บัญชี อีเลิร์นนิ่ง มกค. หนุน SMEs โชว์ทีเด็ด..ผนึกวิชาโลจิสติกส์

หลักสูตรบัญชี อีเลิร์นนิ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) ซึ่งมีการเรียนการสอนบัญชีแบบออนไลน์เป็นครั้งแรกของประเทศ และเป็นหลักสูตรที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. โดยนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษารุ่นแรกมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ล่าสุดหนุนบัณฑิตให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้โดยนำวิชาโลจิสติกส์เพื่อการแข่งขันในโลกธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นวิชาใหม่ที่บรรจุในหลักสูตรบัญชีแห่งเดียวในประเทศ

ความคืบหน้าของการดำเนินการเรียนการสอนในหลักสูตรบัญชีอีเลิร์นนิ่ง ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับการเปิดเผยจาก ผศ.แน่งน้อย ใจอ่อนน้อม คณบดีคณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าหลังจากทางคณะได้เปิดหลักสูตรบัญชีอีเลิร์นนิ่งขึ้นในปี 2548 โดยรับสมัครผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นๆ ที่มีความสนใจที่จะทำปริญญาที่สองในสาขาวิชาบัญชีนั้น บัดนี้นักศึกษารุ่นแรกได้สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน 19 คน และพบว่าทั้ง 19 คน ได้งานทำทั้งหมด สามารถนำวุฒิการศึกษาไปปรับให้สามารถทำงานทางด้านบัญชี หรือเรียกว่าเป็นนักบัญชีมืออาชีพได้อย่างสมบูรณ์

จากตัวเลขของผู้สำเร็จการศึกษาที่มีไม่มากนัก ผศ.แน่งน้อย กล่าวว่าหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์นี้ ผู้ที่มีความสนใจอาจยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากอาจยังไม่มั่นใจในเรื่องคุณภาพ แต่หลักสูตรบัญชีอีเลิร์นนิ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบัณฑิตที่จบออกมามีศักยภาพไม่แพ้บัณฑิตที่เรียนในภาคปรกติ โดยปี 2550 มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้ามาเรียนในหลักสูตรเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวน 108 คน แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมีความมั่นใจ และทางหลักสูตรเองก็มีความพร้อม มีการควบคุมคุณภาพของบัณฑิตที่จะจบออกไปสู่ตลาดแรงงาน

หลักสูตรบัญชีอีเลิร์นนิ่ง เปิดขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านบัญชีออกสู่ตลาดงาน ที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ และค่อนข้างขาดแคลนในต่างจังหวัด โดยหลักสูตรนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประกอบกับคณะบัญชีของมหาวิทยาลัยถือว่ามีชื่อเสียงและมีคุณภาพสูง เห็นได้จากบัณฑิตกว่า 87% สามารถหางานทำได้ภายใน 3 เดือน และหางานทำได้ 100% ไม่เกินภายใน 6 เดือน โดยหลักสูตรบัญชีอีเลิร์นนิ่งนี้ จะเปิดรับสมัครนักศึกษาที่จบปริญญาตรีแล้วสาขาใดก็ได้ และคนที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่จบ ปวส.สาขาบัญชี

สำหรับการเรียนการสอนที่หลายคนคิดว่ายากและมีอุปสรรคนั้น ผศ.แน่งน้อย อธิบายว่า บัญชีมีวิชาที่ต้องอาศัยความเข้าใจในการเรียน เป็นวิชาที่มีเหตุมีผลในตัวไม่ใช่การคำนวณที่ลึกซึ้ง สามารถไล่เรียงตามขั้นตอนได้ แต่อาจจะมีปัญหาในวิชาสูงขึ้นที่อาศัยการตีความและนำมาตรฐานบัญชีมาปรับใช้ อาจจะต้องการคำชี้แนะจากอาจารย์ผู้สอน ซึ่งเปิดโอกาสให้พบและปรึกษาได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ก่อนการสอบจะมีการบรรยายเพิ่มเติมให้อีก หลังจากถามอาจารย์ผ่านทางอีเมล หรือเว็บบอร์ดแล้วไม่เข้าใจ คิดว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับการเรียนบัญชีแบบอีเลิร์นนิ่ง และหลักสูตรนี้จะทำให้บัณฑิตมีความรู้พื้นฐานด้านบัญชีสามารถนำไปประกอบอาชีพบัญชีได้ และมีกลุ่มวิชาให้เลือกเรียนตามความสนใจ เช่น วิชาสำหรับผู้สอบบัญชี วิชาบัญชีต้นทุน หรือบัญชีบริหาร ซึ่งวิชาหลักที่ทุกคนเรียนเนื้อหาถือว่าครบถ้วนเหมือนกับการเรียนในภาคปรกติ

ล่าสุด คณบดีคณะบัญชี มกค. เปิดเผยถึงแนวทางในการส่งเสริมบัณฑิตของหลักสูตรให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการว่า ตั้งแต่เริ่มแรกในการพัฒนาหลักสูตร ก็เห็นเทรนด์ว่า ผู้ประกอบการขนาดย่อมในประเทศที่มีอยู่มากเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจระดับประเทศ ถ้าหากพัฒนาบัณฑิตที่จบออกไปเป็นผู้ประกอบการได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำ แม้ว่าจะเป็นหลักสูตรบัญชีแต่เราก็มีวิชาเอกเลือกเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ประกอบการ เช่น การจัดทำแผนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อันจะเป็นตัวหลักที่นักศึกษาสามารถนำเอาวิชาการเงิน การตลาด รวมเข้าด้วยกันเพื่อทำแผนธุรกิจ นอกจากนี้วิชาหลักของบัญชีสามารถปรับใช้กับองค์กรทุกขนาด ถ้าหากมองเนื้อหาในระยะยาวการพัฒนาธุรกิจ SMEs จนถึงขั้นการส่งออกในเรื่องโลจิสติกส์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะต้นทุนของสินค้า และการขนส่งค่อนข้างสูง การบริหารต้นทุนให้ได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยวิชาโลจิสติกส์เพื่อการแข่งขันในโลกธุรกิจถือว่าเป็นวิชาใหม่ที่บรรจุในหลักสูตรบัญชีแห่งเดียวในประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการทุกระดับที่มีพื้นฐานด้านบัญชีจะทำให้การมองภาพการทำธุรกิจชัดเจนขึ้น ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่สามารถมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลโดยเฉพาะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จะช่วยเสริมธุรกิจโดยทำให้ทราบขั้นตอนการเดินทางของข้อมูลเพื่อการกำหนดราคาสินค้าจากต้นทุน ซึ่งปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs ที่พบคือ การคำนวณต้นทุนไม่ครบถ้วน ถ้ามีความรู้บัญชีสามารถแจกแจงต้นทุนคงที่ หรือแปรผันได้ จะวางแผนธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้การจัดทำงบการเงินถูกต้องเพื่อวางแผนการเสียภาษี จากวิชาเกี่ยวกับภาษีอากร การเสียภาษีสำหรับธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ สามารถใช้บันทึกงบประมาณเปรียบเทียบกับประมาณการในแผน เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานกับเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยใช้ตัวเลขเป็นตัววัดได้ ผศ.แน่งน้อยกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางสาวอุปถัมภ์ มโนบริสุทธิ์ หนึ่งในบัญชีบัณฑิต e-Learning รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้กล่าวกับเราว่า จากเดิมที่ตนทำงานด้านบัญชีอยู่แล้ว เมื่อได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมทำให้มีความรู้มากขึ้น การทำงานผิดพลาดน้อยลง ซึ่งการทำบัญชีสำหรับตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่งผลทั้งต่อองค์กรเองและประเทศชาติ (ในฐานะผู้เสียภาษีและผู้เก็บภาษี) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต่างๆควรจะให้ความสำคัญตรงจุดนี้ด้วยเช่นกันและดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอน

สำหรับการเรียนบัญชี e-Learning นั้นคุณอุปถัมภ์ให้ความเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ตรงความต้องการของเธอมากเพราะโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ใช้อินเตอร์เนตอยู่เป็นประจำทุกวัน ประกอบกับความสะดวกในการเรียนที่ไม่ต้องประสบปัญหาด้านการจราจรที่ติดขัด ด้านเนื้อหาการเรียนนั้นบางเรื่องยากมาก ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ สำหรับตัวคุณอุปถัมภ์เองชอบลักษณะการเรียนเช่นนี้เพราะมีความเป็นส่วนตัว ทำให้มีสมาธิในการเรียนและทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆได้ ดังนั้นเมื่อสามารถทำแบบฝึกหัดส่งตามที่กำหนดได้ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ผู้เรียนต้องมีการวางแผน จัดตารางเวลาให้ดีรวมถึงมีวินัยในตัวเองให้มาก

ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นเหตุผลสนับสนุนความสำคัญด้านบัญชีอีกแรงหนึ่ง คือการทำวิจัยของสวนดุสิตโพลซึ่งสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้ประกอบกิจการ รวมไปถึงนักวิชาการที่มีความสำคัญในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติ รวม 1,376 ตัวอย่าง ซึ่งผลจากการมองธุรกิจในเชิงนโยบายและการคาดการณ์ไปอีก 3-5 ปีได้สะท้อนออกมาว่า การบัญชีเป็นสาขาอันดับหนึ่งที่เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นบัณฑิตแล้วจะสามารถหางานได้ง่ายที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากการทำธุรกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจ การจัดการ การประกอบกิจการไม่ว่าจะระดับย่อยหรือขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้บุคลากรทางด้านบัญชีทั้งสิ้น

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้ให้ความเห็นว่า ในการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นนโยบายที่ดีจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการคิดคำนวณความคุ้มทุนที่ดี การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งในส่วนของการผลิตตลอดจนระบบการขนส่ง ดังนั้นผู้ทำบัญชีจึงไม่เพียงมีหน้าที่แค่การลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายเท่านั้น หากแต่ควรมีความรู้ด้านการบริหารและนโยบาย คิดในเชิงอนาคตมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันให้อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันในภาคธุรกิจ

ในอนาคตนั้นการบัญชีก็จะยังคงบทบาทสำคัญตราบใดที่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการแข่งขันทางด้านธุรกิจยังก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเช่นนี้ ซึ่งโดยรวมแล้วไม่ว่าจะเป็นในภาคเอกชนหรือรัฐบาลเองก็มีการพัฒนาและแข่งขันด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในสภาวะการแข่งขันที่สูง หลักสูตรบัญชีของสถาบันการศึกษาเองต้องพัฒนาระบบการผลิตบัณฑิตของตน ด้วยการอัพเดตความรู้ใหม่ให้ก้าวทันสภาวะตลาดโลก โดยแต่ละสถาบันต้องมองหาจุดแข็งเพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการศึกษาและผลิตบัญชีบัณฑิตที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการแข่งขันระดับสากลต่อไป