ทิศทางธุรกิจการรับประกันภัยรถภาคบังคับ หรือการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในปี 2551 นั้น แม้จะมีโอกาสขยายตัวตามประมาณการยอดขายรถยนต์ใหม่ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในระดับประมาณ 6% เป็นประมาณ 6.7-6.8 แสนคัน เมื่อเทียบกับยอดขายจำนวน 6.3 แสนคันในปีที่แล้ว หรือขยายตัวติดลบ 7.5% แต่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ปรับลดอัตราเบี้ยประกันสำหรับรถยนต์ 3 ประเภทลง 100 บาท ได้แก่ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน ปรับลดจาก 700 บาทเป็น 600 บาท รถโดยสารไม่เกิน 15 ที่นั่ง ปรับลดจาก 1,200 บาทเป็น 1,100 บาท และรถบรรทุกไม่เกิน 3 ตัน ปรับลดจาก 1,000 บาทเป็น 900 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2551 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแม้ฐานจำนวนรถที่เข้าข่ายต้องทำประกันภาคบังคับจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรถภาคบังคับปรับตัวเพิ่มขึ้นตามในอัตราประมาณ 8-10% แต่ผลจากการปรับลดอัตราเบี้ยประกันดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงน่าจะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 0-2 เป็นประมาณ 11,400-11,600 ล้านบาท
ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 5) ปี 2551 ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2551 และให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันหลังวันประกาศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าผลของกฎหมายได้ทำให้ คปภ. เตรียมการปรับปรุงแบบกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ ให้รวมภาคบังคับไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความสะดวกทั้งกับผู้เอาประกัน และผู้ประสบภัยจากรถ ขณะเดียวกันก็เอื้อให้บริษัทประกันที่มีส่วนแบ่งตลาดด้านการรับประกันภัยรถในลำดับต้น ๆ มีโอกาสขยายตัวและมีฐานะการดำเนินงานที่ดีขึ้นได้ จากการที่มีโอกาสขายประกันภาคบังคับควบคู่ไปกับประกันภาคสมัครใจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนสูญเสียที่เกิดจากการจ่ายสินไหมเฉลี่ยหลังจากรวมกรมธรรม์ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับเข้าด้วยกันแล้ว มีการเกลี่ยให้สมดุลมากขึ้น เนื่องจากอัตราส่วนสูญเสีย (Loss Ratio) ของประกันภาคบังคับเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 47 ต่ำกว่าอัตราการสูญเสียของประกันภาคสมัครใจเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 65