มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ …ปัจจัยบวกต่อตลาดสีทาอาคารในประเทศ

ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศเป็นหลัก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดมา ถึงแม้ว่าปี 2550 ที่ผ่านมาจะประสบปัญหาการชะลออัตราการเติบโตไปบ้าง สาเหตุจากอุตสาหกรรมผู้ใช้สีทาอาคารหลักทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และยังประสบปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้นจนทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างประสบกับความยากลำบากในการบริหารด้านต้นทุนการก่อสร้าง นอกจากนั้น ปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่ลงตัวยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสีสูงขึ้นตาม และยังเป็นสาเหตุของการปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทำให้สินค้าและวัตถุดิบปรับสูงขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ผู้ผลิตสีต้องประสบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนผู้บริโภคถูกลดอำนาจซื้อที่อยู่อาศัยลงรวมทั้งราคาสินทรัพย์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นด้วย จากสาเหตุดังกล่าวทำให้มูลค่าลงทุนภาคก่อสร้างรวมในประเทศในปี 2550 มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยมีมูลค่ารวม 319,527 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 2.7 ส่วนมูลค่าลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนได้หดตัวร้อยละ 2.1 เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ในขณะที่มูลค่าลงทุนก่อสร้างภาครัฐบาลกลับมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราเติบโตร้อยละ 6.1 กิจกรรมภาคก่อสร้างในประเทศที่ชะลอตัวลงนั้นส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ตลาดสีทาอาคารในประเทศซึ่งพึ่งพิงภาคก่อสร้างเป็นหลักเกิดภาวะชะลอการเติบโตลง โดยมูลค่าตลาดสีโดยรวมมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2-3 โดยตลาดสีทาอาคารมีมูลค่าตลาด 12,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดสีโดยรวม

แต่ในปี 2551 นี้ สถานการณ์ต่างๆ เริ่มสดใสขึ้นทั้งปัจจัยด้านการเมืองมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เสร็จสิ้น และที่สำคัญการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศของภาครัฐโดยผ่านมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยเฉพาะมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเคยใช้เป็นมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีต และส่งผลให้ยอดซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังจากการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะเดียวกันในปี 2544 ส่งผลให้ยอดอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลในปี 2545 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.6 และเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ18.0 ในปี 2546 ในขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยในปี 2545 มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.04 และเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 48.7 ในปี 2546 ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างรวมทั้งสีทาอาคารโดยตรง และยังเป็นการกระตุ้นความต้องการด้านการขนส่งและก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในหลายสาขานำไปสู่การกระจายรายได้กลับมาเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจต่อเนื่องไป โดยที่มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดที่กล่าวข้างต้นและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อตลาดสีทาอาคารในประเทศ ได้แก่ 1) มาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมในอัตราร้อยละ 3.3 ของรายรับที่เกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ลดลงเหลือร้อยละ 0.1 2) มาตรการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนจากอัตราร้อยละ 2.0 ของราคาประเมินทางราชการ ลดลงเหลือร้อยละ 0.01 แต่ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.จัดสรรหรือ พ.ร.บ.อาคารชุด และ 3) มาตรการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนการจำนองจากร้อยละ 1.0 ของวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน ลดลงเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับกิจกรรมการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 1 ปีและมีผลบังคับใช้ตามที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 จึงมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2552 ซึ่งผลกระทบของมาตรการภาษีดังกล่าวที่เคยใช้มาแล้วในอดีตนั้นก่อให้เกิดการกระตุ้นมูลค่าการก่อสร้างในประเทศได้อย่างเห็นผล ในช่วงปี 2544 – 2546 ที่ได้มีการใช้มาตรการภาษีในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับมาตรการที่กำลังจะประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวมากกว่าช่วงเวลาอื่น

คาดการณ์ว่าในปี 2551 นี้ มาตรการภาษีของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยตัดสินใจซื้อและโอนสินทรัพย์ได้เร็วขึ้น โดยที่มาตรการดังกล่าวนั้นช่วยผู้บริโภคมีภาระต้นทุนน้อยลงในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ส่วนด้านผู้จัดทำโครงการได้ประโยชน์จากภาษีธุรกิจเฉพาะที่ลดลงทำให้ผู้จัดทำโครงการมีความยืดหยุ่นในการตั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น จึงน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างรวมไปถึงความต้องการวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ผลิตและจำหน่ายสีทาอาคารโดยตรง ทั้งนี้ สภาวะตลาดสีทาอาคารในปี 2551 มีแนวโน้มและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

• ตลาดสีทาอาคารในประเทศ ผู้ผลิตรายใหญ่ส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายเป็นจำนวนมากโดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มทำโครงการ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและช่างสี กลุ่มเจ้าของบ้าน และกลุ่มสถาปนิกและมัณฑนากร โดยมีเป้าหมายตลาดในประเทศเป็นหลัก ในการทำโครงการและรับเหมาก่อสร้างความต้องการใช้สีทาอาคารส่วนใหญ่นิยมสีมีแบรนด์ที่ราคาอยู่ในระดับปานกลางมากกว่าสีราคาแพง ส่วนกลุ่มเจ้าของบ้านสร้างเองมีความต้องการใช้สีทาอาคารแตกต่างกันไปตั้งแต่สีราคาถูกไปจนถึงสีราคาแพง ส่วนสีนำเข้ามีความต้องการไม่มากเนื่องจากมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันการก่อสร้างมีความนิยมหันมาใช้กระจกเป็นผนังตึก และยังมีการใช้วอลเปเปอร์ในการตกแต่งผนังภายใน อีกทั้งยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์สีผสมปูนเพื่อใช้ฉาบอาคารบ้านเรือนแทนการทาสีอาคารซึ่งใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนสีน้ำทาอาคารได้ ดังนั้น ปัจจุบันวิวัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมจึงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้สีทาอาคารในระดับหนึ่ง

ผู้ผลิตและจำหน่ายสีรายใหญ่จำนวน 4-5 รายที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ ได้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศ จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะมีมากขึ้นหลังจากประกาศใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้ผลิตสีบางรายประมาณการว่าจะมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากสองปีก่อนเป็นอัตราเลขสองหลักคือกว่าร้อยละ 10 ในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดสีทาอาคารยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการลดหย่อนภาระภาษีทั้งแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลรวมทั้งการเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าอีกหลายสาย ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้นและส่งผลดีต่อความต้องการสีทาอาคารโดยตรง

จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นตามเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตสีส่วนใหญ่ได้มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ประกอบกับความต้องการสีทาอาคารที่เพิ่มขึ้นและมีการพัฒนาคุณภาพสีให้ดีขึ้น จึงทำให้ราคาสีทาอาคารมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปีนี้

ตลาดสีทาอาคารมีการแข่งขันสูงในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศ โดยมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับสีทาอาคารเพื่อรองรับความต้องการตลาดและมีการจัดกิจกรรมการขาย การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพิ่มตัวแทนจำหน่ายและเพิ่มเครื่องผสมสีอัตโนมัติ เพื่อระบายสินค้าออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้นเป็นการรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ และยังมีการปรับปรุงหน่วยงานด้านการตลาดตลอดจนสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักต่อลูกค้าทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่รวมทั้งการพัฒนาด้านคุณภาพสีเพื่อเพิ่มเงางามทนแดดทนฝนสามารถล้างสิ่งสกปรกออกได้ง่ายยึดติดผนังได้แน่นขึ้นและป้องกันเชื้อราได้ดี นอกจากนั้น ยังมีการออกผลิตภัณฑ์สีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้ส่วนผสมที่ได้มาจากวัตถุดิบจากธรรมชาติแทนการใช้เคมี ผลิตภัณฑ์สีอีกชนิดหนึ่งที่มีการพัฒนาใช้เทฟลอนเทคโนโลยีป้องกันปูนแตกลายงาสามารถปกปิดรอยร้าวของพื้นผิวและไม่จับฝุ่นสะท้อนความร้อนได้ดีคงทนต่อทุกสภาพภูมิอากาศ

• สำหรับปี 2551 นี้มีแนวโน้มว่าภาพรวมตลาดสีทาอาคารในประเทศน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนตามการฟื้นตัวของความต้องการที่อยู่อาศัย โดยประมาณการว่าตลาดสีทาอาคารจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4-5 จากปีก่อน มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 2-3 โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.25 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า มาตรการภาษีของรัฐบาลที่ส่งผลต่อการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นน่าจะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจก่อสร้างและตลาดสีทาอาคารให้ฟื้นตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งต้องรอดูผลที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 หลังจากที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว โดยกำลังซื้อของผู้บริโภคจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้โครงการดำเนินไปได้ด้วยดีมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคก่อสร้างและอุปสงค์ของวัสดุก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม จากสภาวะในปัจจุบันที่ราคาสินทรัพย์ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ปรับสูงขึ้นกว่าในอดีต ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และการที่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างรวมทั้งสีทาอาคารที่ปรับสูงขึ้นนั้นส่งผลกดดันต่อต้นทุนค่าก่อสร้างในปี 2551 นี้ปรับสูงขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 8-10 ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยทำให้ต้องปรับสูงขึ้นตาม ดังนั้น การลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนอง จะช่วยลดต้นทุนของทั้งผู้ซื้อที่อยู่อาศัยด้านต้นทุนการทำธุรกรรมการโอนและการจดจำนองรวมกันประมาณร้อยละ 1.99 – 2.98 ของราคาประเมินทางราชการ และช่วยลดต้นทุนของบริษัทผู้จัดทำโครงการด้านรายจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะได้ประมาณร้อยละ 3.2 ของรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นการชดเชยภาระต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการดำเนินมาตรการลงทุนของภาครัฐในโครงการคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจก่อสร้างรวมถึงตลาดสีทาอาคารขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2551 นี้ ตลาดสีทาอาคารจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4-5 จากปีก่อน§