กลุ่มโรงงานน้ำตาลพร้อมควัก 2.59 พันล้านบาท ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนเต็มที่ให้ออกมาตรการส่งเสริมการใช้เอทานอลอย่างจริงจัง “สิริวุทธิ์” แนะหากราคาเอทานอลขยับตามกลไกตลาดจะช่วยลดภาระของรัฐได้อีกมาก
ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 ได้มีมติในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นนั้น
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า การเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยอีกตันละ 100 บาท นั้น คณะรัฐมนตรีให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4,225.30 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยโดยตรงในอัตราตันละ 62 บาท ส่วนที่เหลืออีกตันละ 38 บาท จำนวน 68.15 ล้านตัน ทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลจะต้องหาเงินมาจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยเป็นเงินรวม 2,589.70 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มโรงงานน้ำตาลก็พร้อมให้ความร่วมมือด้วยดี โดยเงินส่วนนี้ถือเป็นการสำรองจ่ายไปก่อน หากราคาน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 11.22 เซ็นต์/ปอนด์ หรือสูงกว่า ทางโรงงานก็น่าจะได้เงินส่วนนี้คืนในช่วงปลายปีนี้
“ประเด็นที่เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาก็คือเรื่องที่สั่งให้กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายส่งเสริมการนำอ้อยและกากน้ำตาลไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพราะหากทำได้ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่อ้อยในระยะยาว ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาราคาอ้อยในลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกๆ ปี” นายวิบูลย์ กล่าว
สำหรับเรื่องที่ ครม. ได้สั่งให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาอนุโลมให้โรงงานน้ำตาลยังไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ในส่วนของเครดิตโรงงานจำนวนประมาณ 2,984.50 ล้านบาท จนกว่าโรงงานจะได้รับเงินคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ทางกลุ่มโรงงานก็ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่เข้าใจความเดือดร้อนของโรงงานเป็นอย่างดี
ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้อ้อยมิใช่เป็นเพียงพืชที่ใช้บริโภคหรือแปรรูปเป็นน้ำตาลเท่านั้น แต่น้ำหนักในด้านของพืชที่ใช้ผลิตพลังงานจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาวะราคาน้ำมันที่สูงมากเช่นในปัจจุบันนี้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจกับเรื่องของอ้อยอย่างจริงจังเพื่อจะได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เริ่มตั้งแต่การผลิตที่จะเสริมสร้างสายพันธุ์อ้อยอย่างไรให้เหมาะสมกับการนำไปใช้
นอกจากนี้ ในด้านการกำหนดราคาเอทานอลก็ควรให้สอดคล้องกับกลไกตลาดที่แท้จริง เพราะหากคุมราคาจนกลายเป็นลักษณะของการบิดเบือนตลาด ก็จะทำให้บางกลุ่มได้ประโยชน์ แต่บางกลุ่มเสียประโยชน์ เช่น ถ้าราคาเอทานอลต่ำกว่าความเป็นจริง ชาวไร่อ้อยก็ขายกากน้ำตาลได้ในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และท้ายที่สุดก็กลับมาเป็นภาระของรัฐเองที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย