ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกสินค้าผักผลไม้ของไทยไปยังสหภาพยุโรป ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศที่นับว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ในปี 2543 ประเทศไทยส่งออกผักผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปทั้งสิ้น 323.5 ล้านบาท และลดลงเหลือ 122.6 ล้านบาทในปี 2548 โดยมีสาเหตุสำคัญคือสินค้าอาหารของไทยยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ที่ใช้กันแพร่หลายในนานาประเทศ ปัจจุบันตลาดอาหารโลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน อีกทั้งเป็นข้อกำหนดสำคัญของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ส่งออก ผักและผลไม้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการส่งออก สินค้าของไทยจึงต้องได้ มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่ง ตลาดของสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหภาพยุโรปและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ
เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทยได้ร่วมกันเปิดตัว ThaiGAP ขึ้นด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับเดียวกันกับมาตรฐาน GLOBALGAP ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยของประเทศสามารถเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าสูงทั่วโลกได้ ขณะนี้ภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมกันพัฒนามาตรฐาน ThaiGAP โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) กรมวิชาการเกษตร และ กรมส่งเสริมการเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานคณะกรรมการ ThaiGAP และ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ช่องทางสำคัญที่จะเข้าถึงตลาดมูลค่าสูงในต่างประเทศได้ก็คือการจัดการและดำเนินการมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย โดยพัฒนาระบบรับรองคุณภาพของ ThaiGAP ให้เทียบเคียงกับ GLOBALGAP เพื่อให้สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ปัจจุบันมาตรฐาน GLOBALGAP ได้กลายเป็นมาตรฐานที่สำคัญและใช้กันอย่างแพร่หลายในทวีปเอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา และแอฟริกา ในประเทศไทยมีสวนผักผลไม้เพียงไม่กี่แห่งที่ได้มาตรฐานนี้ ในการพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ผู้ส่งออกและเกษตรกรไทยมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ผลผลิตได้รับการรับรองดังกล่าว”
ด้วยเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาและส่งเสริมการยกระดับ มาตรฐานคุณภาพสินค้าภายในประเทศให้สูงขึ้น สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) จึงได้ร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (PTB) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างพื้นฐานด้านการรับรองคุณภาพแห่งชาติ ในสาขาผักและผลไม้สด อาทิ ดำเนินกิจกรรมนำร่องการทดสอบมาตรฐาน GLOBALGAP Option 2 ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรับรองคุณภาพ ร่วมกับผู้ค้าปลีกของไทยในการพัฒนามาตรฐานสำหรับผู้ค้าปลีก และยังได้ร่วมมือกับคณะทำงานวิชาการแห่งชาติในการแปลและตีความมาตรฐาน GLOBALGAP เพื่อนำมาปฏิบัติใช้ในประเทศไทย และร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการพัฒนาให้ ThaiGAP มีมาตรฐานเทียบเท่ากับ GLOBALGAP โดยมุ่งเน้นให้การศึกษาแก่เกษตรกรรายย่อยเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารและการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เมื่อมาตรฐาน ThaiGAP ได้รับการยอมรับว่าเทียบเท่ากับมาตรฐาน GLOBALGAP แล้ว ก็ยังจะได้รับการยอมรับว่าเทียบเท่ากับมาตรฐานอื่นๆในเอเชียเช่นกัน อาทิ มาตรฐาน ChinaGAP และ J-GAP (ญี่ปุ่น) ซึ่งประเทศทั้งสองเป็นตลาดหลักของสินค้าเกษตรของไทย
มร. เจมส์ โทเมคโค ผู้อำนวยการ กลุ่มงานการบริการธุรกิจและการเงิน สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) กล่าวว่า “การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ใน อุตสาหกรรมผักและผลไม้ เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ และศักยภาพการส่งออกของไทย ผักและผลไม้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จากประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าเช่น จีน เวียดนาม ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องสร้างความแตกต่างของสินค้าโดยหันมาพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของนานาชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันการส่งออกของประเทศไทยไปสหภาพยุโรป ยังมีปริมาณไม่มากนัก การพัฒนาสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในนานาประเทศ จึงเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการเข้าถึงตลาดในสหภาพยุโรปได้มากขึ้น”
“เมื่อเร็วๆ นี้ GTZ ยังได้ร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (PTB) เรียนเชิญ มร. ไนเจล การ์บัตต์ ประธาน GLOBALGAP มาให้คำแนะนำขั้นตอนการดำเนินการในการเทียบเคียงมาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบเท่ากับ GLOBALGAP อาทิ การจัดตั้งองค์กร คณะกรรมการ และคณะทำงานด้านวิชาการ ขั้นตอนในการเทียบเคียงมาตรฐาน การจัดทำกฏระเบียบและมาตรฐานการจัดการคุณภาพผลผลิตเป็นภาษาไทยสำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออก ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทยได้แก่ ผู้บริหารจาก ThaiGAP กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งบริษัทผู้ส่งออกผักผลไม้ของไทย” มร. โทเมคโค กล่าวเสริม
ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนและพัฒนามาตรฐาน ThaiGAP โครงการจะขยายผลออกไปสู่ภาคปศุสัตว์และประมงซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรไทยอีกเป็นจำนวนมาก เกษตรกรสามารถปฏิบัติตาม ข้อกำหนดคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มโอกาสในการส่งออก รวมทั้งสามารถเสริมสร้างเกษตรยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป
GTZ เป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมัน ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว