บริเวณเกาะเก่ารัตนโกสินทร์ เป็นเสมือนศูนย์กลางของจิตวิญญาณของคนไทยที่รวบรวมอารยธรรมโบราณในสมัยก่อนไว้มากมาย จึงถือเป็นเมืองมรดกที่มีชีวิตของคนไทย (The City of Living Heritage) ท่ามกลางวิวัฒนาการ และความก้าวล้ำนำสมัยรอบด้าน นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ “มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงกลิ่นอายวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ด้วยการมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชมได้คิด ได้เรียนรู้ และเกิดการตั้งคำถามด้วยตนเองผ่านสื่ออินเตอร์แอคทีฟและการเล่าเรื่องด้วยตัวละคร โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้มีโอกาสไปเยือน มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่สังคมการเรียนรู้แบบเดิมๆ ของไทย เพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ โดย คุณ “จุ้ย” ศุ บุญเลี้ยง ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “เสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ การนำเรื่องราวในอดีตมานำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านสื่อใหม่ๆ จึงทำให้การชมพิพิธภัณฑ์ไม่น่าเบื่อ อย่างที่คนทั่วไปคิด อีกทั้งยังไม่ได้เป็นการยัดเยียดความรู้ แต่ให้ผู้ชมได้คิด และเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่าจะช่วยเสริมองค์ความรู้นอกระบบการศึกษาไทย และไม่ได้จำกัดแค่เพียงคนที่ต้องการความรู้เท่านั้น เพราะหากใครที่ต้องการความบันเทิงก็สามารถไปสนุกกับกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้”
ในขณะที่ คุณสมเถา สุจริตกุล หนึ่งในคนไทยที่มีผลงานด้านการเขียน และดนตรีเป็นเป็นที่ยอมรับใน แวดวงสากล แสดงทัศนะว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่ระบบการเรียนรู้ของประเทศไทย โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับสิ่งที่จัดแสดงจึงทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงเกี่ยวพันยิ่งขึ้น ซึ่งผมอยากเชิญชวนให้เด็กไทยมากันเยอะๆ โดยให้ครูเป็นผู้ตั้งคำถามให้เด็กไปสืบหาข้อมูลด้วยตนเอง และนำไปสู่การถกโต้แย้งกันเกี่ยวกับความเป็นไทย ความเป็นมาของประเทศไทย รวมถึงอะไรทำให้เราเป็นคนไทย ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารักกันมากขึ้น และปัญหาความแตกต่างของเชื้อชาติก็จะลดลง นำไปสู่สังคมที่สงบสุขที่ทุกคนสามัคคีกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการปลูกฝังนิสัยใหม่ให้เด็กไทย กล้าคิด กล้าถามมากขึ้น”
และเด็กรุ่นใหม่มากความสามารถอย่าง คุณทฤษฎี ณ พัทลุง อัจฉริยศิลปินรุ่นเยาว์ ก็แสดงความรู้สึก ชื่มชมว่า “รู้สึกดีใจแทนเด็กไทยที่มีสถานที่ดีๆ ที่เปิดโอกาสให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างจริงใจ คือ กล้าที่จะให้เราค้นหาความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยตนเองอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่บิดเบือน หรือบิดบังอะไรทั้งสิ้น”
ในส่วนของผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างอย่าง คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ก็กล่าวไว้ว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือพิพิธภัณฑ์ทางเลือกซึ่งเป็นงานในอุดมคติของนักประวัติศาสตร์ คือ เป็นสถานที่ที่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงและรับรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของประเทศด้วยตนเอง จึงเป็นการฉีกจากกรอบความรู้ทางประวัติศาสตร์เดิมๆ ที่เขียนไว้ในบทเรียน เรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบปลายเปิด ซึ่งเหมาะสำหรับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน เยาวชนทั่วไป ครู ครอบครัว และนักท่องเที่ยว ซึ่งเราใช้เวลาถึง 3 ปีในการสร้าง”
ทั้งนี้ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรในอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 3,000 ตารางเมตร มีชื่อว่า “เรียงความประเทศไทย” ได้มีการแบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 17 ห้อง ได้แก่ ห้องเบิกโรง (Immersive Theater) ซึ่งเป็นการแนะนำตัวละครทั้งเจ็คที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิดของประเทศไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีการฉายภาพยนตร์แบบ Watch Out บนจอรุ้งที่ต่อกันยาวถึง 5 จอ ต่อด้วยห้องไทยแท้ (Typically Thai) ที่จะจุดประกายให้ผู้ชมได้คิดว่าสิ่งที่เราเห็น ที่เราเชื่อว่าเป็นไทย แท้จริงแล้วเป็นไทยแท้หรือไม่
จากนั้นจึงเป็นการเดินทางย้อนกลับไปสู่อดีตใน ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ (Introduction to Suvarnabhumi) และห้องสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) ซึ่งย้อนเล่าถึงดินแดน “สุวรรณภูมิ” ซึ่งชาวโลกเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความมั่งคั่งทางทิศตะวันออกของอินเดีย เนื่องจากการเป็นศูนย์กลางของการทำมาค้าขาย อันนำไปสู่การการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และความเชื่อ รวมถึงศาสนาพุทธ ที่มีจัดแสดงอย่างเป็นสัดเป็นส่วนในห้องพุทธิปัญญา (Buddhism)
และก้าวเข้าสู่ยุคกรุงศรีอยุธยาใน ห้องกำเนิดสยามประเทศ (The Founding of Ayutthaya) ห้อง สยามประเทศ (Siam) และห้องสยามยุทธ์ (The War Room) ที่ถ่ายทอดถึงความเป็นมาของอาณาจักร กรุงศรีอยุธยา ความเจริญทางการค้าและสถาปัตยกรรม ตลอดจนการทำสงครามขยายอาณาเขต
จากนั้นจึงย้อนกลับลงมาเพื่อให้เข้าใกล้ปัจจุบันยิ่งขึ้น ใน ห้องแผนที่ความยอกย้อน บนแผ่นกระดาษ (The Map Room) , ห้องกรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา (Bangkok: New Ayutthaya) และห้องชีวิตนอกกรุงเทพฯ (Village Life) ที่ให้ผู้ชมได้ค้นหาว่ากรุงเทพฯ และอยุธยามีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันตรงไหน อย่างไร เพราะอะไร และการเกษตรกรรมมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมานานเพียงใด
ต่อมาเป็นห้องแปลงโฉมสยามประเทศ (Changes) ห้องกำเนิดประเทศไทย (Politics & Communications) และห้องสีสันตะวันตก (Thailand and the World) ที่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยครั้งสำคัญ และบอกเล่าถึงการเลือกรับปรับใช้วัฒนธรรมต่างชาติ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นไทย
จนกระทั่งมาถึงห้องเมืองไทยวันนี้ (Thailand Today) ที่เป็นเสียงของคนไทยพูดถึงความเป็นไทย และห้องมองไปข้างหน้า (Thailand Tomorrow) ที่เปิดให้ประชาชนผู้เข้าชมแสดงความคิดเห็นว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในเมืองไทย และอยากทำอะไรเพื่อสังคมไทย โดยใช้เทคโนโลยี “Shadow Interactive” เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และปิดท้ายด้วยห้อง (ของแถม) ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่ผู้ชมจะได้เห็นถึงความปราดเปรื่องทางด้านสถาปัตยกรรมของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ
นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนเมษายน พิพิธภัณฑ์ยังจัดให้มีกิจกรรมพิเศษที่มีชื่อว่า “พิพิธพาเพลิน ตอน ชีวิตก่อนสุวรรณภูมิ” (Plearn Museum: Life Before Suvarnabhumi) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ถึงวิธีการดำรงชีวิตของคนในสมัยก่อนสุวรรณภูมิด้วยตนเอง
พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.) กล่าวแสดงเจตนารมณ์ว่า “เราหวังว่าพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษา นอกห้องเรียน และเป็นที่สำหรับทุกคนในการค้นหาตัวตนและความเป็นมาของชาติ พร้อมปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนชาวไทยเป็นผู้รักการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่พิพิธภัณฑ์ในสังคมแห่งการเรียนรู้สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยทัดเทียมนานาประเทศ”
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2551 เป็นต้นไป โดยจะเปิดทำการทุกวันอังคาร – อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ตามวันและเวลาดังกล่าว หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มิวเซียมสยาม สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 02-622-2599 หรือเว็บไซต์ www.ndmi.or.th