นางสาว อังคณา ตรีรัตนาทิพย์ หรือ น้องอ้อ นางสาวไทยประจำปี 2550 ร่วมแสดงความห่วงใยในสวัสดิภาพของเด็กเล็กเมื่อต้องเดินทางด้วยการโดยสารรถยนต์ โดยเฉพาะช่วงสภาพการจราจรหนาแน่นในวันหยุดเทศกาลต่างๆ ผ่านโครงการ “คุณหนูปลอดภัยในยานยนต์” พร้อมเปิดเผยข้อมูลแสดงถึงความเข้าใจผิดโดยสารรถยนต์ที่ถูกต้องของบุตรหลาน
ในช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดช่วงหนึ่งในแต่ละปี ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงผู้โดยสารที่เป็นเด็ก แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจคือ มีวิธีที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้โดยสารเด็กในอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ ดังนั้นในช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็กขณะโดยสารรถยนต์เพื่อช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
วิธีการโดยสารรถยนต์ที่ปลอดภัยของเด็กที่มีอายุระหว่าง 0 – 10 ปีนั้น ต้องใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก (Child Seat) ซึ่งติดตั้งไว้ที่เบาะหลังของรถยนต์เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการโดยสารรถยนต์ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก และถ้าหากไม่มีเก้าอี้นิรภัยฯ ต้องให้เด็กโดยสารที่เฉพาะเบาะหลัง ค่อนไปทางใดทางหนึ่ง (ซ้ายหรือขวา) เท่านั้น ห้ามให้ผู้โดยสารเด็กนั่งเก้าอี้ด้านหน้า หรือคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่โดยเด็ดขาด เนื่องจากเด็กอาจได้รับบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัย หรือหลุดลอยออกไปนอกตัวรถได้ เนื่องจากอุปกรณ์นิรภัยที่ออกแบบมากับตัวรถนั้นเหมาะสำหรับสรีระของผู้ใหญ่เท่านั้น อุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถป้องกันผู้โดยสารเด็กซึ่งมีสรีระที่ต่างไปได้และจะเป็นอันตรายต่อเด็กถึงชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
“ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หลายๆ ครอบครัวคงจะมีการวางแผนเดินทางเพื่อพักผ่อนหรือท่องเที่ยวระหว่างวันหยุดเหล่านี้ ดิฉันอยากจะรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่านหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้โดยสารเด็กเล็กในการเดินทางกันมากยิ่งขึ้น” น.ส. อังคณา หรือน้องอ้อ นางสาวไทยปี 2550 กล่าว
“ควรใช้อุปกรณ์นิรภัยที่ออกแบบมาสำหรับเด็ก และปฏิบัติตามข้อแนะนำในการโดยสารอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเด็กมีสรีระที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ และการใช้อุปกรณ์นิรภัยที่ติดมาในรถให้กับเด็กนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงอย่างที่เราคาดไม่ถึง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการมองข้ามความสำคัญของอุปกรณ์นิรภัยสำหรับเด็ก รวมทั้งความไม่เข้าใจในวิธีโดยสารรถยนต์ที่ปลอดภัย เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ทั้งที่เราสามารถป้องกันได้ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ให้มาก เพื่อให้การเดินทางทุกครั้งเป็นการเดินทางแห่งความสุขและความปลอดภัยโดยแท้จริง” น.ส. อังคณา สรุป
จากผลสำรวจของโครงการคุณหนูปลอดภัยในยานยนต์ ในปี 2548 – 2549 ซึ่งจัดทำโดยบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการโดยสารรถยนต์อย่างปลอดภัยสำหรับเด็กอยู่ โดยเกือบร้อยละ 70 เห็นว่าควรคาดเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับรถให้กับเด็ก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากเข็มขัดนิรภัยนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับสรีระของเด็กเล็ก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงไม่สามารถปกป้องเด็กจากการถูกกระแทก หรือจากการหลุดลอยออกนอกตัวรถ และเป็นอันตรายอย่างมากต่อสรีระและชีวิตของเด็กได้ ขณะที่กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงเห็นว่า การให้เด็กเล็กนั่งทางด้านหน้าของรถยนต์เป็นสิ่งที่ทำได้ ทั้งที่ตามหลักการที่ถูกต้องนั้น หากไม่มีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก ผู้ปกครองควรจะให้เด็กเล็กนั่งด้านหลังและค่อนไปทางด้านใดด้านหนึ่งเสมอ ซึ่งข้อปฏิบัติเหล่านี้สามารถช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเด็กหากเกิดอุบัติเหตุได้บ้าง แต่วิธีที่ควรปฏิบัติและปลอดภัยที่สุดนั้น ต้องให้เด็กเล็กนั่งในที่นั่งนิรภัยของเด็กทุกครั้งที่มีการเดินทาง
ผู้ที่สนใจรายละเอียดของการโดยสารรถยนต์อย่างปลอดภัยของเด็กเล็กนั้น สามารถรับฟังรายละเอียดได้จาก หมายเลขโทรศัพท์ สายด่วนคุณหนูปลอดภัยในยานยนต์ได้ที่ 0-2791-4884
โครงการ “คุณหนูปลอดภัยในยานยนต์”โดย เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และ เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย
เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น มีนโยบายหลักประการหนึ่ง ในการเน้นเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์สำหรับเด็ก และได้เริ่มดำเนินกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2540
เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และเชฟโรเลต เซลล์ ประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะสืบทอดนโยบายหลักนี้ จึงได้เริ่มโครงการ “คุณหนูปลอดภัยในยานยนต์” ขึ้นในปี2543 โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กองบังคับการตำรวจจราจร บริษัทฯ หวังว่าโครงการ “คุณหนูปลอดภัยในยานยนต์” นี้จะมีส่วนทำให้เราทุกคนตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ของเด็กมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม
เนื่องจากเด็กมีความต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในระหว่างเดินทางโดยรถยนต์ ในปัจจุบันจึงมีการออกแบบเก้าอี้นั่งสำหรับเด็กสี่แบบด้วยกัน เพื่อให้เหมาะสำหรับเด็กที่มีวัยและน้ำหนักตัวต่างๆ กัน ได้แก่ เปลเด็กอ่อนสำหรับรถยนต์ (infant car bed) สำหรับเด็กแรกเกิด ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหลังรถ (rear-facing infant seat) สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหน้ารถ (forward-facing child seat) สำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี และที่นั่งเสริม (booster seat) สำหรับเด็กอายุ 5-10 ปี