กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ บริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานแถลงข่าว “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคไอพีดีและปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็ก” โดยมีตัวแทนผู้ปกครองและเด็กที่รับการฉีดวัคซีนเข้าร่วมงาน ซึ่งบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้มของเด็กๆ พร้อมทั้งคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่พามาให้กำลังใจกัน ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายวัลลภ สุวรรณดี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย โดยบริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นผู้บริจาควัคซีนให้แก่กรุงเทพมหานคร ตามจำนวนเด็กที่เกิดในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีจำนวน 149 คน ซึ่งเด็กจะได้รับวัคซีน 4 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือนและฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 12 เดือน สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไอพีดี เป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้อยู่ในโปรแกรมการให้วัคซีนปกติแก่เด็กทั่วโรค เนื่องจากเป็นวัคซีนป้องกัน โรคปอดอักเสบในเด็กเล็กที่เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของเด็กทั่วโลก การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อโรคดังกล่าว จะสามารถลดความสูญเสียได้ กรุงเทพมหานครเล็งเห็นความสำคัญและขานรับนโยบายของบริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันโรคสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดให้มี คุณภาพ
“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่อาจจะไม่ได้เกิดในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 แต่ความจำเป็นในการรับวัคซีนไอพีดีนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เด็กนั้นคงพูดไม่ได้ เรียกร้องไม่ได้ เด็กนั้นไม่มีความรู้เรื่องเชื้อสเตปโตคอคคัส นิวโมเนียอี จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ เป็นหน้าที่ของทุกส่วนสังคม เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจ และ กิจกรรมนี้ก็เป็นเหมือนการประกาศว่าเราต้องร่วมมือกัน ขอขอบคุณบริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัดที่เป็นส่วนสำคัญในสาธารณกุศลในครั้งนี้” นายวัลลภกล่าว
ทางด้าน นายสมภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า “สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) หรือที่รู้จักในชื่อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อที่อยู่ในลำคอของคน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จากการศึกษาในเด็กไทยพบเชื้อในลำคอร้อยละ 35 ซึ่งเชื้อนี้มีประมาณ 90 ซีโรทัยป์ สามารถแพร่เชื้อด้วยการสัมผัสละอองฝอยของทางเดินหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อ ไวรัสทางเดินหายใจส่วนบนอยู่ก่อนจะติดเชื้อนี้ได้ง่าย ซึ่งเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคหลายระบบ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้เด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนไอพีดีของกรุงเทพมหานครจะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าวและลดการดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อนิวโมคอคคัสได้อีกด้วย ในการนี้สำนักอนามัย ขอเชิญชวน ผู้ปกครองเด็กที่เกิดในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 นำเด็กมาเข้าร่วมโครงการรับวัคซีนดังกล่าว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร”
นางโสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ยาและนมผงที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก กล่าวว่า “ไวเอทมีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของเด็ก และตระหนักถึงอันตรายของโรคไอพีดีและโรคปอดบวม โครงการนี้จึง ส่งเสริมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้ให้เด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายของบริษัท”
นายธีรวัฒน์– นางคณาวรรณ แสนสมบัติสกุล คุณพ่อคุณแม่ของเด็กชายนิลกาล แสนสมบัติสกุล หรือน้องชินจัง หนึ่งในเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคไอพีดี กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่รู้จักโรคไอพีดีมาก่อน แต่ได้รับการติดต่อจากกรุงเทพมหานครและอธิบายให้ทราบถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน จึงคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมากที่น้องชินจังจะได้รับการป้องกันเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งนี้ และขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร และทางบริษัทไวเอทที่จัดโครงการนี้ขึ้น”
ด้านนางบัวไข หาญยิง คุณแม่ของเด็กชายวันเฉลิมธันวา หาญยิง หรือน้องธันวา ให้ ความเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ ว่า “เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะตนเองและคุณพ่อของน้องธันวา ไม่เคยทราบเกี่ยวกับโรคไอพีดีมาก่อนเลย เพราะในสมุดที่ให้เด็กรับการฉีดวัคซีนที่ได้จากคุณหมอ ก็ไม่มีโรคนี้อยู่ เมื่อได้ทราบถึงความร้ายแรงของเชื้อโรคนี้ ก็อยากให้ลูกได้รับวัคซีน แต่ก็จะติดเรื่อง ค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทางกรุงเทพมหานครและไวเอท มอบโอกาสให้กับน้องในการได้รับวัคซีนป้องกัน”
โดยกรุงเทพมหานครจะฉีดวัคซีนป้องกันโครงปอดอักเสบหรือวัคซีนไอพีดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด ให้แก่เด็กที่เกิดในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 จำนวน 149 คนๆละ 4 ครั้ง ในเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 12 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการรับวัคซีนไอพีดีของเด็กในโครงการฯ นี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความสนับสนุนที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคไอพีดีและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและพิการทางสมองได้