ศึกเลือกตั้งปี’50: เม็ดเงินสะพัด 2.1 หมื่นล้านบาท

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งใหญ่ของประเทศไทยอีกครั้ง ในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่ามีความคึกคักมากพอสมควร ทั้งนี้จะพิจารณาได้จากจำนวนผู้สมัคร ส.ส.ที่มีมากกว่า 5 พันคน เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่มีผู้สมัคร ส.ส.เพียง 2 พันกว่าคนเท่านั้น ขณะเดียวกันสีสันในวันสมัครรับเลือกตั้งก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไม่น้อยไปกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ได้มีการจำกัดขอบเขตของกิจกรรมตามเงื่อนไขที่กฎหมายใหม่กำหนด

ในด้านผู้ที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ก็มีความคึกคักไม่น้อยไปกว่าในครั้งที่ผ่านมา โดยจะพิจารณาได้จากจำนวนของผู้ที่มาขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน เปรียบเทียบกับในการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีผู้มาขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าแค่เพียง 4 แสนกว่าคนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มขึ้นมาก

เมื่อมองถึงการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครในแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ อาจจะเห็นได้ว่าจำนวนป้ายโฆษณาหาเสียงในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มีบางตากว่าในครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดระเบียบวิธีการในการหาเสียงใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งทางราชการได้จัดสถานที่สำหรับการปิดป้ายหาเสียงให้อย่างเท่าเทียมกัน

แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ลงสมัคร ส.ส.ต่างก็มีกลยุทธ์ในการหาคะแนนเสียงในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และจะพบได้ว่ามีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยใช้วิธีการหาเสียงในรูปแบบที่แปลกๆ เช่น ออกไปกางเต็นท์นอนหาเสียง การออกไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว เป็นต้น

จำนวน ส.ส. ลดลง : การแข่งขันเข้มข้นขึ้น
เมื่อหันมาพิจารณาถึงจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 480 คน เปรียบเทียบกับในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้มี ส.ส.ได้จำนวน 500 คน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มี ส.ส.เป็น 2 ประเภทคือ “ส.ส.แบบแบ่งเขต” จำนวน 400 คน และ“ส.ส.แบบสัดส่วน” จำนวน 80 คน

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน ได้กำหนดให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมี ส.ส.ได้ 10 คน

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ได้มีการกำหนดพื้นที่เขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้นเพื่อป้องกันการซื้อเสียง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งจะมี ส.ส. ได้ไม่เกิน 3 คน

เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าในศึกเลือกตั้งปี 2550 นี้ ที่นั่งของ ส.ส.ในสภาฯมีจำนวนลดลงไป 20 ตำแหน่ง ในขณะที่จำนวนผู้สมัคร ส.ส. กลับเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลในวงการต่างๆสนใจที่จะเข้าไปเป็น ส.ส.ในสภาฯ และต้องการเข้าไปบริหารรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ที่เป็นลูก-หลาน-สามี-ภรรยา-พี่-น้องของอดีต ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้ลงมาแข่งขันในศึกเลือกตั้งปี 2550 เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันวิธีการหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆได้ ทั้ง SMS, E-mail และ อินเตอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้น เนื่องจากทาง กกต.ได้เข้มงวดเรื่องการใช้แผ่นพับ และแผ่นป้ายโฆษณาที่จะต้องมีจำนวนไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยต้องใช้วิธีการหาเสียงผ่านทางสื่ออื่นแทน เช่นเดียวกับสถานีวิทยุชุมชนในต่างจังหวัดได้เข้ามามีบทบาทในการหาเสียงเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามยุทธวิธีการหาเสียงแบบดั้งเดิม คือ การเดินเคาะประตู หาเสียงในตลาด เดินเข้าแหล่งชุมชน และการปราศรัยตามที่สาธารณะ ถือว่ายังได้ผลดี แต่ผู้สมัคร ส.ส. อาจจะต้องเหนื่อยมาก และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น

ในด้านกลยุทธ์การสร้างภาพความเชื่อมั่นให้กับหัวหน้าพรรคการเมืองก็ถือว่าเป็นจุดขายที่ประชาชนทั่วไปสนใจ เพราะหลายคนอาจจะมองไกลไปถึงตัวผู้นำรัฐบาลในอนาคตด้วย
ศึกเลือกตั้งปี 2550 นี้ แม้ว่าการหาเสียงด้วยแผ่นป้ายโฆษณาและเอกสารสิ่งพิมพ์ อาจจะมีจำนวนลดลง แต่ในทางกลับกันการหาเสียงผ่านสื่อและหาเสียงผ่านเครือข่ายหัวคะแนน และการหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.มีแนวโน้มที่จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าหัวคะแนน และค่าบริหารจัดการเครือข่ายชุมชนต่างๆเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าศึกเลือกตั้ง ปี 2550 จะมีเม็ดเงินสะพัดเป็นมูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาจากความเข้มข้นในการแข่งขันของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ในแต่ละเขต รวมไปถึงจำนวนผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและกำลังกาย

ขณะเดียวกันวิธีการในการหาคะแนนเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังคงเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือ วิธีการเคาะประตู การหาคะแนนเสียงผ่านหัวคะแนน และหาเสียงผ่านเครือข่ายชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการบริหารและการจัดการให้ได้คะแนนเสียง

เขตเลือกตั้งเปลี่ยนไป : ผู้สมัคร ส.ส. ต้องปรับตัว
ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการกำหนดวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง สำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ดังนี้
1.จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. ได้ไม่เกิน 3 คน ให้ถือว่าจังหวัดนั้นเป็น 1 เขตเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.ได้เกิน 3 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็น 2 เขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตมีจำนวน ส.ส.ได้ 3 คน

2. ในกรณีที่แบ่งเขตเลือกตั้งให้ครบ 3 คน ทุกเขตไม่ได้ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งที่มี ส.ส. เขตละ 3 คนก่อน แต่เขตที่เหลือต้องไม่น้อยกว่าเขตละ 2 คน ถ้าจังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 4 คน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 2 เขต เขตหนึ่งให้มี ส.ส. 2 คน หรือถ้ามี ส.ส.ได้ 5 คน ก็แบ่งเป็น 2 เขต โดยเขตหนึ่งมี ส.ส.ได้ 3 คน อีกเขตหนึ่งมี ส.ส.ได้ 2 คน เป็นต้น

สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน มีการกำหนด ดังนี้คือ แบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งให้มี ส.ส.ได้ 10 คน และการจัดกลุ่มจังหวัดให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน และในกลุ่มจังหวัดทุกกลุ่มจังหวัดต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน โดยให้จังหวัดทั้งจังหวัดอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน

จากการที่กฎหมายกำหนดให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส. แบบสัดส่วน มีขนาดใหญ่ขึ้น ครอบคลุมพื้นหลายจังหวัด ส่งผลทำให้ผู้สมัคร ส.ส. จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปหาเสียงในจังหวัดต่างๆมากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่ส่วนใหญ่จะหาเสียงเฉพาะในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ส.ส.แบบสัดส่วนจำเป็นที่จะต้องพึ่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตในการหาเสียงค่อนข้างจะมาก ขณะเดียวกันพรรคการเมืองเองจำเป็นที่จะต้องช่วยหาเสียงในภาพรวมของประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเพิ่มขึ้น

ส.ส.แบ่งเขตเลือกคน : ส.ส.สัดส่วนเลือกพรรค
สำหรับวิธีการลงคะแนนเสียงของประชาชนในศึกเลือกตั้งปี 2550 นี้ ไม่ค่อยแตกต่างจากการเลือกครั้งที่ผ่านๆมามากนัก โดยมีวิธีการลงคะแนน ดังนี้

1.การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
กฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่มีในแต่ละเขตเลือกตั้ง เช่น ในเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้ 1 คนก็ให้ลงคะแนนเสียง โดย กา (X) ในบัตรเลือกตั้งได้ 1 เบอร์ ถ้าในเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้ 2 คนก็กา (X) ในบัตรเลือกตั้งได้ 2 เบอร์ หรือถ้าในเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้ 3 คนก็ให้กา (X) ในบัตรเลือกตั้งได้ 3 เบอร์ เป็นต้น

2.การเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน
กฎหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนสำหรับ ส.ส. แบบสัดส่วน โดยให้เลือกหมายเลขประจำพรรคการเมืองของผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน ในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 พรรค หรือ กา (X) ในบัตรเลือกตั้งได้ 1 เบอร์เท่านั้น

เงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียง
สำหรับเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน กฎหมายได้กำหนดค่าใช้จ่ายไว้ ดังนี้

ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต สามารถใช้จ่ายเงินในการหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท และผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆสามารถใช้จ่ายเงินหาเสียงได้กลุ่มจังหวัดละไม่เกิน 15 ล้านบาท (เฉลี่ยคนละ 1.5 บาท) โดยให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส. แบบสัดส่วน เป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังกำหนดให้พรรคการเมืองสามารถใช้จ่ายเงินหาเสียงในภาพรวมของทั้งประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่พรรคใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนในทุกเขตเลือกตั้ง (ประมาณ 3 ล้านบาทต่อกลุ่มจังหวัด)

สำหรับในกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมก่อนที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตสามารถจะใช้จ่ายเงินเพื่อหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 500,000 บาท

ส่วนกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อม อันเนื่องมาจากการที่ผู้สมัคร ส.ส.ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าจำนวนคะแนนของบัตรเลือกตั้งที่กาไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ซึ่งทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่นั้น ผู้สมัคร ส.ส.จะสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อการหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 750,000 บาท

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมใหม่อีกครั้ง กฎหมายอนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ส.สามารถใช้จ่ายเงินหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 500,000 บาท

เลือกตั้งซ่อมให้ ส.ส. เต็มสภาฯภายใน 180 วัน
ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 กำหนดให้จำนวนส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งสิ้น 480 คน สำหรับในกรณีที่การเลือกตั้งไปแล้ว แต่ปรากฏว่าได้จำนวน ส.ส.ไม่ครบถึง 480 คน เนื่องจากมีผู้สมัคร ส.ส.ถูกฟ้องร้องหรือถูกปรับให้เป็นโมฆะ แต่มีจำนวน ส.ส.ที่ผ่านการรับรองของ กกต. จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด หรือมีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่า 456 คน รัฐธรรมนูญให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรสามารถดำเนินงานได้ แต่จะต้องรีบจัดการเลือกตั้งซ่อมให้มี ส.ส.ครบจำนวน 480 คน ภายในเวลา 180 วัน

ห้ามถ่ายรูปบัตรที่ลงคะแนนแล้ว
ในศึกเลือกตั้ง ปี 2550 ครั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษกรณีการซื้อสิทธิและขายเสียงไว้ค่อนข้างจะรุนแรง โดยกำหนดให้มีความผิดทั้งผู้ให้เงินและผู้รับเงิน ดังนี้

1.ห้ามรับเงินหรือทรัพย์สินจากผู้สมัคร ส.ส. หรือหัวคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.
กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ใดรับเงินหรือรับทรัพย์สินจากผู้สมัคร ส.ส.หรือหัวคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. จะต้องได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

ยกเว้นในกรณีที่ผู้ที่ได้รับเงินหรือได้รับทรัพย์สินจากผู้สมัคร ส.ส.หรือหัวคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ไปแจ้งความต่อ กกต.จังหวัดหรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2550 จึงจะไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับผู้ที่แจ้งความจนสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดได้จะได้รับสินบนจำนวนไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับ

2.ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง
กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

3.ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด
ในช่วงระยะเวลาก่อนและหลังวันเลือกตั้งห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 18.00น. ของวันที่ 22 ธันวาคม 2550 ไปจนถึงเวลา 24.00น.ของวันที่ 23 ธันวาคม 2550 รวมทั้งในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า คือ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2550 เวลา 18.00 น. ไปจนถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 16 ธันวาคม 2550

4.ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว
กฎหมายได้ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ด้วยเครื่องมือใดๆ เช่น กล้องดิจิตอล หรือโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เป็นต้น

จากที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าทาง กกต.และรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีความพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ-การขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการเลือกตั้งของประเทศไทย

กลยุทธ์การซื้อเสียงในอดีต
แม้ว่าทางราชการจะพยายามแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ-การขายเสียงมาโดยตลอด แต่จะพบได้ว่าในการเลือกตั้งในอดีตก็มักจะมีการซื้อเสียงเกิดขึ้นทุกครั้ง แต่รูปแบบและวิธีการในการซื้อเสียงจะมีวิวัฒนาการที่แตกต่างไปเรื่อยๆ จนข้อกำหนดของกฎหมายอาจจะตามไม่ทัน

สำหรับกลยุทธ์ในการซื้อเสียงแง่มุมต่างๆ ในการเลือกตั้งในอดีตพอสรุปได้ ดังนี้
1.การซื้อเสียงด้วยวิธีเล่นการพนัน โดยหัวคะแนนจะเสนอให้มีการต่อรองระหว่างผู้สมัคร ส.ส.จาก 2 พรรค ซึ่งผู้ที่ซื้อเสียงจะไปรับเป็นเจ้ามือเพื่อให้คนมาแทง โดยเจ้ามือจะตั้งอัตราต่อรองเพื่อให้ ส.ส.ที่ซื้อเสียงได้คะแนนนำ

2.การซื้อเสียงแบบแอบแฝง โดยอาจจะใช้ผู้มีอิทธิพลหรือผู้นำในท้องถิ่นเป็นคนจ่ายเงินแทนให้ ซื้อวิธีการนี้ค่อนข้างจะได้ผล

3.ซื้อเสียงด้วยการจ่ายหนี้แทน โดยหัวคะแนนจะไปสืบว่าคนในกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อคะแนนมีหนี้กี่คน และมีหนี้คนละเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็จะไปตกลงจ่ายหนี้แทนให้ตามจำนวนที่ตกลงกันแล้วให้ลงคะแนนตามที่ต้องการ

4.ซื้อเสียงด้วยยาเสพติดและยาปลุกเซ็กซ์ ในชุมชนแออัดมักจะมีผู้ที่ติดยาเสพติดอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการแจกจ่ายยาเสพติดเพื่อซื้อเสียง ขณะเดียวกันในต่างจังหวัดก็มีการแจกยาปลุกเซ็กซ์สำหรับผู้ที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพื่อซื้อเสียง โดยยาที่ใช้แจกส่วนใหญ่เป็นยาที่นำเข้าจากประเทศจีน

5.ซื้อเสียงด้วยการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ หัวคะแนนจะใช้วิธีขอหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงิน หรือแจกซิมการ์ดโทรศัพท์แบบเติมเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย หัวคะแนนแล้วจะเติมเงินค่าโทรศัพท์ให้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

6.ซื้อเสียงด้วยการเปิดบัญชีเงินฝาก หัวคะแนนเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารให้ แล้วทยอยโอนเงินให้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ผ่านทางตู้เอทีเอ็ม

7.ซื้อเสียงผ่านไดเร็คเซล หัวคะแนนจะใช้วิธีการซื้อเสียงโดยผ่านระบบไดเร็คเซลที่มีการขายสินค้าต่างๆ ซึ่งหัวคะแนนจะใช้วิธีการแจกของแถมให้เป็นพิเศษ หรือแจกสินค้าที่มีมูลค่าสูงให้กับลูกค้าเพื่อเลือก ส.ส.ที่ตกลงกันไว้

8.ซื้อเสียงโดยพาไปท่องเที่ยวชายทะเล หรือขึ้นรถไฟใต้ดินที่กรุงเทพฯ ผู้สมัคร ส.ส. ใช้วิธีการพาประชาชนจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคอีสานและภาคเหนือ ไปท่องเที่ยวชายทะเล หรือนำมาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยจะจัดให้ขึ้นรถไฟใต้ดินเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนจากต่างจังหวัด

9.การซื้อเสียงหน้าหน่วยเลือกตั้ง เป็นวิธีการซื้อเสียง ที่อาจจะไม่ค่อยได้พบเห็นมากนัก
วิธีการซื้อเสียงเลือกตั้งที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนน้อยในกลยุทธ์ที่ผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคนใช้ในการหาคะแนนเสียงในอดีต ซึ่งหลายคนประสบความสำเร็จในการนำตัวเองเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกเจ้าหน้าที่ กกต.จับได้และถูกปรับให้เป็นโมฆะไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน

เม็ดเงินสะพัด : 2.1 หมื่นล้านบาท
สำหรับการแข่งขันของผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ในสนามเลือกตั้งของภาคต่างๆสรุปได้ ดังนี้

1. ภาคอีสาน (จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครพนม)
ภาคอีสานเป็นภาคที่มีตำแหน่ง ส.ส. มากที่สุดถึง 135 ที่นั่ง แต่ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนจำนวน 1 ที่นั่ง โดยมีผู้สมัคร ส.ส.ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุดถึง 1,523 คน

ในด้านการแข่งขันระหว่างผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ กับจำนวนผู้ลงสมัคร ส.ส. พบว่าสนามเลือกตั้งในภาคอีสานเป็นภาคที่มีความเข้มข้นในแข่งขันมากที่สุด โดยมีอัตราของ ส.ส. 1 ตำแหน่งต่อผู้สมัคร 11.28 คน

นอกจากนั้น พรรคการเมืองต่างๆยังพยายามที่จะชิงตำแหน่ง ส.ส. จากภาคอีสานให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าในภาคอีสานจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 8,000 ล้านบาท

2. กรุงเทพมหานคร (กทม.)
พื้นที่ กทม.มีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 36 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจำนวน 1 ที่นั่ง โดยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ลงสมัคร ส.ส. จำนวน 387 คน

สำหรับความเข้มข้นของการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง กทม. โดยเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนที่นั่งของ ส.ส. กับจำนวนผู้สมัคร ส.ส. อยู่ในอัตรา 1 ต่อ 10.75 ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มข้นในการแข่งขันรองจากพื้นที่ในภาคอีสาน

นอกจากนั้น กทม.ยังเป็นที่ตั้งของพรรคการเมือง และเป็นศูนย์กลางของระบบสื่อสารโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทเอเยนซี่ ต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดใน กทม.ประมาณ 3,300 ล้านบาท

3.ภาคใต้ (จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฏร์ธานี)

ภาคใต้เป็นภาคที่มีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 59 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 2 ตำแหน่ง มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 527 คน โดยความเข้มข้นในการแข่งขันอยู่ในอัตรา 1 ต่อ 8.93 ซึ่งถือว่าเป็นภาคที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากบางพรรคการเมืองที่ยังไม่เคยได้รับเลือกตั้งในอดีตมีความต้องการที่จะเข้าไปชิงพื้นที่จากพรรคเก่าให้ได้ ส่งผลทำให้มีผู้สมัคร ส.ส.เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในภาคใต้จะมีอัตราการแข่งขันที่รุนแรงกว่าในภาคเหนือ แต่เนื่องจากประชาชนในภาคใต้มีความตื่นตัวและมีความสนใจกับการเมืองมาก ทำให้มีการใช้เม็ดเงินในการเลือกตั้งน้อยกว่า โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคใต้ประมาณ 2,200 ล้านบาท

4.ภาคเหนือ (จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นคสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์)

ภาคเหนือมีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 75 ที่นั่ง มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 659 คน โดยมีความเข้มข้นในการแข่งขันของผู้สมัคร ส.ส. อยู่ในอัตรา 1 ต่อ 8.79 ซึ่งถือว่าเป็นภาคที่มีการแข่งขันที่ค่อนข้างจะรุนแรง เนื่องจากภาคเหนือเป็นพื้นที่เป้าหมายของหลายพรรคการเมือง เพราะมีที่นั่ง ส.ส. มากถึง 75 ตำแหน่ง ซึ่งมีตำแหน่ง ส.ส. รองจากภาคอีสาน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราความรุนแรงในการแข่งขันของภาคเหนือจะน้อยกว่าใน กทม. แต่คาดว่าปริมาณเม็ดเงินในภาคเหนือจะสูงกว่า กทม. เนื่องจากขนาดของพื้นที่ในการรณรงค์หาเสียงใหญ่กว่าหลายเท่า ทั้งนี้คาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคเหนือประมาณ 3,900 ล้านบาท

5.ภาคกลาง กลุ่ม 1 (จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี)

ในพื้นที่ภาคกลาง กลุ่ม 1 มีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 46 ที่นั่ง มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 403 คน โดยความเข้มข้นในการแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 8.76 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการแข่งขันที่ไม่มากนัก โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคกลาง กลุ่ม 1 ประมาณ 1,800 ล้านบาท

6.ภาคกลาง กลุ่ม 2 (จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ลพบุรี สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอุทัยธานี)

ภาคกลาง กลุ่ม 2 มีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 49 ที่นั่ง มีผู้ลงสมัคร ส.ส. จำนวน 395 คน โดยมีความเข้มข้นในการแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 8.06 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการแข่งขันที่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้สมัคร ส.ส. ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าเก่า หรือเป็นอดีตผู้บริหารการเมืองท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคกลาง กลุ่ม 2 ประมาณ 1,800 ล้านบาท

สรุป
ในศึกเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินเม็ดเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคการเมืองต่างๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในการเลือกตั้งประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เคยประมาณไว้ว่ามีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เข้มงวดกับการใช้เงินในการหาเสียงมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้มีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์แผ่นพับ และแผ่นป้ายโฆษณา ทำให้เม็ดเงินในการเลือกตั้งลดลง

ดังนั้น เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออนาคตของประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยไปเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกันในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้