หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากพ.ศ. … ในวาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 และล่าสุด พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้จะใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน หรือ 6 เดือน นับจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็คือกลางเดือนสิงหาคม 2551
• สาระสำคัญของพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
– วัตถุประสงค์ ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ ให้ยกเลิกการคุ้มครองเงินฝากจากปัจจุบันที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คุ้มครอง หรือจ่ายคืนเงินฝากให้เต็มจำนวนทั้ง 100% เป็นให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะจัดตั้งขึ้น คุ้มครองเงินฝากเพียงบางส่วน ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และเป็นการคุ้มครองต่อรายต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่ง รวมทั้งเป็นการคุ้มครองเงินฝากในประเทศทุกประเภทที่เป็นเงินบาท
– วงเงินคุ้มครอง หรือการจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงิน กฎหมายกำหนดไว้ คือ ปีแรก จะคุ้มครองเงินฝาก หรือจ่ายคืนเงินให้ประชาชนผู้ฝากเงิน ในกรณีสถาบันการเงินล้ม หรือเกิดปัญหาเต็มจำนวนตามวงเงินที่ฝาก ส่วนปีที่ 2 ให้ลดลงมาคุ้มครองเพียง 100 ล้านบาท ในปีที่ 3 ลดลงมาคุ้มครองเหลือ 50 ล้านบาท ในปีที่ 4 คุ้มครองเพียง 10 ล้านบาท และปีที่ 5 เป็นต้นไป ความคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเพียง 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากจ่ายเงินภายในไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ฝากเงินยื่นขอ
อย่างไรก็ตาม การกำหนดวงเงินคุ้มครองอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดย
(1) ในบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 72 ระบุว่า ในช่วง 4 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย หากภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องกำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นจากที่กำหนด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และ
(2) ในมาตรา 54 กำหนดให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินสูงกว่า 1 ล้านบาท เป็นการทั่วไปหรือ ให้แก่ผู้ฝากเงินประเภทหนึ่งประเภทใดเพื่อความเป็นธรรมได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
– การนำส่งเงินสมทบของสถาบันการเงิน กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกา แต่ ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งในครั้งแรกอัตราเงินนำส่งจะเป็นอัตราเดียว สำหรับครั้งต่อไปจะกำหนดอัตราดังกล่าวให้แตกต่างกันตามประเภท หรือฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ได้
จากการศึกษาในเบื้องต้น พบว่ากฎหมายฉบับนี้ น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการเงินและผู้ฝากเงินอยู่ในวิสัยที่จะปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารจะต้องเร่งสร้างฐานะการเงินให้มั่นคง ปรับปรุงการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันการแข่งขันเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าจะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออก B/E เพื่อระดมเงินทุน, การแนะนำทางเลือกให้ลูกค้าใช้บริการผ่านบริษัทในเครือ เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น