บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงถึงการดำเนินธุรกิจในปีที่ผ่านมาพร้อมประกาศแผนงานในปีธุรกิจ 2008 ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจไมโครซอฟท์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตที่สำคัญเป็นผลเนื่องมาจากกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์มีการขยายตัวร้อยละ 26 กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและคู่ค้าขยายตัวร้อยละ 30 นอกจากนี้ การขยายตัวร้อยละ 110 ของกลุ่มการให้บริการและปรึกษาทางธุรกิจยังตอกย้ำภาพของไมโครซอฟท์ในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชั่นด้วย
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า “ความสำเร็จในปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีเฉพาะการขยายตัวทางธุรกิจที่แสดงให้เห็นเป็นตัวเลขเท่านั้น แต่เรายังมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ และได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากการริเริ่มโครงการต่างๆ ในปีที่ผ่านมา อาทิ Global Care Solution (GCS) และ แคมเปญ “The Right PC นี่แหละคอมพิวเตอร์ที่ใช่” สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไมโครซอฟท์มีความตั้งใจในการพัฒนาธุรกิจที่ไม่ใช่สร้างประโยชน์เพื่อไมโครซอฟท์เท่านั้นแต่ยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับพันธมิตรของเรา รวมถึงคนไทยและเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย”
ในฐานะผู้นำด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่น ไมโครซอฟท์ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งองค์กรระดับประเทศ และระดับนานาชาติในการใช้งานโซลูชั่นและแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ โดยบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดำเนินกิจการโดยคนไทยได้ให้ความไว้วางใจในการใช้งานโซลูชั่นของไมโครซอฟท์เช่นกัน
นายกฤตวิทย์ ศรีพสุธา กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด กล่าวถึงประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจากไมโครซอฟท์โซลูชั่นว่า “เรามีพนักงานกว่า 3,000 คน ตัวแทนประกันกว่า 2,000 คน และผู้เอาประกันภัยถึง 6 ล้านคน ทำให้เรามีโจทย์ที่ท้าทายในการหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถรองรับฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ของเรา เราพบว่าโซลูชั่นของไมโครซอฟท์ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของเราในเรื่องขนาดของฐานข้อมูลเท่านั้น แต่ไมโครซอฟท์โซลูชั่นยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงานให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้านี้ผมเคยเสียเวลาหลายชั่วโมงในการหาข้อมูลจากฐานข้อมูลของเรา แต่ในปัจจุบันผมสามารถเรียกดูข้อมูลที่ต้องการเพียงแค่คลิกเดียวเท่านั้นเพื่อทำการประเมินผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ และวางแผนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบริษัท และเนื่องจากหัวใจสำคัญของบริษัทเราคือความรวดเร็ว แม่นยำ และเป็นธรรม ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและไมโครซอฟท์โซลูชั่นเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เราได้ตรงที่สุด”
นายกฤตวิทย์ยังกล่าวเสริมถึงศักยภาพและความสามารถของไมโครซอฟท์โซลูชั่นในการปรับแต่งให้เข้ากับสถานการณ์ที่หลากหลายว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความยืดหยุ่นของโซลูชั่นซึ่งผมเชื่อมั่นว่าไมโครซอฟท์โซลูชั่นสามารถปรับใช้ได้กับธุรกิจทุกรูปแบบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่”
และเพื่อตอกย้ำถึงภาพผู้นำในการให้บริการโซลูชั่นที่มีความยืดหยุ่น ไมโครซอฟท์ประเทศไทยยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาให้แพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายสามารถทำงานร่วมกันได้ หรือ Interoperability ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต ในช่วงที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้ประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ และแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจเพื่อขยายความสามารถในการทำงานร่วมกันได้
นางสาวปฐมา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศการเปลี่ยนแปลงที่จะขยายการเข้าถึงในวงกว้าง และแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจเพื่อเพิ่มการเปิดกว้างของผลิตภัณฑ์ และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ รวมถึงโอกาสและทางเลือกสำหรับนักพัฒนา คู่ค้า ลูกค้า และคู่แข่ง ในส่วนของประเทศไทยนั้นเราตระหนักดีว่าอนาคตความสำเร็จทางธุรกิจของเราขึ้นอยู่กับการเพิ่มการเปิดกว้างของผลิตภัณฑ์หลักของเรา ไมโครซอฟท์ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรของเราทั่วโลกเพื่อนำหลักการเรื่องการทำงานร่วมกันได้ไปใช้ และส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันในแบบเปิดกับลูกค้าและในอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนโอเพ่นซอร์สด้วย นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญด้านความโปร่งใส และเป้าหมายของเราที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีทางเลือกและโอกาสสำหรับนักพัฒนาท้องถิ่นด้วยการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเราให้มากยิ่งขึ้น”
ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย และย้ำถึงความจำเป็นในเรื่องการทำงานร่วมกันได้ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของนักพัฒนามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตว่า“ธุรกิจแต่ละภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินไปข้างหน้า และผมเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมไอทีและซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอุตสาหกรรมไอทีเป็นพื้นฐานที่จะส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ท้องถิ่นยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลกด้วย ในปัจจุบันนี้ซอฟต์แวร์เป็นนวัตกรรมที่เปิดกว้าง ซึ่งนั่นหมายความว่าเทคโนโลยีจากทุกค่ายควรจะสามารถทำงานร่วมกันและกันได้ และที่สำคัญการทำงานร่วมกันได้จะส่งเสริมและเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศเราด้วย”
โครงการเพื่อยกระดับศักยภาพคนไทย
หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของไมโครซอฟท์ประเทศไทยคือบทบาทที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในแนวคิด Unlimited Potential ซึ่งเป็นพันธกิจในการทำให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สามารถเป็นเจ้าของได้และเข้าถึงได้สำหรับคนไทย ตัวอย่างโครงการสำคัญภายใต้แนวคิด Unlimited Potential ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยประกอบไปด้วย
• โครงการ Partners in Learning
• โครงการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีชุมชน
• โครงการ Microsoft MultiPoint
• โครงการความร่วมมือ iCafe กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น
• การแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ Imagine Cup
“ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในเรื่องโครงการเพื่อยกระดับศักยภาพของคนไทย ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เพื่อการเรียนรู้ เป็นประเทศที่สองที่ทำโครงการนำร่อง Microsoft MultiPoint ต่อจากประเทศอินเดีย และเป็นประเทศที่สองที่ดำเนินโครงการ ICT Accessibility หรือโครงการเทคโนโลยีเพื่อคนพิการต่อจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเรายังได้รับรางวัล CSR Award จากหอการค้าอเมริกา หรือ AMCHAM อีกด้วย” นางสาวปฐมากล่าวเพิ่มเติม
ทิศทางธุรกิจในปี 2551
ไมโครซอฟท์ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการขยายธุรกิจ และการดำเนินโครงการเพื่อยกระดับศักยภาพคนไทย โดยในปี 2551 ไมโครซอฟท์จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดตัว Windows Server 2008 Visual Studio 2008 และ SQL Server 2008 รวมถึงการสานต่อแคมเปญ The Right PC นี่แหละคอมพิวเตอร์ที่ใช่ นอกจากนี้ศูนย์ Microsoft Innovation Centers หรือ (MIC) ยังมีกำหนดที่จะเปิดให้บริการสำหรับนักเรียน ผู้ประกอบการ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ วงการอุตสาหกรรม และภาครัฐในปีนี้อีกด้วย โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นเป็นที่รวมของแหล่งข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมืออำนวยความสะดวกสำหรับพัฒนาทักษะทางด้านธุรกิจและไอที
นางสาวปฐมากล่าวเสริมว่า “ไมโครซอฟท์ตระหนักดีว่าความต้องการของลูกค้าได้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ลูกค้าของเราไม่ได้ต้องการแค่ผลิตภัณฑ์เป็นกล่องๆ อีกต่อไป จากจุดนี้ทำให้เรายิ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับคู่ค้าและลูกค้าเพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจธุรกิจของเขาอย่างแท้จริง และสามารถให้บริการซอฟต์แวร์ที่ตรงกับความต้องการทางธุรกิจของเขาได้”
“นอกจากนี้เรามีแนวทางที่จะนำแนวคิดในการเข้าถึงความต้องการของแต่ละบุคคลมาใช้ในทุกธุรกิจของเราด้วย และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจของไทย และพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสังคมไทย”
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ