กล้วยไม้ไทยก้าวไกลในเวทีโลก…การส่งออกปี 2551 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

กล้วยไม้จัดเป็นสินค้าไม้ดอกไม้ประดับซึ่งเป็นที่นิยมสูงในตลาดโลกและเป็นสินค้า Product Champion ที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ของไทยสามารถสร้างรายได้นำเงินเข้าสู่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก และการส่งออกกล้วยไม้ของไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง สำหรับความต้องการกล้วยไม้ตัดดอกยังคงมีมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้สำหรับประดับอาคารสถานที่และใช้ตกแต่งอาหารในธุรกิจบริการ โรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารต่างๆ ทั้งนี้ไทยเองมีจุดแข็งในฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนที่มีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกมาโดยตลอด ขณะที่การผลิตกล้วยไม้ของไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการจากปัญหาต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันที่ทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืช และความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ประเทศคู่ค้านำมาบังคับใช้ในการนำเข้าสินค้าเข้าไปจำหน่ายในประเทศของตน แต่หากภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือผลักดันและเร่งจัดตั้งศูนย์กลางการผลิตและปรับปรุงสายพันธุ์กล้วยไม้ ตลอดจนเป็นศูนย์รวมการซื้อขาย และพัฒนาบุคลากรด้านกล้วยไม้เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจกล้วยไม้ของไทยให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างโอกาสดีในการขยายตลาดส่งออกกล้วยไม้ของไทยไปยังต่างประเทศให้กว้างขวางขึ้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยปี 2551 จะขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 93.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ส่วนตลาดที่ไทยมีศักยภาพส่งออกสูงคือ ตลาดจีนและอาเซียน จากอานิสงส์การเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน

ตลาดการค้ากล้วยไม้
ไทยครองสัดส่วนส่งออกกล้วยไม้อันดับ 1 ของโลก

สำหรับมูลค่าการค้ากล้วยไม้ของโลกปี 2550 สูงกว่า 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,337 ล้านบาท) โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกอันดับหนึ่งของโลกโดยเฉพาะกล้วยไม้เมืองร้อน และในปี 2550 ไทยมีสัดส่วนส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกสูงถึงร้อยละ 70 ของตลาดโลก รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น

การส่งออกกล้วยไม้ของไทยเติบโตดี…ปี 2550 ส่งออกถึง 85.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้ทั้งประเทศในปี 2550 รวม 20,739 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้รวม 20,535 ไร่ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1-2 ต่อปี ทั้งนี้จังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกกล้วยไม้ในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาญจนบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรีและชลบุรี เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีทำเลเหมาะสมในการปลูกกล้วยไม้ทั้งสภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำที่มีสภาพเหมาะสม การคมนาคมขนส่งที่สะดวก สำหรับปริมาณผลผลิตกล้วยไม้ของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 45,000 ตัน โดยมีการขยายตัวของผลผลิตต่อปีร้อยละ 1-2 โดยในปี 2550 ไทยมีปริมาณการผลิตกล้วยไม้รวม 45,937 ตัน ขยายตัวจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 1.5

สำหรับตลาดกล้วยไม้สามารถแบ่งได้เป็นความต้องการใช้ภายในประเทศสัดส่วนร้อยละ 50 สัดส่วนที่เหลือร้อยละ 50 ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ในปี 2550 ไทยมีการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้คิดเป็นมูลค่า 85.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากพิจารณาสัดส่วนการส่งออกสามารถแบ่งเป็นมูลค่าส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกสัดส่วนร้อยละ 86 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) รองลงมาเป็น สกุลม็อคคาร่า อะแรนด้า อะแรนเธอรา อะแรคนิส ออนซิเดียม แวนด้า และซิมบิเดียม เป็นต้น และสัดส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 14 เป็นการส่งออกต้นกล้วยไม้ และส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ Phalaenopsis และ Cymbidium ซึ่งหากพิจารณามูลค่าการส่งออกกล้วยไม้โดยรวมของไทยยังคงเติบโตโดยลำดับ สำหรับปี 2551 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้รวมกัน 13.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกับปีก่อนร้อยละ 15.7

การส่งออกกล้วยไม้ของไทยตลาดหลักอยู่ในญี่ปุ่น
ปัจจุบันกล้วยไม้ตัดดอกของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญของไทย มีสัดส่วนหลักคือ ญี่ปุ่นร้อยละ 31.9 รองลงมาเป็น ตลาดสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 21.0 สหภาพยุโรปร้อยละ 15.8 จีนร้อยละ 7.6 กลุ่มอาเซียนร้อยละ 3.0 ที่เหลือร้อยละ 20.7 เป็นตลาดอื่นๆ
สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การส่งออกยังคงขยายตัวในทุกตลาด โดยในปี 2550 การส่งออกกล้วยไม้มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีนและอาเซียน เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 30 สำหรับปี 2551 (ม.ค.-ก.พ.) มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยมีการขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 29.0 จีนร้อยละ 10.0 สหรัฐฯร้อยละ 8.7 สหภาพยุโรปร้อยละ 5.3 และตลาดอื่นๆ ร้อยละ 17.9

ตลาดกล้วยไม้ที่สำคัญของโลก
สำหรับประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนรายสำคัญในตลาดโลก อาทิ ไทย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น ส่วนดอกกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆ ประเทศที่ส่งออกมาก คือ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ส่วนการส่งออกต้นกล้วยไม้ ประเทศที่มีส่งออกต้นกล้วยไม้มากที่สุดในโลกคือ ไต้หวัน รองลงมาเป็น ไทย อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ตลาดการค้าดอกกล้วยไม้ระดับโลก ประกอบด้วย ตลาดญี่ปุ่น นับเป็นตลาดนำเข้ากล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากมีความต้องการใช้กล้วยไม้ในงานเทศกาลต่างๆ ของประเทศตลอดทั้งปี โดยมีมูลค่าการนำเข้าดอกกล้วยไม้จากทั่วโลกสูงประมาณ 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการนำเข้าจากไทยเป็นสัดส่วนหลักร้อยละ 50 รองลงมาเป็น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตลาดสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมันนี อังกฤษ ออสเตรีย และเบลเยี่ยม เป็นต้น โดยสัดส่วนการนำเข้าจากไทยร้อยละ 50 ที่เหลือนำเข้าจากในกลุ่มสหภาพยุโรปเองโดยนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก ตลาดสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำเข้ากล้วยไม้เมืองร้อนจากไทย ส่วนกล้วยไม้พันธุ์อื่นๆ ส่วนใหญ่นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เป็นต้น ตลาดเอเชีย สำหรับประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่ไทยสามารถขยายตลาดได้อีกมากและมีศักยภาพในการทำตลาดสูง คือ จีน ทั้งนี้ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ไทยไปจีนมีการขยายตัวสูงถึง 2 เท่าจากปี 2548 จากผลของการเจรจาลดภาษีสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับจีนภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนกับจีนซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2547 เป็นต้นไป โดยทยอยลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ภายในต้นปี 2549 ส่งผลให้ความต้องการสินค้ากล้วยไม้ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดอาเซียน สำหรับตลาดที่มีศักยภาพในกลุ่มนี้คือ เวียดนาม ซึ่งมีความต้องการดอกไม้ประดับภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งเพื่อการส่งออกและเพื่อจำหน่ายภายในประเทศเอง ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มความต้องการนำเข้ากล้วยไม้จากไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัจจุบันภาครัฐบาลของเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการส่งออกดอกไม้นานาชนิดทั้งดอกกุหลาบ ดอกเบญจมาศและดอกกล้วยไม้ให้ได้จำนวน 1 พันล้านดอกภายในปี 2553

ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงของกล้วยไม้ไทย
ปัจจัยสนับสนุน

ไทยมีจุดแข็งจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้สกุลหวายเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ผู้ผลิตกล้วยไม้ของไทยมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในตลาดโลก อีกทั้งมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของกล้วยไม้ที่สามารถผลิตเป็นต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ อีกทั้งเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ของไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยวกล้วยไม้ที่ทันสมัย ตลอดจนมีการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ได้เองอย่างต่อเนื่อง

ภาครัฐให้การสนับสนุนการส่งออกกล้วยไม้อย่างจริงจัง ทั้งนี้รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกล้วยไม้ซึ่งนับเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญของโลก และมีมูลค่าการซื้อขายขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นรัฐบาลโดยความร่วมมือกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานเอกชนตลอดจนสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเร่งรัดผลักดันโครงการส่งออกกล้วยไม้ของไทยให้มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 10,000 ล้านบาทโดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2550-2553

ปัจจัยเสี่ยง
แม้มีปัจจัยบวกจากการพัฒนาธุรกิจกล้วยไม้ของไทยหลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ตลาดกล้วยไม้ของไทยยังคงเผชิญอุปสรรคสำคัญทั้ง ปัญหาด้านการผลิต ทั้งจากราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนการเพาะปลูกกล้วยไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการขยายพื้นที่เพาะปลูกซึ่งยังคงทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากที่ดินมีราคาสูงขึ้น ส่วนอีกประเด็นคือ ปัญหาด้านการตลาด โดยเฉพาะปัญหาการผลิตกล้วยไม้ให้ได้ตรงตามมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะปัญหาการตรวจสอบสารเคมีตกค้างที่ใช้ในการรมยากำจัดแมลงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล ทั้งนี้สามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของประเด็นดังกล่าวเป็นดังนี้

ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนราคาเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรและค่าระวางขนส่ง ทั้งราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและสารเคมี และปัญหาต้นทุนค่าขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการขนส่งดอกกล้วยไม้ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศ ทำให้ผู้ส่งออกกล้วยไม้ต้องมีต้นทุนค่าระวางในการขนส่งสินค้าสูงขึ้น สำหรับแนวทางที่เหมาะสมที่รัฐควรเร่งแก้ไขคือ การเร่งพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการระบบ Logistics ของกล้วยไม้ที่ส่งออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรมีการกำหนดค่าระวางที่เหมาะสมและมีการจัดหาพื้นที่ระวางเพื่อให้เพียงพอและสะดวกในการขนส่งกล้วยไม้ไปยังต่างประเทศ

ปัญหาการขยายพื้นที่เพาะปลูกกล้วยไม้ยังทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากราคาที่ดินมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งเกษตรกรที่จะเข้ามาทำสวนกล้วยไม้ต้องมีความรู้ความชำนาญในการเพาะปลูกเป็นอย่างดี ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมประชาสัมพันธ์การทำสวนกล้วยไม้ที่ถูกหลักตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเร่งพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพผลผลิตกล้วยไม้ให้เพิ่มขึ้น

ปัญหาความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป จากมาตรฐานการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง Methyl Bromide ที่ใช้ในการรมยาเพื่อกำจัดแมลงโดยเฉพาะเพลี้ยไฟซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของสวนกล้วยไม้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรเร่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยการจัดตั้งเขตการผลิตที่ปลอดจากเพลี้ยไฟ และมีการตรวจรับรองสวนกล้วยไม้ก่อนการส่งออก รวมทั้งการรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาความเสียหายของผลผลิตกล้วยไม้ได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนในการผลักดันการสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ

ปัญหาความต้องการดอกกล้วยไม้ในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่ปัจจุบันไทยเองยังมีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้น้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดโลก และการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ชนิดใหม่ต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปีจึงจะสามารถสรุปความต้องการของตลาดได้ ทำให้ไทยมีโอกาสเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศอื่น ๆ ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม คือภาครัฐโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดสร้างศูนย์เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้อย่างจริงจัง ล่าสุดสมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทยกำลังมีความพยายามเสนอให้ภาครัฐเร่งพิจารณานิคมกล้วยไม้เพื่อการส่งออกโดยเร่งคัดเลือกพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรีที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นนิคมกล้วยไม้สำหรับส่งออกบนพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กล้วยไม้สกุลต่างๆ ให้มีสีสันแปลกใหม่ตรงกับความต้องการของตลาดส่งออกโดยเฉพาะเนื่องจากกล้วยไม้เป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง

บทสรุป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2551
มูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 93.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดหลักยังคงอยู่ในตลาดญี่ปุ่น รองลงมาเป็น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ส่วนตลาดที่มีน่าสนใจและมีศักยภาพสูงโดยเฉพาะในตลาดจีนและตลาดอาเซียน ซึ่งได้รับผลดีจากการทยอยลดภาษีสินค้าเกษตรตามความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจของตลาดกล้วยไม้ไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ไทยมีปัจจัยสนับสนุน จากการที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้เกษตรกรไทยมีความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีความร่วมมือกันของภาครัฐทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานเอกชนตลอดจนสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเป้าหมายการส่งออกกล้วยไม้ให้มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 10,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปี

อย่างไรก็ตาม การผลิตกล้วยไม้ของไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการทั้งปัญหาด้านการผลิตและด้านการตลาด โดยมีอุปสรรคสำคัญจากปัญหาราคาปัจจัยการผลิตกล้วยไม้และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐมีความพยายามพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเร่งกำหนดค่าระวางการขนส่งและจัดหาพื้นที่ระวางอย่างเหมาะสมและเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการขนส่งกล้วยไม้ของไทยไปยังต่างประเทศ และภาครัฐมีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในการเพาะปลูกกล้วยไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามหลักการสากลเพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า โดยความพยายามร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชนในการผลักดันและยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชของสินค้ากล้วยไม้ของไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก รวมทั้งเร่งจัดตั้งโครงการศูนย์กลางกล้วยไม้แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนเป็นแหล่งการซื้อขายกล้วยไม้ รวมทั้งเป็นแหล่งที่รวบรวมและพัฒนาบุคลากรด้านกล้วยไม้เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีเพื่อรองรับความต้องการกล้วยไม้ของตลาดต่างประเทศที่นับวันจะขยายตัวขึ้น ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจกล้วยไม้ของไทยให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไปในระยะยาว และเป็นสร้างโอกาสดีให้แก่การส่งออกกล้วยไม้ของไทยในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศให้กว้างขวางขึ้น