แนวโน้มบัตรเดบิตปี 2551: เร่งปรับคุณภาพผลิตภัณฑ์

การทำธุรกรรมทางการเงินในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การทำธุรกรรมต่างๆ (อาทิ ฝาก ถอน โอนเงิน การชำระค่าสินค้าอุปโภคและบริโภค การชำระค่าบัตรเครดิต เป็นต้น) ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม การทำธุรกรรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) หรือผ่านโทรศัพท์ (Telephone Banking) เป็นต้น ทั้งนี้ตลาดบัตรเดบิต (Debit Card) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินธนาคารพาณิชย์ได้มีการทำตลาดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการทำแคมเปญการตลาดเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต โดยเน้นจุดเด่นของบัตรเดบิตที่มีความแตกต่างจากบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งนอกจากใช้ทำธุรกรรมต่างๆบนเครื่องเอทีเอ็มเหมือนกับบัตรเอทีเอ็มทั่วไปแล้ว (เช่น เบิก/โอนเงินสด และชำระค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น) บัตรเดบิตมีความแตกต่างกับบัตรเอทีเอ็มตรงที่ว่า “ผู้ถือบัตรเดบิตสามารถใช้บัตรชำระค่าสินค้าหรือบริการ ในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ที่รับบัตรเดบิต” ซึ่งเมื่อผู้ซื้อชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเดบิต วงเงินค่าสินค้าหรือบริการจะถูกตัดออกจากบัญชีเงินฝากลูกค้าทันที เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรหันมาการชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเดบิตมากขึ้น ธนาคารพาณิชยังได้มีการทำแคมเปญการตลาด โดยผู้ที่ชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเดบิตสามารถรับส่วนลดในร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้บัตรเดบิตยังสามารถเบิก โอนเงินสด ในวงเงินที่สูงกว่าบัตรเอทีเอ็มทั่วไป และผู้ถือบัตรเดบิตที่เดินทางไปต่างประเทศยังสามารถที่จะเบิกเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มในต่างประเทศได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำแบบสอบถาม ภายใต้หัวข้อ ศึกษาพฤติกรรมการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรการใช้บัตรเดบิต โดยเฉพาะการใช้บัตรเดบิตในการชำระสินค้าหรือบริการ การตอบรับจากการเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้มีความพยายามทำแคมเปญเพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาใช้บัตรเดบิต โดยมีการลดค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตเพื่อจูงใจให้ลูกค้าหันมาถือบัตรเดบิต นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้มีการยกเลิกบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิตเพียงอย่างเดียว แต่ลูกค้าบางกลุ่มยังคงไม่เห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มเป็นบัตรเดบิต สาเหตุเนื่องจากค่าธรรมเนียมของบัตรเดบิตที่สูงกว่าบัตรเอทีเอ็ม และความไม่ปลอดภัยในการถือบัตรเดบิต รวมทั้งลูกค้าอาจมีบัตรเครดิตแล้วจึงไม่จำเป็นต้องใช้บัตรเดบิต เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ ในระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2550 จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 615 ชุด โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ใช้บริการบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต โดยกระจายไปตามห้างสรรพสินค้าและตามสถานที่ทำงานทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร

ประเด็นสำคัญจากการสำรวจพฤติกรรมการศึกษาพฤติกรรมการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า

ทั้งนี้จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ถือบัตรเอทีเอ็มเพียงประเภทเดียว คิดเป็น 53% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ผู้ถือบัตรเดบิตประเภทเดียวคิดเป็น 16.4% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และผู้ที่ถือทั้งบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตคิดเป็น 30.6% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เมื่อสอบถามถึงความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มพบว่า ผู้ที่ตอบแบบสอบถามรู้ถึงความความแตกต่างระหว่างบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มกว่า 81.9% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่น้อยถึง18.1% ตอบว่า ไม่ทราบถึงความแตกต่างระหว่างบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต

การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต…ยังคงไม่เป็นที่แพร่หลาย

ทั้งนี้คุณสมบัติเด่นของบัตรเดบิต คือ สามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการตามห้างสรรพสินค้า ร้านที่รับบัตรเดบิต ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ที่บัตรเครดิตจะรับชำระผ่านบัตรเดบิตเช่นกัน อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตยังคงไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมากนัก โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในปี 2549 มีประมาณ 32.0 พันล้านบาท จากจำนวนบัตรเดบิตที่มีประมาณ 13,952,784 บัตร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สอบถามถึงการรับรู้ของผู้ถือบัตรเดบิตว่าสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ พบว่า ผู้ถือบัตรเดบิตทราบว่าบัตรเดบิตสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้คิดเป็น 86.3% ของกลุ่มตัวอย่าง และผู้ถือบัตรเดบิตไม่ทราบว่าบัตรเดบิตสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้คิดเป็น 13.7% ของกลุ่มตัวอย่าง สำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้บัตรเดบิตในการชำระสินค้าหรือบริการ คิดเป็น 61.7% ของผู้ที่ถือบัตรเดบิต

สำหรับผู้ที่เคยใช้บัตรเดบิตในการชำระสินค้าหรือบริการคิดเป็น 38.3% ของผู้ที่ถือบัตรเดบิต สำหรับการใช้บัตรเดบิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเห็นว่าบัตรเดบิตอำนวยความสะดวก เนื่องจากไม่ต้องพกพาเงินสดเป็นจำนวนมาก คิดเป็น 58.1% ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ สาเหตุรองลงมา คือ มีเงินสดในการซื้อสินค้าไม่เพียงพอคิดเป็น 30.3% ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ และใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ เพราะได้รับส่วนลด คิดเป็น 11.6% ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ

ปัญหาการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต…อุปสรรคต่อการขยายตัว

จากการสำรวจถึงประสบการณ์การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต พบว่า ผู้ที่ใช้บัตรเดบิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการไม่เคยประสบปัญหา คิดเป็น 58.9% ของกลุ่มตัวอย่าง อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยประสบปัญหาจากการใช้บัตรเดบิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการก็มีจำนวนไม่น้อย โดยคิดเป็น 41.1% ของกลุ่มตัวอย่าง

สาเหตุที่พบโดยส่วนใหญ่มาจาก ร้านค้ารับบัตรเดบิตมีน้อย คิดเป็น 48.7% ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ร้านค้าแนะนำให้ใช้เงินสดชำระแทนบัตรเดบิต เช่น ที่ร้านมีการกำหนดยอดการใช้บัตรขั้นต่ำ หรือ ที่ร้านเลือกที่จะรับเงินสดมากกว่าใช้บัตร เป็นต้น คิดเป็น 32.9% ของกลุ่มตัวอย่าง และเครื่องรูดบัตรที่ร้านมีปัญหา คิดเป็น 18.4% ของกลุ่มตัวอย่าง

เมื่อสอบถามถึงการกลับมาใช้บริการของกลุ่มตัวอย่างหลังจากที่เคยประสบปัญหาการใช้บัตรเดบิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ พบว่า ผู้ที่ยังคงใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการ คิดเป็น 65.3% ของกลุ่มตัวอย่าง อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงความถี่ในการใช้หลังประสบปัญหา พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงใช้อยู่บ้างแต่ไม่บ่อย คิดเป็น 32.5% ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ใช้เมื่อจำเป็น เช่น มีเงินสดไม่พอ คิดเป็น 29.8% ของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ใช้เวลามีโปรโมชั่น คิดเป็น 19.5% ของกลุ่มตัวอย่าง และสำหรับการใช้ทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้า หรือบริการในร้านที่รับบัตร คิดเป็น 18.2% ของกลุ่มตัวอย่าง

สำหรับผู้ที่ไม่กลับมาใช้บัตรเดบิตในการชำระค่าสินค้าและบริการ คิดเป็น 34.7% ของกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยากในการแก้ไขปัญหา คิดเป็น 50.1% ของกลุ่มตัวอย่าง การแก้ไขปัญหาระหว่างร้านค้าและธนาคารล่าช้า คิดเป็น 33.3 % ของกลุ่มตัวอย่าง และเงินถูกตัดออกจากบัญชีโดยตรงทำให้เกิดปัญหา คิดเป็น 16.6 % ของกลุ่มตัวอย่าง

บัตรเดบิต VS บัตรเครดิต

วิวัฒนาการทางการเงินที่เกิดขึ้นมาช้านานในการใช้บัตรพลาสติกเพียงใบเดียวสามารถทำธุรกรรมต่างๆได้ รวมถึงการชำระค่าสินค้าหรือบริการตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้า มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ บัตรเดบิต เป็นบัตรที่ถูกนำมาแทนที่บัตรเอทีเอ็ม ซึ่งสามารถใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการตามร้านค้าที่รับบัตรเดบิต โดยมูลค่าของสินค้าจะถูกตัดจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าทันที สำหรับบัตรเครดิต เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทหนึ่ง ผู้ที่จะสมัครบัตรเครดิตได้ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ทางธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อ เพื่อสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ไม่เกินวงเงินที่ได้อนุมัติ โดยผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสดจนกว่าทางธนาคารจะมีใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต ทั้งนี้ผู้ใช้บริการบัตรเครดิตสามารถเลือกที่จะชำระเต็มจำนวน หรือผ่อนชำระได้ (ชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดคงค้าง) แต่ยอดคงค้างจะถูกคิดดอกเบี้ยที่ 20% ต่อปี ในรอบบัญชีถัดไป

ทั้งนี้เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่มีทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตถึงวิธีการชำระค่าสินค้าและบริการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เลือกใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการ คิดเป็น 70.1% ของกลุ่มตัวอย่าง (โดยเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไป) สำหรับการใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ คิดเป็น 29.9% ของกลุ่มตัวอย่าง

ทั้งนี้สาเหตุที่การชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเดบิตไม่เป็นที่แพร่หลายอันดับแรก คือ ไม่มีความจำเป็น เพราะใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าและบริการ คิดเป็น 30.3% ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ไม่สะดวก เนื่องจากมีการตัดเงินออกจากบัญชีโดยตรง คิดเป็น 28.0% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งต่างจากบัตรเครดิตนั้นจะมีระยะเวลาตามรอบบัญชีเรียกเก็บ เช่น 45 วัน หรือ 55 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยัง พบว่า ผู้ถือบัตรเดบิตไม่กล้าใช้เนื่องจากกลัวข้อผิดพลาดเกิดขึ้น คิดเป็น 19.4.0% ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ปลอดภัย คิดเป็น 11.8% ของกลุ่มตัวอย่าง และไม่มีสิ่งจูงใจให้ใช้เหมือนบัตรเครดิต คิดเป็น 10.5% ของกลุ่มตัวอย่าง ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการทำแคมเปญการตลาด เพิ่มสิทธิประโยชน์ในตัวบัตรเดบิต เช่น ใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ที่เป็นพันธมิตรก็ตาม แต่สิทธิประโยชน์นั้นยังคงมีไม่มากเท่ากับการใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องมาจากแหล่งรายได้ของบัตรทั้ง 2 ประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งรายได้จากบัตรเดบิตค่อนข้างจำกัด โดยส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบัตรรายปี และค่าธรรมเนียมจากร้านค้าที่รับบัตร ทำให้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้บัตรเดบิตให้หลากหลายอย่างบัตรเครดิตค่อนข้างจำกัด

แนวโน้มบัตรเดบิตปี 2551 : อุปสรรคการขยายตัว …เร่งปรับคุณภาพผลิตภัณฑ์

ในช่วงที่ผ่านมาการทำการตลาดบัตรเดบิตของธนาคารพาณิชย์ มีการใช้กลยุทธ์เชิงรุกอย่างหนัก เพื่อขยายฐานบัตรเดบิต แต่เนื่องจากค่าธรรมเนียมของบัตรเดบิตนั้นสูงกว่าบัตรเอทีเอ็ม ธนาคารจึงใช้กลยุทธ์ลดค่าธรรมเนียมในการทำบัตรในปีแรกให้เท่ากับบัตรเอทีเอ็ม หรือการฟรีค่าธรรมเนียมปีแรกสำหรับผู้ที่เปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต และธนาคารบางแห่งได้มีนโยบายยกเลิกบัตรเอทีเอ็ม โดยเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิตแทน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจถึงความคิดเห็นของกลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรเอทีเอ็มว่า คิดอย่างไรหากธนาคารพาณิชย์ให้เปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต โดยส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ต้องการเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มเป็นบัตรเดบิต คิดเป็น 76.1% ของกลุ่มตัวอย่าง สาเหตุส่วนใหญ่มองว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ คิดเป็น 48% ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ไม่ต้องการเปลี่ยนเนื่องจากค่าธรรมเนียมแพง คิดเป็น 21.6% ของกลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าบัตรเดบิตนั้นไม่มีความปลอดภัย คิดเป็น 15.7% ของกลุ่มตัวอย่าง และมีบัตรเครดิตอยู่แล้ว คิดเป็น 48% ของกลุ่มตัวอย่าง

สำหรับผู้ที่คิดว่าจะเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มเป็นบัตรเดบิต คิดเป็น 23.9% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เนื่องจากบัตรเดบิตสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ คิดเป็น 74.2% ของกลุ่มตัวอย่าง และสามารถโอนเงินได้ในวงเงินที่สูงคิดเป็น 25.8% ของกลุ่มตัวอย่าง

ทั้งนี้จำนวนบัตรเดบิตน่าจะยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนบัตรเดบิตในปี 2551 คาดว่าจะมีประมาณ 22.75 ล้านบัตร ขยายตัว 24% ซึ่งจะชะลอลงจากที่ขยายตัว 31% ในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีบัตรเดบิตประมาณ 18.35 ล้านบัตร สาเหตุน่าจะมาจากการเร่งทำแคมเปญขยายฐานบัตรเดบิต การผลักดันให้ลูกค้าเก่าเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต โดยการยกเลิกออกบัตรเอทีเอ็มและเปลี่ยนมาเป็นบัตรเดบิตแทน

สำหรับแนวโน้มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในปี 2551 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะมีประมาณ 44.9 พันล้านบาท ขยายตัว 19.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 17.2% ในปี 2550 ที่น่าจะมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต 37.5 พันล้านบาท สาเหตุน่าจะมาจากการทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวการใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่
 ลูกค้าที่มีบัตรเครดิตส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากกว่า
ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าที่สามารถทำบัตรเครดิตได้จะต้องเป็นกลุ่มที่มีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน 15,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งลูกค้ากลุ่มที่ถือบัตรเครดิตเลือกที่จะชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิต โดยเฉพาะการแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตที่มีความรุนแรง ระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ และกลุ่ม Non-Bank ซึ่งทำให้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตมากกว่า ได้แก่
– ใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการ ที่มีจำนวนร้านค้าที่เป็นพันธมิตรมากกว่า
– สามารถผ่อนชำระสินค้าโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% เป็นระยะเวลา 12 เดือน
– บางครั้งสามารถรับเงินคืนเข้าบัญชี (Cash Back) หากชำระด้วยบัตรเครดิต
– สามารถสะสมคะแนนแลกของรางวัลได้ เป็นต้น

นอกจากนี้การชำระด้วยบัตรเครดิตนั้น ผู้ซื้อยังไม่ต้องชำระเงินจนกว่าจะมีใบแจ้งยอดบัญชีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจากธนาคาร ซึ่งหากชำระเต็มจำนวนก็จะไม่ถูกคิดดอกเบี้ย (อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต 20% ต่อปี)

ลูกค้าไม่สะดวกให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากทันที จากเหตุผลเรื่องสภาพคล่อง และความกังวลในเรื่องความปลอดภัย เมื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเดบิต ระบบจะทำการหักเงินค่าใช้จ่ายจากบัญชีเงินฝากโดยทันที ซึ่งหากระบบเกิดความผิดพลาดระหว่างการทำธุรกรรม ทำให้เงินถูกหักออกจากบัญชีไปทันที นอกจากนี้หากบัตรถูกขโมย ผู้ถือบัตรจำเป็นต้องรีบแจ้งธนาคารทันที เนื่องจากผู้ขโมยบัตรสามารถนำบัตรไปใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ทันที (ถึงแม้ว่าต้องมีการเซ็นชื่อที่ใบเสร็จ) ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้ถือบัตรเดบิต

ร้านค้าที่รับบัตรเดบิตไม่หลากหลาย และการกำหนดขั้นต่ำการชำระด้วยบัตรเดบิต ทั้งนี้ร้านค้าทั่วไปบางร้าน มีการกำหนดขั้นต่ำเมื่อชำระสินค้าด้วยบัตรเดบิต เนื่องจากทางร้านค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่สถาบันการเงิน นอกจากนี้ร้านค้าทั่วไปเลือกที่จะให้ลูกค้าชำระสินค้าด้วยเงินสดหรือบัตรเครดิต เนื่องจากขั้นตอนการแก้ปัญหาหากเกิดข้อผิดพลาดในการชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเดบิต ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตยังคงไม่ขยายตัวมากนัก
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินนโยบายการตลาดของธุรกิจบัตรเดบิตในไทยเริ่มมีมากขึ้น และมีแนวโน้นที่จะขยายตัวสูงขึ้นหากมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เนื่องจากในขณะนี้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตของไทยยังคงมีไม่มากเหมือนบางประเทศ เช่น ยุโรป และอเมริกา เป็นต้น ที่มีการใช้บัตรเดบิตในการใช้จ่ายสินค้าแทนเงินสด คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสด และบัตรเครดิต และใช้บัตรเพื่อถอนเงินสดจากเอทีเอ็มมากกว่าใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของบัตรเดบิตน่าจะเป็น การขยายฐานบัตรใหม่แบบเจาะกลุ่มลูกค้า (Segmentation Marketing)
กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตให้มากขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ไม่นิยมใช้บัตรเครดิต ซึ่งกลุ่มลูกค้าลูกค้าที่ยังคงชำระสินค้าด้วยเงินสดเพราะไม่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากไม่ต้องการมีภาระผูกพันในการที่จะต้องมาผ่อนชำระภายหลัง ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้บางส่วนก็มีการถือบัตรเดบิตอยู่ในมือ
กลุ่มเป้าหมายที่น่าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มคนเพิ่งเริ่มทำงาน เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้กับธนาคารในอนาคต ทั้งนี้การปลูกฝังให้ลูกค้ากลุ่มนี้เคยชินกับการใช้บัตรเดบิตแทนการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเงินสด ในอนาคตทางธนาคารสามารถที่จะขยายธุรกิจอื่น คือบัตรเครดิตหรือสินเชื่อประเภทต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบันไดค่อยๆ ขึ้นไป เพราะทางธนาคารจะมีข้อมูลหรือ Data Base อยู่ในมือแล้ว
ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบัตรเดบิตในอนาคต คงที่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการส่งเสริมด้านการตลาดเป็นหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า

การสร้างภาพลักษณ์ของบัตรเดบิตให้มากขึ้น เช่น ความสะดวกสบายในการพกพาเป็นบัตรเดียวที่ใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ โดยสามารถหักโดยตรงจากบัญชีเงินฝาก จึงสามารถควบคุมรายจ่ายได้ด้วยตนเองและยังใช้เบิกเงินได้

การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยมีกิจกรรมทางการตลาดกับร้านค้าเพิ่มมากขึ้น อาทิ ใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า การสะสมคะแนนแลกของรางวัล เพื่อจูงใจให้ลูกค้ารู้สึกได้รับสิทธิประโยชน์ในการใช้จ่ายผ่านบัตร เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้หันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต นอกจากนี้ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับสูง ก็อาจมีส่วนส่งเสริมพฤติกรรมของลูกค้าลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และหันมาให้ความสนใจต่อบัตรเดบิตมากขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน

ขยายเครือข่ายร้านค้าที่รับบัตรเดบิต โดยเฉพาะการขยายร้านค้ารับบัตรเดบิตเพื่อให้ครอบคลุม ซึ่งผู้ประกอบการรายใดสามารถขยายฐานร้านค้ารับบัตรได้มาก ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการเช่นกัน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบัตรเครดิตควรเร่งหาข้อสรุป ในเรื่องของการที่ร้านค้าบางแห่ง โดยเฉพาะร้านค้าที่มีขนาดเล็กมักจะผลักภาระค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ที่ซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิต ด้วยสาเหตุนี้การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตตามร้านเหล่านี้จึงมีจำนวนที่น้อย

บทสรุปและความคิดเห็น

ตั้งแต่ต้นปี 2550 ผ่านมา การดำเนินนโยบายการตลาดของธุรกิจบัตรเดบิตในไทยเริ่มมีมากขึ้น และมีแนวโน้นที่จะขยายตัวสูงขึ้นหากมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนบัตรเดบิตในปี 2551 คาดว่าจะมีประมาณ 22.75 ล้านบัตร ขยายตัว 24% ซึ่งจะชะลอลงจากที่ขยายตัว 31% ในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีบัตรเดบิตประมาณ 18.35 ล้านบัตร สาเหตุอาจจะมาจากการเร่งทำแคมเปญขยายฐานบัตรเดบิต การผลักดันให้ลูกค้าเก่าเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต โดยการยกเลิกออกบัตรเอทีเอ็มเปลี่ยนมาเป็นบัตรเดบิตแทน

สำหรับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตยังคงสามารถที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต แต่ต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกระตุ้นปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยการเสนอจุดเด่นของการใช้บัตรเดบิตที่ว่าลูกค้าไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่จะต้องมาชำระเงินภายหลังและไม่ต้องกังวลกับหนี้คงค้างและเสียดอกเบี้ยอีกด้วย การเสนอรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 20% ต่อปี ก็อาจมีส่วนส่งเสริมพฤติกรรมของลูกค้าลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และหันมาให้ความสนใจต่อบัตรเดบิตมากขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน ทั้งนี้แนวโน้มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในปี 2551 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีประมาณ 44.9 พันล้านบาท ขยายตัว 19.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 17.2% ในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต 37.5 พันล้านบาท สาเหตุมาจากการทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า

ธุรกิจบัตรเดบิตเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่สถาบันการเงิน โดยมาจากค่าธรรมเนียมทั้งจากกลุ่มลูกค้า และผู้ประกอบการร้านค้า จำนวนผู้ถือบัตรเดบิตในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์การตลาดของธนาคารพาณิชย์ เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตในปีแรก การลดค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตเท่ากับบัตรเอทีเอ็มในปีแรก และการยกเลิกบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิตแทน

จากผลสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มมาเป็นบัตรเดบิต และไม่นิยมใช้บัตรเดบิตเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ อุปสรรคที่เป็นผลต่อการขยายตัวของบัตรเดบิต ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่มีบัตรเครดิตส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้บริการบัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตมากกว่าบัตรเดบิต ปัญหาความกังวลด้านสภาพคล่อง เนื่องจากบัตรเดบิตจะถูกตัดเงินออกจากบัญชีทันทีเมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ความกังวลถึงข้อผิดพลาดจากการใช้บัตรเดบิตและความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในกรณีที่บัตรถูกขโมยและถูกนำไปซื้อสินค้าและค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตที่สูงกว่าบัตรเอทีเอ็ม เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า บัตรเดบิตไม่ได้เพียงแต่มีคู่แข่งทางธุรกิจอย่างบัตรเครดิตเท่านั้น แต่บัตรเงินสด และนวัตกรรมระบบการชำระค่าสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ เช่น โทรศัพท์เป็นเสมือนกระเป๋าเงิน Mobile Payment ที่น่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของบัตรเดบิต โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงควรเร่งพัฒนาและปรับปรุงคุณสมบัติของบัตรเดบิตให้ดีขึ้น เช่น

สร้างระบบความปลอดภัยในการใช้บัตรเดบิต สาเหตุส่วนหนึ่งที่บัตรเดบิตไม่เป็นที่แพร่หลายในการใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ คือ ความปลอดภัย ที่มีความเสี่ยงสูงมากเมื่อเทียบกับบัตรเครดิต บัตรเงินสด หรือ การชำระค่าสินค้า ในรูปแบบ Mobile Payment (วงเงินในบัตรเงินสด หรือในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมูลค่าจำกัด) ในกรณีที่บัตรถูกขโมยไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ เงินจะถูกหักออกจากบัญชีทันที ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกบัตรเดบิตควรพัฒนาระบบที่รักษาความปลอดภัย เช่น ระบบการกดรหัส (Pin Number) เช่น ที่ใช้ในต่างประเทศ เมื่อลูกค้าต้องการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเดบิต จะต้องกดรหัสของตนเอง (Pin Number) ระบบจะทำการตรวจสอบไปยังแหล่งข้อมูลของธนาคารและอนุมัติการทำธุรกรรม

ปรับปรุงระบบการตรวจสอบแก้ไขเมื่อเกิดข้อผิดพลาดจากการทำธุรกรรมให้รวดเร็วขึ้น โดยเมื่อมีธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ธนาคารพาณิชย์ควรจะต้องสามารถตรวจสอบและแก้ไขให้ลูกค้าได้ในเวลาอันรวดเร็วและไม่มีความผิดพลาด เพื่อสร้างความเชื่อใจในการใช้บัตรเดบิตของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ในระยะยาว เพราะหากเกิดความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวก็อาจจะทำให้ผู้ใช้บัตรเดบิตไม่กลับมาใช้อีก

การปรับลดค่าธรรมเนียมของบัตรเดบิตลง เพื่อจูงใจให้ลูกค้าหันมาถือบัตรเดบิตมากขึ้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันลูกค้าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นหรือคุ้นเคยในการใช้บัตรเดบิตเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ แต่ในภายหน้าลูกค้าเหล่านี้อาจเริ่มมีความเคยชินกับระบบการเงินแบบใหม่ จึงอาจจะเริ่มมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากขึ้น

เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับร้านค้า ทั้งนี้ร้านค้าที่รับบัตรเดบิตมีไม่แพร่หลายนัก อาจเป็นเพราะมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้า จึงนำไปสู่การปฎิเสธการรับบัตรเครดิตในร้านค้าบางราย โดยเฉพาะขนาดกลางถึงเล็ก ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงควรมีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีแก่ร้านค้า