• องค์กรด้านซอฟต์แวร์ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมต้านซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
• บีเอสเอเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยผ่านทางเอทีเอสไอ
• เอทีเอสไอได้ประโยชน์จากความรู้ ความชำนาญ และมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากลของบีเอสเอ
องค์กรชั้นนำด้านซอฟต์แวร์สององค์กรลงนามในความร่วมมือเพื่อพัฒนาวงการซอฟต์แวร์ไทย โดยร่วมกันสร้างความรับรู้ว่าจำเป็นต้องมีระบบปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่งเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระยะยาว
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรระดับสากลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเสริมสร้างโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ในความพยายามให้เกิดการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย
“เรายินดีที่ได้ร่วมกับบีเอสเอ ในการพยายามส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมไอทีไทย” สมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยกล่าว “การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยและมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ หากร่วมมือกันเอทีเอสไอและบีเอสเอสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยได้”
บันทึกความเข้าใจนี้เรียกร้องให้มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเอทีเอสไอและบีเอสเอเพื่อสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และสนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำมาซึ่งเงินลงทุนจากต่างประเทศ และกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีไทย
อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยคงตัวอยู่ที่ 80% มาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืบหน้าไปมากในการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและส่งผลให้สามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
“อุตสาหกรรมไอทีของไทยสามารถเติบโตได้ดีกว่านี้ หากเอาจริงเอาจังกับการรณรงค์ส่งเสริมการไม่ละเมิด
ลิขสิทธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ดี อย่างไรก็ตาม การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นปัญญาที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ประเทศเกิดศักยภาพสูงสุด บีเอสเอยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นเอทีเอสไอมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสนับสนุนกิจกรรมต้านการละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้” โรแลนด์ ชาน ผู้อำนวยการด้านการตลาดของบีเอสเอประจำภูมิภาคเอเชียกล่าว
ในบันทึกความเข้าใจ มีหลายข้อที่กล่าวถึงการร่วมกันปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึง
• การที่เอทีเอสไอตกลงว่าจะดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามกฏหมายลิขสิทธิ์ของไทย และให้ความเคารพต่อทรัพย์สินทางปัญญา
• การที่บีเอสเอตกลงว่า จะพิจารณาสมาชิกของเอทีเอสไอที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของบีเอสเอเป็นกรณีพิเศษ
• เอทีเอสไอพร้อมส่งเสริม และสนองรับนโยบายหลักๆของบีเอสเอ
บริบทสำคัญอีกข้อหนึ่งในบันทึกความเข้าใจนี้คือ การที่บีเอสเอตกลงให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management หรือ SAM) แก่สมาชิกของเอทีเอสไอ การบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกธุรกิจปัจจุบัน แนวคิดนี้เน้นการนำหลักการ กระบวนการ เทคโนโลยี และบุคลากรในองค์กรมาทำงานร่วมกันเพื่อให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุดจากซอฟต์แวร์ที่มี
“SAM เป็นแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่สำคัญ สามารถนำมาใช้จัดการปัญหาด้านการเงิน ความปลอดภัย และกฏหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้งานซอฟต์แวร์ได้” ชานกล่าวเสริม “การลงทุนด้านไอทีนั้นค่อนข้างสูงสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ผู้บริหารจะมองหาหลักฐานมายืนยันความคุ้มค่าในการลงทุน SAM แนะแนวทางในการบริหารจัดการอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยสูงสุด”
บีเอสเอเป็นผู้นำในการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์มาโดยตลอด โครงการต่างๆที่บีเอสเอริเริ่มขึ้นเน้นไปที่การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องการบริหารจัดการและปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การค้าและพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ รวมทั้งปัญหาต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับอินเตอร์เน็ต บีเอสเอดำเนินโครงการในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและ ถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาล ของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี ผ่านโครงการเพื่อการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษา ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การค้าและอีคอมเมิร์ส สมาชิกบีเอสเอ รวมถึง อโดบี, อาจิเลนท์ เทคโนโลยี, อัลเทียม, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, บีอีเอ ซิสเต็มส์, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ, คาร์เดนซ์ ดีไซน์ ซิสเต็มส์, ซิสโค ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, คอเรล, เดล, อีเอ็มซี, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี), เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, ไอนัส เทคโนโลยี, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, ไมเจ็ท, มินิแทบ, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, เคิร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, เอสเอพี, ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม ซอฟต์แวร์, โซลิดเวิร์กส์, เอสพีเอสเอส, ไซเบส, ไซแมนเทค, ไซนอปซิส, เทคล่า, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์, เดอะ แมธเวิร์กส์ และ เทรนด์ ไมโคร สมาชิกบีเอสเอในประเทศไทยคือไทย ซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์
เกี่ยวกับเอทีเอสไอ
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ เอทีเอสไอ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกประเภทองค์กรมากกว่า 200 องค์กร