แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2551…ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ในปี 2551 ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย อาจต้องเผชิญกับโจทย์ในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งจากประเด็นทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ อาทิ การชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และจากประเด็นทางเศรษฐกิจภายใน ซึ่งเป็นภาระกิจหลักของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการเร่งฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนการเร่งผลักดันรายจ่ายงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมประเด็นแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ไว้ดังนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
 ความชัดเจนมากขึ้นของ “ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ” ของสหรัฐฯ

ภาวะชะลอตัวลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ พร้อมๆ กับภาวะตึงตัวในตลาดระดมทุนระยะสั้น มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อจำนองที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ซับไพร์ม กำลังส่งผลกระทบออกเป็นวงกว้างต่อภาคการผลิตอื่นๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยสัญญาณการชะลอตัวออกไปเป็นวงกว้างเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นสะท้อนได้จากแนวโน้มที่ไม่สดใสในภาคการผลิต การถดถอยลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค พร้อมๆ กับความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงของตลาดที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะซบเซาลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นไม่มากก็น้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ต่อปี (Annualized quarter-on-quarter percentage changes) ในไตรมาสที่ 4/2550 และมีความเป็นไปได้สูงมากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงภาวะถดถอย (Recession) พร้อมๆ กับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation (ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพุ่งขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ) ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2551 เนื่องจากระดับราคาสินค้าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วร้อยละ 1 ในการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา (เดือนกันยายน ตุลาคม และธันวาคม 2550) จากระดับร้อยละ 5.25 สู่ระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 4.25 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องต่อไปในช่วงต้นปี 2551 โดยเฟดอาจทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง รวมอย่างน้อยร้อยละ 0.50 ในการประชุมช่วงครึ่งแรกของปี 2551 สู่ระดับร้อยละ 3.75 เพื่อลดผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและภาวะตลาดสินเชื่อที่ตึงตัว และหลังจากนั้นเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนั้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เพื่อประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไป

 แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ
 เศรษฐกิจยูโรโซน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องมาจากความปั่นป่วนที่กำลังส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินยูโรอย่างน้อยในระยะสั้น อาจเพิ่มภาระให้แก่เศรษฐกิจยุโรปด้วยอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของระดับราคา ในขณะที่แรงกดดันจากการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานอาจเพิ่มสูงขึ้นในปี 2551 เนื่องจากตลาดแรงงานของยูโรโซนกำลังตกอยู่ในสภาพตึงตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะยืนระดับอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4 (สูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา) ในปัจจุบันต่อไปในปี 2551 เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงคุมเข้ม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซนกำลังเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลง ในขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อกำลังก่อตัวขึ้น ดังนั้นการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพของระดับราคาอาจไม่ใช้การตัดสินใจที่ง่ายนักเพราะนั่นอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจยูโรโซนให้ย่ำแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2551 มีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่องจากในปี 2550 โดยถูกกดดันจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ ความไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินโลก การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ตลอดจนทิศทางการแข็งค่าของเงินเยนจากการระบายการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลก ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ร่วมกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งยังคงมีปัจจัยลบจากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซา โดยเฉพาะการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อประกอบภาพของความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เข้ากับความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังไม่มีน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากนัก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อไปในปี 2551 เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ แรงกดดันของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้น อาจเริ่มมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เมื่ออุปสงค์ภายในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น
 เศรษฐกิจจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะรักษาอัตราการขยายตัวในระดับสูง (ตัวเลขสองหลัก) ไว้ได้ต่อเนื่อง ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ต่อไปในปี 2551 ซึ่งก็จะทำให้แนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนในปี 2551 ยังคงเป็นไปในเชิงคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และสกัดการพุ่งขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่แนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนจะไม่คุมเข้มจนเกินไป และเป็นไปในแนวทางที่ถูกควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากทางการเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในทุกๆ ภาคการผลิตให้สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กัน และเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสของการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ตลอดจนเพื่อลดกระแสการเก็งกำไรเงินหยวน

 เศรษฐกิจอินเดีย และเวียดนาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2551 เศรษฐกิจอินเดียและเวียดนามยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตในระดับสูงไว้ได้ต่อเนื่อง เนื่องจากอินเดียและเวียดนามยังคงมีศักยภาพที่เอื้อต่อการขยายตัวของภาคการผลิต และดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก
นอกเหนือไปจาก ความเสียหายที่เกิดจากพายุที่มีต่อแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ ปัญหาขัดข้องด้านอุปทานจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนความกังวลที่ว่า อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกอยู่สูงกว่าอัตราการเติบโตของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ จะเป็นปัจจัยหนุนราคาพลังงานให้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้แล้ว กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ได้ส่งผลข้างเคียงให้เกิดกระแสการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงแล้วร้อยละ 7.3 ในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2550) ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ทะยานขึ้นมากกว่าร้อยละ 54 (ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2550) และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง (ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX ปรับตัวขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 99.29 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550) หลังจากเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคม 2550 แม้ว่ากระแสการลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์ของนักเก็งกำไร และกองทุน Hedge Funds ได้เพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด แต่ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันแกว่งตัวอย่างผันผวน และบิดเบือนไปจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดอย่างแท้จริง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัวจะส่งผลกดดันให้แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 และสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงผ่อนคลายต่อไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้น มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อไป ทั้งนี้ ความแตกต่างของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนแนวโน้มการปรับลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุนและธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงในระยะถัดไป ซึ่งนั่นอาจเป็นนัยว่า ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกก็จะยังคงเป็นขาขึ้น หรือยังคงสามารถยืนระดับอยู่ในระดับสูงต่อไปในปี 2551

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก…นัยต่อเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2551 ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย อาจต้องเผชิญกับโจทย์ในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจหมายความรวมถึง แนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการทรงตัวในระดับสูงของต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาน้ำมันในระดับสูง
จากภาพประกอบด้านล่าง จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูง และมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยจะมีการปรับตัวรับกับต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และอ่อนไหวต่อแรงเก็งกำไรตลอดจนปัญหาขาดแคลนด้านอุปทาน (ในขณะที่การใช้พลังงานของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก) จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและต้องจับตาต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 เศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง
นอกจากจะมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันในระดับสูงแล้ว เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากกว่าบางประเทศในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย จากภาพประกอบด้างล่าง สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าจีนจะมีสัดส่วนของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (รวมการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังประเทศที่สามเพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีจุดหมายปลายทางคือตลาดสหรัฐฯ) อยู่ในระดับที่สูงมากถึงประมาณร้อยะ 31.2 ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และอินเดีย ก็มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มากกว่าร้อยละ 25 ในขณะที่ การส่งออกของไทยพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 24.7 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกต่อจีดีพีของไทยมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 62 ในขณะที่ สัดส่วนการส่งออกของจีนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 34 เท่านั้น ดังนั้นเมื่อทำการพิจารณาผลกระทบของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแล้ว จะพบว่า การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ นั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเศรษฐกิจของจีน นั่นก็เป็นนัยว่า ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้ส่งออกไทยได้มีการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ แล้วก็ตาม

และเมื่อประกอบภาพของแนวโน้มการชะลอตัวลงของภาคส่งออกอันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลัก และการอ่อนแอลงของเงินดอลลาร์ฯ ในระถัดไปเข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นว่า ภาคส่งออกของไทยอาจกำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในปี 2551 ในขณะที่ ข้อมูลของธปท.ยังสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ยังคงรับชำระค่าสินค้าเป็นรูปเงินดอลลาร์ฯ ถึงประมาณร้อยละ 70-80 ของการส่งออกโดยรวม แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 82 ในปี 2549 และจากร้อยละ 90 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ดังนั้น แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ยังอาจบั่นทอนรายได้ของภาคส่งออกในรูปเงินบาทอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 ผลกระทบจากการพึ่งพาน้ำมันและการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ
ภาพประกอบด้านล่างสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยและเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันและการชะลอลงของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

หากประกอบภาพของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกันกับประเด็นทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 นั้น อาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งปัจจัยภายนอก อาทิ แนวโน้มการชะลอตัวของภาคส่งออกตามการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ตามกระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัจจัยภายใน อาทิ การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ตลอดจนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการภาครัฐหลังการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้กลับมาเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 อาจเป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้น้ำหนักความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็จะหมายความว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินนโยบายการเงินไปในแนวทางที่เสริมสร้างเสถียรภาพของราคาเป็นสำคัญ

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นโยบายการเงินอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เด่นชัดมากนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ดังนั้นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจึงมุ่งประเด็นไปยังนโยบายการคลังของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า รัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยมีการขาดดุลงบประมาณ(ในปี 2551) ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2550 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แม้ว่ามาตรการผ่อนคลายทางการคลังจะเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2551 ที่ต้องการแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศ ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของภาคส่งออก แต่ก็มีประเด็นที่ต้องพึงระวัง 2 ประการ คือ ประการแรก การขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องคำนึงการรักษากรอบวินัยทางการคลังที่กระทรวงการคลังกำหนด และประการที่สอง รัฐบาลควรจะตระหนักว่า แนวทางการขาดดุลงบประมาณนั้น แม้จะมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุน) ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาระกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐ ก็คือ ภาครัฐต้องมีบทบาทในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อช่วยให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนกลับคืนมาเป็นตัวจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง