สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทย … มีแนวโน้มลดลงต่อในปี 2551

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งในที่นี้วัดจากผลรวมของเงินสด ยอดการให้กู้สุทธิในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารหรืออินเตอร์แบงก์ และยอดการให้กู้สุทธิในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) มีจำนวนลดลงราว 5.74 หมื่นล้านบาท จาก 7.36 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ 6.79 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550 สอดคล้องกันกับฐานะเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ผลต่างของยอดคงค้างเงินฝากและยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อสุทธิมีจำนวนลดลงจาก 1.03 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ประมาณ 9.23 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550

ทั้งนี้ ในรอบปี 2550 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจการเงินตาม การเกินดุลการชำระเงิน ที่มียอดเกินดุลจำนวน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี อันเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ กอปรกับ ปัจจัยที่ดึงสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทยผ่านความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือน ก็ไม่ได้ขยายตัวร้อนแรง เนื่องจากถูกจำกัดจาก การชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สินเชื่อดี (Core Performing Loans) อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.4-6.3 ในปี 2550 เทียบกับที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.2 ในปี 2549 หรือหากคิดในรูปของฐานสินเชื่อรวม (Total Loans) คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5-5.3 ในปี 2550 เทียบกับร้อยละ 4.6 ในปี 2549

กระนั้นก็ดี โดยสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยยังปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นเพราะทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี ได้ส่งผลให้ประชาชนมี การโยกย้ายเงินฝากออกไปลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ กองทุนรวมต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ และทองคำ เป็นต้น ที่อาจจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ท้ายที่สุดแล้ว ส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากชะลอตัวลงเช่นกัน

อนึ่ง แม้ว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยจะลดลง แต่ปริมาณสภาพคล่องโดยรวมที่มีอยู่ 6.79 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550 ก็ยังนับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงและน่าจะมากพอสำหรับรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม หากจำแนกเป็นรายกลุ่มธนาคารพาณิชย์แล้ว จะพบว่า ธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ 3 แห่ง (ธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย) ครองสัดส่วนหลักของการเพิ่มขึ้นทั้งในยอดเงินฝากและเงินให้สินเชื่อสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยอีก 11 แห่งที่เหลือ มียอดเงินฝากและเงินให้สินเชื่อสุทธิที่ลดลงจากสิ้นปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่า สถานะสภาพคล่องมีความไม่เท่าเทียมกันในระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย โดยมีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มธนาคารเอกชนขนาดใหญ่เป็นหลักมากกว่าธนาคารที่เหลืออื่นๆ นั่นอาจเป็นเหตุผลหรือที่มาของการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษระยะต่างๆ รวมถึงการเสนอขายตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) ที่อัตราดอกเบี้ยในระดับที่จูงใจกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเงินฝากของตนไว้

แนวโน้มสภาพคล่องในปี 2551
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยที่อาจจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2551 คงจะมาจากการที่ สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดน้อยถอยลง อันเป็นผลจากการคาดการณ์การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงจากปี 2550 ในขณะที่ฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิยังมีความไม่แน่นอนหรืออาจผันผวนขึ้นอยู่กับความเสียหายของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐฯ และแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้ง การที่รัฐบาลชุดใหม่อาจมีแนวโน้มดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลสูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจน การดูแลสมดุลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คงจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงสินเชื่อและเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์เอง อาจเป็นอีกปัจจัยหลักที่มีผลต่อสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่คาดว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ภายในไตรมาสแรกของปี 2551 การกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งนำโดยการใช้จ่ายของภาครัฐ อาจสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและเพิ่มการใช้จ่ายและลงทุนตามมา ซึ่งอาจทำให้ อัตราการขยายตัวของสินเชื่อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะเดียวกัน ความสนใจลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ นอกจากการฝากเงินไว้ที่ธนาคาร ซึ่งอาจยังให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก อาจจะนำมาสู่การโยกย้ายเงินฝากออกจากระบบธนาคารไปยังสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรภาครัฐ กองทุนรวม หุ้น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่คาดว่าอาจจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2551 โดยสรุปมีดังนี้

สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง

การคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยอาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากร้อยละ 18.5 ในปี 2550 มาที่ร้อยละ 5.0-12.0 ในปี 2551 อันเป็นผลจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกในปี 2551 ทั้งสหรัฐฯ กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักที่อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนการเปรียบเทียบกับฐานตัวเลขการส่งออกที่สูงในปี 2550 ในขณะที่ การนำเข้าอาจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 ในปี 2550 มาที่ร้อยละ 7.0-15.0 ในปี 2551 ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน หลังจากที่ปัญหาการเมืองน่าจะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะหากรัฐบาลชุดใหม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2551 ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจึงอาจมีแนวโน้มจะบันทึกยอดเกินดุลที่ลดลงจาก 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2550 มาเป็น 1.0-1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551

ฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิที่ยังไม่แน่นอน และอาจผันผวน ฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิหรือการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนจากต่างประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินในประเทศ โดยในปี 2551 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ นอกจากจะอยู่ที่ขนาดความเสียหายของปัญหาสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดทุนโลกแล้ว คงจะยังขึ้นอยู่กับนโยบายการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนจากทางการอีกด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าขนาดความเสียหายของปัญหาสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐฯ อาจไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ แต่เป็นที่แน่นอนว่าปัญหานี้คงจะมีผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก และธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะยังต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอลงจนเข้าสู่ภาวะถดถอย แนวโน้มดังกล่าว คาดว่าน่าจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังมีแนวโน้มถูกกดดันให้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสนับสนุนให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯและหันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม คงเป็นการยากที่จะประเมินถึงเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าสุทธิมายังประเทศไทย เพราะคาดว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอาจจะมีการไหลเข้าออกอย่างรวดเร็วและผันผวน ตามข้อมูลข่าวสารและกระแสคาดการณ์ในตลาดการเงินโลกในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนั้นแล้ว นโยบายการดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนจากทางการ เป็นอีกปัจจัยที่คงจะมีผลต่อดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ โดยการที่ธปท.มีแนวโน้มจะทยอยยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 อย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับการออกมาตรการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิจากต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทยในปี 2551 อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่ไม่สูงไปกว่าในปี 2550 มากนัก

แนวโน้มการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลชุดใหม่ จากการประเมินของกระทรวงการคลัง รัฐบาลชุดใหม่ยังมีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเพิ่มงบประมาณรายจ่าย หรือดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นได้อีกราว 80,000-100,000 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณขาดดุลจำนวน 1.65 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2551 โดยที่ไม่กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง และการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจจะมีแนวทางการระดมเงินมาจากการเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์ หรือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งยังคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจหรือนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลชุดใหม่มีความโน้มเอียงที่จะดำเนินนโยบายการคลังในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยให้สภาพคล่องถูกดึงออกไปจากระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

การดูแลสมดุลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องจากทางการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท.จะยังคงมีบทบาทในการดูแลสมดุลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2551 ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่องด้วย โดยปัจจัยที่อาจจะมีอิทธิพลต่อขนาดการออกพันธบัตรของธปท. คงจะขึ้นอยู่กับ กระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากต่างประเทศ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจซึ่งจะกำหนดปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ โดยหากมีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ธปท.ก็อาจจำเป็นต้องมีการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งประเด็นนี้คงจะมีความเกี่ยวพันกับมาตรการการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทด้วย ในขณะที่ หากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ภาวะดังกล่าวอาจทำให้ปริมาณเงินในระบบปรับตัวสูงขึ้น และธปท.อาจจำเป็นต้องเข้ามาดูดซับสภาพคล่องเพื่อรักษาสมดุลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินตามเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของราคาและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงสินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์

• การขยายตัวสูงขึ้นของสินเชื่อ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ เป็นที่คาดหวังกันว่า เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว คงจะมีการเร่งรัดให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน รวมทั้งอาจจะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนการสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของภาครัฐ ซึ่งการดำเนินนโยบายการคลังในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจนี้ คงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ผลักดันให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกล้าที่จะใช้จ่ายลงทุนมากขึ้น และนำมาสู่ความต้องการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2550 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อดี (Core Performing Loans) ของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4-6.3 ในปี 2550 มาที่ร้อยละ 7.5-10.2 ในปี 2551 เช่นเดียวกัน สินเชื่อรวม (Total Loans) อาจขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 4.5-5.3 ในปี 2550 มาที่ร้อยละ 4.7-7.1 ในปี 2551 นั่นหมายความว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มที่จะถูกดูดซับออกไปมากขึ้นในปี 2551 ผ่านการขยายตัวสูงขึ้นของสินเชื่อตามการฟื้นตัวของกิจกรรมการใช้จ่ายและลงทุนภายในประเทศ

เงินฝากอาจเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ทางการออมอื่นๆ ถึงแม้ว่าการฝากเงินไว้ที่ธนาคารจะเป็นช่องทางการออมที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งเป็นที่คุ้นเคยและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับประชาชนโดยทั่วไป แต่ความเข้าใจและโอกาสของการออมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มบทบาทมากขึ้น อาจทำให้ผู้ฝากเงินมีการโยกย้ายเงินฝากออกจากธนาคารพาณิชย์ไปลงทุนหรือออมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการที่ทางการจะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปี 2551 ซึ่งเงินฝากจะทยอยได้รับความคุ้มครองภายใต้วงเงินที่ลดลงตามลำดับ จากเต็มจำนวนมาเป็นวงเงินขั้นต่ำที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในช่องทางการออมอื่น ยังเป็นอีกแรงหนุนที่ทำให้เงินฝากอาจต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การลงทุนในตราสารหนี้ (อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่น่าจะยังมีโอกาสเติบโตได้ จากการคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจยังมีแนวโน้มรักษาช่วงห่างเหนืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระยะเวลาเดียวกันไว้ได้ต่อเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา และจากปริมาณอุปทานตราสารหนี้ภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้น ที่มีโอกาสจะเติบโตจากปีก่อน จากการคาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยยังมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ ทยอยมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าว อาจจะมีผลให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสจะถูกดูดซับออกไปมากขึ้นผ่านการลดลงของเงินฝากในช่วงระหว่างปี 2551

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ตระหนักดีถึงประเด็นนี้ ฉะนั้น เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ไทยแม้อาจมีโอกาสจะปรับลดลง แต่ก็คงจะไม่ถึงกับเหือดแห้งจนประสบกับภาวะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารต่างๆ คงจะมีการทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากต่างๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดของตน ตลอดจนเพื่อการบริหารสภาพคล่องสำหรับรองรับการปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินฝาก ในปี 2551 อาจเติบโตร้อยละ 3.5-4.1 ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 3.6-4.3 ในปี 2550

ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราการเติบโตของเงินฝากที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 2551 หรือขนาดการเพิ่มขึ้นของเงินฝากที่อาจจะไล่ไม่ทันกับขนาดการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะมีแนวโน้มขยับลดลงในปี 2551 จากปีก่อน สอดรับกับการประเมินอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก (Loans to Deposits: L/D) ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2551 มาอยู่ในกรอบร้อยละ 81.7-83.1 เทียบกับประมาณร้อยละ 81.0 ในปี 2550

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2551 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากในปี 2550 อันเป็นผลจากสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดน้อยถอยลง ตามดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าอาจจะบันทึกยอดเกินดุลที่ลดลงจากปี 2550 ในขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิยังมีความไม่แน่นอนและอาจจะผันผวน ขึ้นอยู่กับขนาดความเสียหายของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และนโยบายการดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนจากทางการ นอกจากนี้ สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจยังอาจจะถูกดึงออกไปจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งการดูแลสมดุลสภาพคล่องจากทางการด้วย ทั้งนี้ สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงนี้ อาจทำให้สภาพคล่องที่จะไหลเข้ามาสู่ระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปรับลดลงจากในปี 2550

ส่วนสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยเองนั้น มีแนวโน้มที่จะถูกดึงออกไปจากการคาดการณ์การขยายตัวของสินเชื่อในอัตราที่เร่งขึ้นจากปีก่อน ซึ่งมีแรงหนุนหลักมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ภายหลังปัญหาการเมืองในประเทศทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การที่เงินฝากมีโอกาสจะเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นจากช่องทางการออมอื่นๆ ซึ่งอาจจะยังให้อัตราผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งจากแรงกระตุ้นของการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีกำหนดจะจัดตั้งขึ้นในปี 2551 ซึ่งแม้ว่าในปีแรก ผลกระทบอาจจะยังมีไม่มาก เพราะเงินฝากยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน แต่ก็อาจจะมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้ฝากเงิน ทำให้คาดว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มจะปรับลดลงอีกจากการโยกย้ายเงินฝากไปลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรภาครัฐ หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ และทองคำ ทั้งนี้ โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2551 โดยคาดว่าปริมาณสภาพคล่องที่วัดจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ณ สิ้นปี 2551 อาจเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 81.7-83.1 จากประมาณร้อยละ 81.0 ณ สิ้นปี 2550

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มปรับลดลงอีกในปี 2551 ต่อเนื่องจากในปี 2550 แต่ก็คงจะไม่ได้ลดลงมากจนกระทั่งธนาคารพาณิชย์ต้องประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องโดยฉับพลัน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงจะมีการบริหารสภาพคล่องล่วงหน้าเพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดเงินฝากของตนไว้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเพื่อเตรียมสภาพคล่องไว้สำหรับรองรับการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อในปี 2551 ด้วย ดังจะเห็นได้จาก การที่ธนาคารพาณิชย์มีการทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่จูงใจออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2550 ที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ธนาคารจะต้องระดมเงินด้วยต้นทุนที่แพงขึ้นในอนาคต กระนั้นก็ดี แม้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมน่าจะยังคงมีเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดปี 2551 ได้ แต่การกระจายตัวที่ไม่เท่าเทียมกันของสภาพคล่องในระหว่างกลุ่มธนาคาร อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ประสบกับภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้น จำเป็นต้องระดมเงินด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษอย่างต่อเนื่องต่อไป และหากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยความถี่ที่มากขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว ภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคารด้วยกันเอง และกับผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ อาจนำมาสู่การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป ประมาณร้อยละ 0.25-0.50 เป็นอย่างน้อยในปี 2551