คอตตอน ยูเอสเอ จับมือ แรงเลอร์ ส่ง “บลู เบลล่า” ยีนส์ผู้หญิงรุ่นพรีเมียมนำเข้าจากยุโรป ที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิด “ความรักครั้งแรกในยีนส์” ผสานกับแฟชั่นในยุคค.ศ. 1960 และแฟชั่นยุคปัจจุบันเข้ารวมกันอย่างกลมกลืน ช่วยย้ำคุณสมบัติเด่นของยีนส์สายพันธุ์แท้จากฝ้ายธรรมชาติ 100% เพิ่มความสบายคู่กายเหล่าแฟชั่นนิสต้า ขณะที่ ผลวิจัยชี้สาวออฟฟิศชาวไทยกว่า 44% หันเปลี่ยนลุคสวมใส่ชุดลำลองรวมถึงยีนส์ในวันทำงานมากที่สุดเป็นอันดับ 1
นายวิสิฐ ผรณาปิติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์แรงเลอร์ บริษัท เซ็นทรัลกาเมนท์แฟคทอรี่ จำกัด บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป กล่าวว่า ยีนส์แรงเลอร์ต้องการเปิดมิติใหม่ให้กับแฟชั่นยีนส์สำหรับสุภาพสตรีเป็นครั้งแรก เพื่อต้อนรับคอลเล็คชั่น Fall and Winter 2007 นี้ ด้วยการนำเข้าคอลเล็คชั่นยีนส์แฟชั่นสำหรับสุภาพสตรีภายใต้ชื่อ “บลู เบลล่า” (Blue Bella) รุ่นพรีเมียมจากยุโรปที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% มาจำหน่ายเป็นพิเศษ ในราคา 5,500 – 6,900 บาท พร้อมทั้งเริ่มต้นรุกตลาดยีนส์สุภาพสตรีอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่น-เริ่มต้นทำงานอายุระหว่าง 18-25 ปี
ในปี 2551 บริษัทวางแผนสร้างแบรนด์ Wrangler ในกลุ่มสุภาพสตรีให้แข็งแรงขึ้น เพิ่มความหลายหลายให้กับตัวสินค้า Wrangler เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำแฟชั่นยีนส์ของผลิตภัณฑ์แรงเลอร์ที่ไม่ได้โดดเด่นแค่ยีนส์ของสุภาพบุรุษเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบัน พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้หญิงทำงานในปัจจุบันส่วนใหญ่มีการติดตามและเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชั่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มการเติบโตสูง
บลู เบลล่า “Blue Bella” คือ คอลเล็คชั่นยีนส์สำหรับสุภาพสตรีที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิด “ความรักครั้งแรกในยีนส์” ผสานกับแฟชั่นในยุคค.ศ. 1960 และแฟชั่นยุคปัจจุบันเข้ารวมกันอย่างกลมกลืน โดยได้คาแรคเตอร์มาจากสาวงามที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในยุค 60 อย่าง Audrey Hepburn ซึ่งถือว่าเป็นดาราสาวที่มีรสนิยมในการแต่งตัวเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน
Blue สื่อถึงความเป็นยีนส์ ขณะที่ Bella เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า สวยงาม (Beautiful) จึงถือเป็น Icon ที่สื่อสารความเป็นผู้หญิง (Feminine) ได้อย่างอย่างดีเยียม ทั้งด้านรูปลักษณ์และรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นที่มีจำหน่าย ภายใต้เทคนิคการออกแบบและตัดเย็บเพื่อให้สวมใส่แล้วดูเป็นธรรมชาติเข้ากับผู้หญิงเป็นอย่างดี คาแรคเตอร์ของ “บลู เบลล่า” จึงมีสีสันที่โดดเด่นถ่ายทอดด้วย โลโก้สายรุ้ง ที่เชื่อมต่อกับหลักสำคัญของความเป็นแรงเลอร์ในสัญลักษณ์เดิมที่เป็นรูปม้าวิ่ง เป็นอีกหนึ่งภาพลักษณ์ใหม่ที่ยังสามารถคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของแรงเลอร์สไตล์ดั้งเดิมที่คนรักยีนส์เชื่อถือในผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว
นายวิสิฐ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าใหม่ๆที่บริษัทจะทยอยพัฒนาและวางตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ผู้หญิงทุกกลุ่มภายใต้คอลเล็คชั่น บลู เบลล่า แต่แรงเลอร์ยังคงเน้นหนักให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้าที่นำมาผลิตเป็นยีนส์ โดยผลิตภัณฑ์ยีนส์แรงเลอร์ที่จำหน่ายในประเทศไทยใช้ฝ้ายเป็นวัตถุดิบกว่า 90% ของวัตถุดิบทั้งหมด เนื่องจากฝ้ายมีคุณสมบัติเด่นคือสวมใส่สบาย นุ่มนวล แต่คงทนและแข็งแรง และยังเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน คอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำวิจัย “COTTON USA” Mark Tracking Study in Thailand ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-65 ปี จำนวน 500 คน ระหว่างเดือน กันยายน ถึงเดือนตุลาคม ล่าสุดพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมีความนิยมเกี่ยวกับยีนส์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ผู้บริโภคมีจำนวนยีนส์ในตู้เสื้อผ้าเฉลี่ย 10 ตัวต่อคน เพิ่มขึ้นจากจำนวนเฉลี่ย 6 ตัวต่อคนในปี 2546
โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงอายุ 24-35 ปีที่เปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นชุดลำลองรวมถึงยีนส์สูงที่สุดในสัดส่วน 44% รองลงมาเป็นชุดทำงาน (ที่ไม่ใช่สูท) 27% ชุดเครื่องแบบพนักงาน 17% และชุดสูทเป็นทางการ 3% ด้วยเหตุผลความสะดวกสบายคล่องตัวในการทำงานและแฟชั่นสวยงามให้เลือกหลายหลาย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงทำงานยุคปัจจุบัน
ผลการวิจัยดังกล่าวทำให้เชื่อว่าคอลเลคชั่นยีนส์สำหรับสุภาพสตรีมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก นอกจากนี้ ยีนส์ยังเป็นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ ทำให้สวมใส่สบาย แต่คงทนและแข็งแรง ยิ่ง หากเป็นยีนส์ที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% แล้วจะมีคุณสมบัติในการช่วยระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วไม่ร้อน เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเมืองไทย รวมถึงเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นายไกรภพ กล่าวต่อว่า เครื่องหมาย COTTON USA เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงคุณภาพ และแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตจากใยฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในปีนี้ สัดส่วนผู้บริโภคที่สามารถจดจำเครื่องหมาย COTTON USA ได้เพิ่มจำนวนขึ้นสูงอีก 5% จากการทำวิจัยครั้งก่อนในปี 2548