่งปี ได้ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ผ่านการนำเม็ดเงินที่ระดมได้ไปลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ จนส่งผลให้มีรายรับดอกเบี้ยจากตลาดเงินสูงขึ้น มาชดเชยภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากได้บางส่วน ขณะที่ ในวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องเผชิญข้อจำกัดจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่อยู่ในระดับต่ำกว่าครั้งก่อนมาก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในครั้งนี้ อาจตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยประคับประคองฐานะการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทย แต่ก็อาจมีผลในการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ นอกจากนั้น พอร์ตเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ (ที่มีจำนวนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินลงทุนในตราสารหนี้) อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อันจะทำให้ราคาตราสารหนี้ดังกล่าวมีทิศทางลดลงด้วย
ประการที่สาม การเคลื่อนย้ายของเงินฝาก เนื่องจากประเด็นความมั่นคง หลังการบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยแม้ว่าผลกระทบที่ชัดเจนจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว อีกทั้ง ในปีแรกที่มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทางการคงจะทยอยลดการคุ้มครองเงินฝากลงโดยอาจจะมาอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ซึ่งครอบคลุมจำนวนเงินฝากกว่า 3 ใน 4 ของระบบธนาคารพาณิชย์ก็ตาม แต่ก็อาจมีผลกระทบทางจิตวิทยาภายหลังจากการประกาศใช้กฎหมาย โดยผลทางจิตวิทยาดังกล่าว อาจกระตุ้นให้ผู้ฝากเงินที่มีเงินออมเกินกว่าวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก อาจพิจารณาโยกย้ายเงินออมไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินฝาก ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์
ปัญหาคุณภาพหนี้ ที่อาจโดนซ้ำเติมจากความอ่อนแอของอำนาจซื้อของผู้บริโภคและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
สำหรับในปี 2551 อำนาจซื้อของผู้บริโภคที่อาจลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น อาจซ้ำเติมปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งมีทิศทางที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังต้องรักษานโยบายการกันสำรองหนี้เสียที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อไป
การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระแสการเป็นพันธมิตรด้านเงินทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยกับนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางและขนาดเล็กที่ปรากฎชัดเจนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ชี้ถึงแนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ย่อมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง และเป็นธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติดังกล่าวสนใจและมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์เครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กดังกล่าวในการสร้างความก้าวหน้าให้กับธุรกิจได้อีกด้วย
แต่เนื่องจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คล้ายคลึงกันและง่ายต่อการลอกเลียนแบบ จึงทำให้มีลักษณะเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อีกทั้ง กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ (นั่นคือ มีธุรกิจที่แข่งขันได้ มีกระแสรายรับที่มั่นคง และมีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ในระดับสูง) ค่อนข้างจำกัด และเป็นที่ต้องการของทุกธนาคาร ดังนั้น การแข่งขันที่เข้มข้น ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว อาจนำมาสู่การตัดราคา หรือลดคุณภาพเครดิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจสร้างผลกระทบให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้ตามเกม ขาดตลาดที่ชัดเจน ขาดการกระจายตัวที่ดีของพอร์ตสินเชื่อ หรือด้อยความแข็งแกร่งด้านเงินทุนในเชิงเปรียบเทียบ อันอาจกระทบกระเทือนต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ ในระยะยาว และกลายเป็นสัญญาณอันตรายต่อ “ความเชื่อมั่น” ของลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจของการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การคุ้มครองเงินฝากแบบไม่เต็มจำนวนในระยะ 4-5 ปีข้างหน้านี้
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าในปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีการรายงานผลประกอบการที่สดใสขึ้น จากภาระการกันสำรองที่คงจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การดำเนินธุรกิจคงจะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญหลากหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังความต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ไทย ตลอดจนคุณภาพหนี้
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังอาจต้องเตรียมตัวรับมือกับโอกาสที่สภาพคล่องจะตึงตัวมากขึ้น หลังจากที่เงินฝากบางส่วนอาจไหลออกไปสู่ตลาดทุน เพื่อแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมทั้ง อาจมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะทยอยลดวงเงินคุ้มครองลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับความจำเป็นในการระดมเงินฝากเพื่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารแต่ละแห่งที่มีเหตุผลเฉพาะแตกต่างกัน ก็อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ โดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีโอกาสปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาด และอาจปรับขึ้นก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไทยยังต้องประสบกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs และธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ซึ่งตัวแปรต่างๆ เหล่านี้ คงจะทำให้การรักษาความสามารถในการทำกำไรมีความซับซ้อนมากขึ้นในปี 2551 ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ที่มีศักยภาพทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะปานกลาง-ยาวได้ดีกว่า คงจะสามารถรักษาโพสิชั่นและความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าได้ในอนาคต