MFA ตั้งเป้า 51 ชิงยอด 4.3 ล้านเครื่อง รายได้โตสูงสุด 12,000 ล้านบาท

นายกลุดิษฐ์ สมุทรโคจร กรรมการผู้จัดการ บริษัทไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด บริษัทในเครือเอไอเอส ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ เอ็มเอฟเอ เปิดเผยว่า” ในปี 2551 เอ็มเอฟเอ ได้ตั้งเป้ายอดขายโทรศัพท์มือถือประมาณ 4.3 ล้านเครื่อง ซึ่งจะมีส่วนแบ่งตลาดโดยรวมอยู่ที่ 49 % คิดเป็นรายได้ 12,000 ล้านบาท และเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตัวจริงให้ได้ตามเป้า ปีนี้จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของเอ็มเอฟเอใน 5 ด้านคือ

1. ทำงานกับพันธมิตรผู้ผลิตแบรนด์มือถือและอุปกรณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด เอ็มเอฟเอมีนโยบายเปิดกว้างในการจัดจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์มือถือทุกราย ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจในการทำธุรกิจ และร่วมกันคัดสรรสินค้าให้เหมาะสมกับช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน สำหรับการคัดสรรสินค้าโทรศัพท์มือถือที่นำมาจัดจำหน่ายยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตแบรนด์ชั้นนำทั้ง โนเกีย, โมโตโรล่า, ซัมซุง, โซนี่อีริคสัน, แอลจี กลุ่ม PDA และ Special Product เช่น HTC, Blackberry, ASUS และ หัวเหว่ย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีสินค้าหลากหลายครบทุกความต้องการของผู้บริโภค พร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทุกๆแบรนด์ ภายใต้สัญลักษณ์ MFA ด้วยการรับประกันเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ผู้บริโภคภายใน 7 วัน

2. การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย โดยยังคงรักษาขีดความสามารถกับช่องทางที่มีอยู่เดิม และต่อยอดการทำงานกับพันธมิตร ด้วยการเพิ่มจำนวนช่องทางจัดจำหน่ายร้านค้าปลีกและ ดีลเลอร์ให้มากขึ้น, โดยมุ่งเน้นการทำงานด้วยกันกับร้านค้าปลีก, เทเลวิซ และโมเดิร์นเทรด อย่างใกล้ชิดด้วยการปรับเงื่อนไขทางธุรกิจ, ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ตลอดจนให้การสนับสนุน จัดกิจกรรมการตลาดการร่วมกัน

3. บริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย แม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากราคาเฉลี่ยของโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มลดต่ำลง และธุรกิจนี้มีการแข่งขันทางด้านราคารุนแรงมาตลอด ส่งผลให้กำไรของผู้จัดจำหน่ายลดลง ดังนั้นการรักษาความเป็นผู้นำตลาดนั้นต้องทำการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไปพร้อมกับการรักษาคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขายที่ดีไว้ให้ได้

4. ความร่วมมือกับเอไอเอส เอ็มเอฟเอได้ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับเอไอเอส โดยมีคณะทำงานและการวัดผลอย่างชัดเจน เพื่อร่วมกันสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ให้บริการและผู้จัดจำหน่ายรายอื่นในตลาด เช่น การจำหน่ายมือถือไปพร้อมกับซิมการ์ดและ Air time เพื่อกระตุ้นตลาดรากหญ้า, การเสนอรูปแบบ DNA ที่เป็นการรวมเอา Device มือถือของเอ็มเอฟเอ, Network เครือข่ายเอไอเอส และ Application เข้าด้วยกัน เพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้น Demand ของ Non-voice เพิ่มขึ้นอีกด้วย

5. รุกตลาดเฮ้าส์แบรนด์ เอ็มเอฟเอจะทำตลาดโฟนวันอย่างจริงจัง โดยการสร้างแบรนด์ และคัดสรรมือถือคุณภาพเข้ามาจำหน่ายให้ครบทุกเซ็กเม้นท์ตอบสนองความต้องการใช้งานมือถือของลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นอกจากการปรับแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเพื่อครองความเป็นเจ้าตลาดและพร้อมต่อการรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นแล้ว เรายังปรับขีดความสามารถของบริการหลังการขายรวมถึง บริการให้คำปรึกษาการใช้งานมือถือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคและสอดคล้องไปกับการเคลื่อนตัวของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมทั้งจัดทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์มือถือภายใต้แบรนด์เอ็มเอฟเอให้ผู้บริโภครู้จักและเชื่อถือในสินค้ามากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้เรายังมีกิจกรรมโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมือถือในราคาพิเศษตลอดทั้งปีอีกด้วย ซึ่งในเร็วๆนี้เอ็มเอฟเอได้เตรียมมือถือมาจำหน่ายในราคาพิเศษและของสมนาคุณอีกมากมายในงาน Mobile Expo ในวันที่ 14-17 ก.พ. 51 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายกุลดิษฐ์ กล่าวสรุปว่า “แม้ว่าการแข่งขันธุรกิจมือถือจะรุนแรงขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกิจยากขึ้นทุกปี แต่เอ็มเอฟเอก็มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และมั่นใจว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมาและดีมานด์ที่ยังคงเติบโตของผู้บริโภคจะทำให้เอ็มเอฟเอยังคงครองเบอร์หนึ่งตามที่ตั้งเป้าไว้”