ผู้บริหารระดับสูงภาคตลาดทุน มองอนาคตตลาดทุนไทยต้องปรับตัว และเพิ่มมาตรการรองรับกระแสทุนโลก

ผู้บริหารตลาดทุนให้มุมมองต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ในการประชุม Top Executives’ Networking Forum 2007 : Listing…Once for All” ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ตลาดทุนไทยต้องมีมาตรการรองรับความ ผันผวนของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน พร้อมต้องปรับต้นทุนการให้บริการที่แข่งขันได้ ในขณะที่บริษัท หลักทรัพย์ต้องหารายได้จากธุรกรรมและบริการอื่นมากขึ้น เพื่อพร้อมรับเปิดเสรีค่านายหน้า

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยในอนาคต คือ ด้านการเมือง ซึ่งถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วจะมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีน อินเดีย เพราะตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐมีปัญหาด้านซับไพร์ม โดยในระยะสั้นตลาดทุนไทยจะผันผวนจากเงินทุนไหลเข้า ในขณะที่ระยะยาวความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับอุปสงค์จากจีนเป็นตัวผลักดันสำคัญ ตลาดทุนไทยควรเร่งหามาตรการส่งเสริมเรื่องเงินทุนไหลออก (Capital outflow) ให้คล่องตัว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนเสริมความแข็งแกร่งและความน่าสนใจให้ตลาดทุนไทย

“การเตรียมความพร้อมทำให้โครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนแข็งแรงน่าเชื่อถือมากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ ซึ่งได้มีการเชื่องโยงกับก.ล.ต.ทั่วโลก เพื่อให้มาตรฐานเดียวกันและเกิดการยอมรับ และกระตุ้นการแข่งขันโดยจะเปิดเสรีในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น และพร้อมที่จะทบทวน กฎเกณฑ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการเติบโตของตลาดทุนไทย รวมทั้งพัฒนาผลิตใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าขายข้ามชาติได้ และจะมีการเปิดให้ลงทุนในสินค้าที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น”

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า สิ่งที่ตลท.จะเร่งปรับตัวเพื่อรองรับและเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและพร้อมแข่งขันกับเวทีโลกได้แก่ การปรับต้นทุนการ ซื้อขายให้อยู่ในระดับเดียวกับตลาดในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงกับตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อลดต้นทุน และเป็นแหล่งระดมทุนให้บริษัทจดทะเบียนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจให้แข็งแกร่ง และส่งผลให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในกระจายการลงทุนมากขึ้น

“ปัจจุบันต้นทุนรวมของการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไทย อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ คือ อยู่ที่ร้อยละ 0.54 ในขณะที่ NYSE อยู่ที่ร้อยละ 0.17 และสิงคโปร์ อยู่ที่ร้อยละ 0.39 การลดต้นทุนการซื้อขายจะสร้างความน่าสนใจแก่นักลงทุนต่างประเทศในการเลือกเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย” นางภัทรียากล่าว

นางภัทรียากล่าวด้วยว่าตลาดหลักทรัพย์ ฯ ยังต้องปรับบทบาทเป็น ผู้ให้บริการมากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นบทบาทการดูแลและการทำตามกฎระเบียบ เพื่อเอื้อต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในโลกยุคใหม่ รวมทั้งต้องทำให้ กฎเกณฑ์มีความชัดเจนและง่ายต่อการปฏิบัติมากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยการตีความ นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาและเพิ่มสินค้าใหม่ ที่อำนวยความสะดวกในการซื้อขายข้ามชาติได้ เช่น ETF ที่ต้องเพิ่มช่องทางการเข้าสู่ตลาด หลักทรัพย์ฯ ด้วยการผ่านช่องทางของธนาคาร และ เชื่อมโยงกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนด้วย

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในอนาคตตลาดทุนโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 มิติใหญ่ คือ ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และอนุพันธ์จะรวมเป็นตลาดเดียว และ ตลาดเดี่ยวจะผนึกกันเป็น ตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ตลาดทุนไทยมีความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น เช่นเดียวกันกับในตลาดต่างประเทศ สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีการปรับตัว โดยต้องเพิ่มรายได้จากธุรกรรม บริการอื่น ๆ เช่น การเป็นผู้รับฝากหลักทรัพย์ (custodian) วาณิชธนกิจ (Investment Banking) และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) เนื่องจากไม่สามารถพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าได้อย่างเดียว เนื่องจากการเปิดเสรีที่จะมีมากขึ้นจากภาครัฐทำให้เกิดการแข่งขันกับต่างชาติรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องสร้างฐานเงินทุนของบริษัทหลักทรัพย์ให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อรองรับการหารายได้จากการซื้อขายเพื่อการลงทุนของบริษัท (Proprietary Trade) มากขึ้น

ในขณะที่ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้กล่าวเสริมว่าหากเป็นไปได้ เห็นว่าผู้มีอำนาจของภาครัฐน่าจะให้ความสำคัญเรื่องตลาดทุนมากกว่านี้เพราะจะช่วยให้การบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพและมีแหล่งภาษีให้รัฐบาลนำไปพัฒนาประเทศได้อีกมาก นอกจากนี้ การให้มีการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ไปลงทุนในทอง อีกทั้งขยายการลงทุนไปในต่างประเทศได้มากขึ้น ก็จะเป็นส่วนช่วยอีกทางหนึ่ง