โอกาสของธุรกิจไทย … เปิดโลกสู่การลงทุนในต่างประเทศ

การแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมเช่นนี้ก็นำมาสู่โอกาสทางธุรกิจที่กว้างไกลและไร้พรมแดน จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยที่จะรุกออกไปแสวงหาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน มีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากขึ้น และอาจรวมถึงบริษัทขนาดกลางบางราย หันออกไปลงทุนในต่างประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทที่ออกไปตั้งรกรากธุรกิจในต่างประเทศในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจก่อสร้าง หลายบริษัทประสบความสำเร็จอย่างมากและมียอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนตั้งเป้าหมายโครงสร้างรายได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าไว้ว่ารายได้จากหน่วยธุรกิจในต่างประเทศจะมีสัดส่วนสูงขึ้นมาถึงครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของบริษัท

ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยมีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากตัวเลขที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนในทุนเรือนหุ้นในต่างประเทศสุทธิ (Net Flow of Thai Equity Investment Abroad) ระหว่างปี 2546-2550 มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 117.9 พันล้านบาท หรือมีมูลค่าเฉลี่ย 23.6 พันล้านบาทต่อปี เทียบกับมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2545 รวมทั้งสิ้น 120.3 พันล้านบาท หรือมีมูลค่าเฉลี่ย 4.8 พันล้านบาทต่อปี จากสถิติดังกล่าว สังเกตเห็นได้ว่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศในช่วง 5 ปีล่าสุดนั้นมีมูลค่าเกือบจะเท่ากับการลงทุนที่สะสมมาตลอดระยะ 25 ปีจนถึงปี 2545

สาเหตุที่ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเป้าหมายเพื่อต้องการเข้าถึงตลาดที่เติบโตสูงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม (ซึ่งในปี 2550 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 11.4 ร้อยละ 9.2 และร้อยละ 8.5 ตามลำดับ) ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมารั้งอันดับท้ายในภูมิภาค (โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2550) นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทยยังมีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรเช่น วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก เป็นต้น รวมทั้งบางกรณียังช่วยให้หลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้า หรือได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้า จากการเข้าไปผลิตสินค้าในบางประเทศ ซึ่งมักเห็นได้บ่อยในอุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกัน ในภาวะปัจจุบันที่ธุรกิจไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้น ต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นจากค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาคู่แข่ง และค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 25 นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ทำให้สินค้าที่ผลิตจากไทยแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ยากลำบากขึ้นในด้านราคา ทำให้เกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตสินค้า เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ในกลางปี 2550 ที่ผ่านมา ปัจจุบันการออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศจึงนับเป็นการปรับตัวในเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด รวมทั้งเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่เปิดกว้างขึ้น

ประเทศที่ไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุดในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน พม่า เวียดนาม สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาวและกัมพูชา แต่ในระยะหลังการลงทุนในพม่าและฟิลิปปินส์ลดลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาถึงการลงทุนในต่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์บุกเบิกเข้าไปจัดตั้งธุรกิจ (Greenfield Venture) และมีอำนาจบริหารจัดการอย่างแท้จริงแล้ว ประเทศเป้าหมายสำคัญที่ธุรกิจไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุน ได้แก่ จีน อินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วยกัมพูชา (C) ลาว (L) พม่า (M) และเวียดนาม (V) ส่วนประเทศเอเชียตะวันออก เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ การลงทุนมักมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปถือหุ้นบางส่วนในกิจการ (Share Participation) หรือเข้าซื้อกิจการทั้งหมด (Acquisition)

ปี 2550 ไทยลงทุนในต่างประเทศ 40,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับในปี 2550 การลงทุนในทุนเรือนหุ้นในต่างประเทศสุทธิมีมูลค่าประมาณ 40.29 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.6 จากมูลค่า 25.40 พันล้านบาทในปี 2549 และเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ เมื่อพิจารณาจากประเทศและสาขาธุรกิจแล้ว คาดว่ามากกว่าครึ่งเป็นการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าไปถือหุ้นหรือครอบครองกิจการ (เช่นเงินลงทุนที่ไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือสหราชอาณาจักร) ซึ่งถ้าไม่รวมการลงทุนในลักษณะดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า ในกรณีการลงทุนเพื่อเข้าไปจัดตั้งหรือขยายธุรกิจนั้น ประเทศที่ไทยมีการลงทุนสูงสุดในปี 2550 คือ จีน ลาว เวียดนาม และอินเดีย แต่ประเทศที่ไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และลาว ทั้งนี้ ในปี 2550 ไทยมีการลงทุนในทุนเรือนหุ้นในจีนมูลค่า 2.47 พันล้านบาท แต่ลดลงร้อยละ 16 จากปีก่อน ส่วนประเทศที่ไทยลงทุนเพิ่มขึ้นมาก คือ ลาว มีมูลค่า 2.37 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 371 จากปีก่อน เวียดนามมีมูลค่า 1.92 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6,000 แต่นั่นเป็นเพราะปีก่อนหน้าการลงทุนของไทยในเวียดนามมีระดับต่ำกว่าปกติมาก ส่วนอินเดีย มีการลงทุนมูลค่า 1.10 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10,000
สาขาธุรกิจที่มีการลงทุนสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารและน้ำตาล มีมูลค่า 9.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากปีก่อน ธุรกิจบริการ มูลค่า 6.19 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่มีการลงทุนสุทธิเป็นลบในปีก่อน ธุรกิจด้านการลงทุน มูลค่า 5.33 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11,000 สถาบันการเงิน มูลค่า 3.94 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 2.49 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 45 นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างก็มีการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 200 จากความสนใจลงทุนในโครงการห้างค้าปลีก โรงแรม นิคมอุตสาหกรรม และการเข้าไปรับงานก่อสร้างในต่างประเทศ

จับตาทุนไทยหลั่งไหลไปยังเวียดนาม อินเดียและลาว
หากมองถึงประเทศเป้าหมายที่ธุรกิจไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในขณะนี้ ที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และอินเดีย ซึ่งถ้าพิจารณาถึงสาขาธุรกิจสำคัญที่ไทยเข้าไปลงทุนในระยะที่ผ่านมา ได้แก่

เวียดนาม : ไทยมีการลงทุนในเวียดนามมากในสาขา เกษตรกรรม ป่าไม้ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม และการท่องเที่ยว ความสนใจของธุรกิจไทยที่มีต่อเวียดนามในขณะนี้ครอบคลุมกว้างขวางในหลายธุรกิจ เนื่องจากเวียดนามมีศักยภาพสูงที่บริษัทในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูงจะโยกย้ายฐานการผลิตจากไทยเข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนามเพื่ออาศัยประโยชน์จากต้นทุนแรงงานราคาถูก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่เติบโตสูงของเวียดนามก็ทำให้ตลาดผู้บริโภคขยายตัวสูงอย่างรวดเร็ว ขณะที่การท่องเที่ยวของเวียดนามก็มีความโดดเด่นมากขึ้น จึงทำให้มีธุรกิจในภาคบริการในสาขาใหม่ๆ เช่น ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย และโรงแรม สนใจเข้าไปลงทุนมากขึ้น ขณะที่การเติบโตของภาคก่อสร้างก็ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

ลาว : ไทยเป็นหนึ่งประเทศที่เข้าไปลงทุนในลาวมากที่สุด โดยสาขาธุรกิจที่สำคัญได้แก่ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การเกษตร ป่าไม้ เหมืองแร่ และการก่อสร้าง ซึ่งมูลค่าการลงทุนในปี 2550 ที่สูงมากนั้น คาดว่าส่วนสำคัญมาจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ธุรกิจไทยได้เข้าไปลงทุนและดำเนินการก่อสร้าง โดยนอกจากโครงการน้ำงึม 1 ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ขณะนี้มีการก่อสร้างโครงการน้ำงึม 2 และกำลังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการน้ำบาก 1 น้ำบาก 2 และโครงการไชยะบุรี ซึ่งแต่ละโครงการมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ธุรกิจที่น่าสนใจในลาว นอกเหนือจากธุรกิจรูปแบบเดิมของไทยที่เข้าไปลงทุนในลาวเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจเช่น ธุรกิจการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น คอนแทค ฟาร์มมิ่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางเศรษฐกิจ GMS (Greater Mekong Subregion) ได้เปลี่ยนลาวจาก Land lock ให้เป็น Land link โดยเป็นทางเชื่อมไทยและเวียดนามผ่านเส้นทางหมายเลข 9 หรือ R9 และเชื่อมโยงไทยและจีนตอนใต้ผ่านเส้นทางหมายเลข 3A หรือ R3A

อินเดีย : ที่ผ่านมาไทยยังมีการลงทุนของไทยในอินเดียค่อนข้างน้อย ธุรกิจไทยเพิ่งจะมาให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในอินเดียกันมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยสาขาธุรกิจที่มีการลงทุนมาก ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และธุรกิจก่อสร้าง นอกเหนือจากการธุรกิจที่ไทยเข้าไปลงทุนในอินเดียบ้างแล้วนี้ ธุรกิจอื่นๆที่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการด้านบันเทิง เช่น แอนิเมชั่น เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องระวัง
การลงทุนในต่างประเทศเป็นช่องทางในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ย่อมมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทไทยขาดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และความแตกต่างของปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศ ปัญหาที่นักลงทุนไทยมักประสบจากการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ที่สำคัญมีดังนี้

กฎระเบียบและนโยบายของรัฐ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมาย ความแตกต่างของกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ความล่าช้าของขั้นตอนการติดต่อหรือการขออนุมัติกับหน่วยงานของรัฐ การคอร์รัปชั่น และระบบกฎหมายที่คุ้มครองนักลงทุนยังไม่ดีพอ ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมหากเกิดคดีความกับธุรกิจหรือองค์กรของท้องถิ่น เป็นต้น

ระบบการดำเนินธุรกิจภายในองค์กร มักประสบปัญหาเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในการทำธุรกิจ ผู้ร่วมทุน การบริหารงานด้านบุคคล และการบริหารจัดการอื่นๆ ซึ่งความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษาบางครั้งเป็นประเด็นอ่อนไหว หรือทำให้มีช่องว่างในการสื่อสาร นอกจากนี้ บริษัทแม่ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรไทยในระดับผู้บริหาร วิศวกร และหัวหน้าช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่การเงินหรือบัญชี ที่จะเข้าไปดูแลหน่วยธุรกิจในต่างประเทศ

การบริหารซัพพลายเชน ในการทำธุรกิจในต่างประเทศนั้น การขาดประสบการณ์และความรู้ในการต่อรองเจรจาธุรกิจ เงื่อนไขในการจัดซื้อ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาคุณภาพและความซื่อตรงของซัพพลายเออร์ ดีลเลอร์ หรือผู้จัดจำหน่าย ขณะเดียวกัน การผูกขาดในระบบโลจิสติกส์ก็อาจทำให้เป็นต้นทุนสำหรับธุรกิจ

การตลาดและการแข่งขัน สำหรับธุรกิจที่เข้าไปลงทุนเพื่อขยายตลาดภายในประเทศ นอกจากความเข้าใจถึงพฤติกรรมและคุณลักษณะเฉพาะของผู้บริโภคในประเทศนั้นแล้ว ในบางประเทศโครงสร้างตลาดมีความซับซ้อน จนกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดสำหรับธุรกิจต่างชาติ ในด้านการแข่งขัน ความรุนแรงคงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนคู่แข่งในตลาด เช่น ในประเทศจีนการแข่งขันในแทบธุรกิจมีความรุนแรงสูง เพราะผู้ประกอบการท้องถิ่นมีจำนวนมาก โอกาสการทำกำไรจึงมีต่ำ โอกาสของธุรกิจไทยจึงควรเป็นตลาดนิช ส่วนตลาดอินเดียและเวียดนาม ในหลายธุรกิจผู้ประกอบการท้องถิ่นยังมีจำนวนไม่มาก ทำให้มีช่องว่างให้ธุรกิจไทยเข้าไปบุกเบิกได้ แต่อาจต้องแข่งกับบริษัทข้ามชาติอื่นๆที่สนใจเข้าไปขยายตลาดเช่นกัน

โดยสรุป ในระยะต่อไป การลงทุนในต่างประเทศจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจของไทย กล่าวได้ว่าการออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีต้นทุนต่ำและเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพ เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทไทยสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ สำหรับประเทศที่ธุรกิจไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจมากที่สุดในปี 2550 ได้แก่ จีน ลาว เวียดนาม และอินเดีย แต่เป็นที่สังเกตได้ว่าการลงทุนที่เข้าไปยังประเทศจีนลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนไปยังลาว เวียดนาม และอินเดียขยายตัวสูงอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่มีแผนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ จุดเริ่มต้นของการวางแผนลงทุนในต่างประเทศคือการ “รู้เขา” และ “รู้เรา” ในข้อแรก การรู้เขา คือ การศึกษาประเทศที่สนใจเข้าไปลงทุนอย่างลึกซึ้ง เพื่อมองให้เห็นถึงโอกาสและช่องทางที่จะทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ ข้อที่สอง การรู้เรา คือ การเข้าใจถึงความได้เปรียบเฉพาะตัวของตัวเอง (Firm-Specific Advantages) อย่างถ่องแท้ เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีจุดแข็งและจุดต่างที่จะแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็นบริษัทท้องถิ่นหรือบริษัทข้ามชาติสัญชาติอื่นได้

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศมักไม่ราบเรียบ และการตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจในต่างประเทศเป็นพันธกิจที่ต้องมองเป้าหมายระยะยาว เพราะงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ชี้ชัดว่าในระยะเริ่มต้น 2 ปีแรก เป็นช่วงที่ธุรกิจยังไม่สามารถสร้างกำไรได้มากนัก กว่าที่จะถึงจุดที่เริ่มมีกำไรอาจเป็นหลังปีที่ 2 ไปแล้ว ดังนั้น ธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนจึงต้องมีความพร้อมในด้านเงินทุนและระบบการบริหารจัดการ เพื่อประคองตัวให้ผ่านจุดคุ้มทุนไปได้

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง มีความเข้มแข็งทางการเงิน และมีประสบการณ์จากการลงทุนในต่างประเทศมาแล้ว อาจอาศัยความได้เปรียบดังกล่าวในก้าวย่างต่อไปของการขยายการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่สำหรับบริษัทไทยโดยทั่วไปแล้วยังขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจในต่างประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศอาจต้องพึ่งพาการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นหรือการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจไทยที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ด้านการเงิน (การให้สินเชื่อ การประกันความเสี่ยง) ด้านข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน (ฐานข้อมูลรายประเทศ ข้อมูลการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักในการลงทุน) การให้บริการโดยหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลของบางประเทศได้มีการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการลงทุนขึ้นในประเทศเป้าหมายลงทุนหลัก เพื่อให้การช่วยเหลือแก่นักธุรกิจที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ตั้งแต่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน จนถึงหลังจากธุรกิจเปิดดำเนินการแล้ว