ม.อ.ระดมสมองยกระดับผู้นำการศึกษา จัดประชุมวิชาการสร้างเครือข่ายรับกระแสโลก

คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ. จัดประชุมทางวิชาการนานาชาติครั้งใหญ่ระหว่าง 8-10 เมษายน ที่จังหวัดภูเก็ต ในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี สถาปนามหาวิทยาลัยและคณะศึกษาศาสตร์ โดย ชูประเด็น การจัดการศึกษาในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในกระแสโลกาภิวัตน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ อติศัพท์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยและคณะศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมิสซูรี และองค์กรอื่นๆ จึงได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ในหัวข้อ “Educational Leadership in Cultural Diversity and Globalization” หรือ “ภาวะผู้นำทางการศึกษาในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกระแสโลกาภิวัตน์” ในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2551 ที่ โรงแรม Phuket Graceland Resort & Spa จังหวัดภูเก็ต

สำหรับการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี่, สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อการศึกษาไทย-อเมริกา (Fulbright), UNESCO, SEAMEO, Thailand Cyber University และ สภาคณบดีคระครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การประชุมทางวิชาการนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นการนำเสนอบทบาทผู้นำทางการศึกษา การจัดระบบการศึกษาในการสนับสนุนชุมชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือ การประสานงานและการวางแผนจัดตั้งเครือข่ายการจัดการศึกษาในมิติที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

“ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้จัดงานนี้ขึ้น เพราะคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ. อยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในมิติความมั่นคงของชาติ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีความแตกต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรม และค่านิยม ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ต้องการลักษณะหรือรูปแบบพิเศษในการพัฒนาทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา” รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์กล่าว

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมายังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ น้อยมาก และยังขาดการรับรู้และการสื่อสารกับสังคมภายนอก มีความหวาดระแวงในสวัสดิภาพความเป็นอยู่ รวมทั้งไม่ค่อยยอมรับรูปแบบการพัฒนาที่ภาครัฐกำหนดขึ้น ซึ่งจากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องทุ่มเทความพยายามในการแก้ไขปัญหาตลอดมา ดังนั้น การจัดการประชุมนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในหัวข้อดังกล่าว จึงเป็นการเป็นการแสดงบทบาทและศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม โดยประสานการบริหารจัดการด้านการศึกษาด้วยวิธีบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้สอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลการจัดประชุมทางวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “ภาวะผู้นำทางการศึกษาในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกระแสโลกาภิวัตน์” สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://ed_lead.pn.psu.ac.th