ทุกวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี อดีตทหารกล้าจากเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนถึงญาติพี่น้อง เยาวชนคนหนุ่มสาวชาวออสเตรเลีย ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาล อาทิ เอกอัครราชทูต นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับสูง และนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ ต่างพร้อมใจกันเดินทางไปร่วมรำลึกและวางพวงหรีดแด่ดวงวิญญาณของทหารผู้กล้าที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับเหตุการณ์สร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า จังหวัดกาญจนบุรี ที่ช่องเขาขาดหรือที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า Hell-Fire Pass และสุสานทหารพันธมิตรสงครามกาญจนบุรี ที่ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งความทรงจำ
แอนแซค เดย์ หรือ ANZAC Day (Australia and New Zealand Army Corps) เป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุดวันหนึ่งสำหรับชาวออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี จะมีการจัดงานพิธีรำลึกถึงทหารหาญและผู้ที่เสียชีวิต จากไปในการเป็นเชลยศึกเพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะนี้ โดยพิธีจะเริ่มในช่วงเช้ามืดของวันที่ 25 เมษายน ที่ช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี มีการสวดพิธีทางศาสนาโดยนักบวช และผู้ที่เข้าร่วมพิธีจะจุดเทียนและยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแด่ผู้กล้าหาญที่เสียชีวิต
ANZAC ย่อมาจากคำว่า Australian and New Zealand Army Corps ซึ่งเป็นชื่อเรียกกองกำลังทหาร
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยเหล่าทหารจากสหราชอาณาจักร อินเดีย และฝรั่งเศส ที่ได้ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแกลลิโปลี (Gallipoli) เพื่อเปิดฉากยุทธการดาร์ดาเนลส์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2458 โดยในการสู้รบในครั้งนั้น มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนมากกว่า 8,000 นาย ส่วนทหารนิวซีแลนด์ก็เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ต่อมาชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จึงร่วมกันรำลึกถึงการจากไปของเหล่าทหารในสนามรบ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันเป็นประจำทุกปี
ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย ได้จัดทริปให้สมาชิกของหอการค้าฯ ตลอดจนผู้สนใจได้เดินทางไปเคารพศพทหารกล้าที่เสียสละชีพที่ช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี โดยคณะที่ร่วมเดินทางต่างพากันตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืดในเวลาประมาณ 03.30 น. เพื่อออกเดินทางไปที่ช่องเขาขาด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เมื่อเดินทางถึงทุกคนต่างพร้อมใจกันเดินไปตามทางเดินเล็กแคบ ๆ ชันลงไป ซึ่งปัจจุบันเป็นขั้นบันไดเกือบ 400 ขั้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จนถึงด้านล่างที่มีอนุสรณ์ของทหารกล้าเพื่อร่วมในพิธีโดยมี ฯพณฯ วิลเลียม แพทเธอร์สัน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ฯพณฯ บรู๊ค แบริงตั้น เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ตลอดจนถึงผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ร่วมในพิธี และที่สำคัญยิ่งยังมีเพื่อนทหารที่เคยปฏิบัติงานสร้างสะพานในสมัยนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่เดินทางมาจากประเทศออสเตรเลีย โดยในปีนี้มีด้วยกันถึง 6 คน โดยผู้ที่มีอายุมากที่สุดคือ คุณตาบิล ฮาสเคล อดีตทหารเก่าที่ปัจจุบันมีอายุถึง 87 ปี ซึ่งเดินทางมาจากเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อมาร่วมในพิธีนี้ด้วย
สำหรับช่องเขาขาดเป็นเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่ญี่ปุ่นต้องการสร้างผ่าน และดำเนินการสร้างโดยเชลยศึกชาวออสเตรเลีย และเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ช่องเขาขาดเป็นทางแคบ ๆ ที่ตัดผ่านเนินเขา มูลดิน มีขอบทางรถไฟและสะพาน ทหารญี่ปุ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องตัดทางผ่านภูเขาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงทหารและเสบียงไปช่วยทหารญี่ปุ่นในประเทศพม่า ซึ่งขณะนั้นทหารญี่ปุ่นสามารถตั้งมั่นอยู่ในประเทศพม่าแล้ว ญี่ปุ่นเกณฑ์เชลยศึกชาวออสเตรเลียจำนวน 400 คน ในการเริ่มสร้างทางรถไฟ โดยเริ่มงานวันแรกในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2486 แต่ก็ยังล่าช้ามากเพราะไม่มีเครื่องทุ่นแรง จึงทำด้วยความยากลำบาก มีเพียงเครื่องมือที่ประกอบไปด้วย ฆ้อน สว่านเจาะเกลียวเหล็ก ระเบิด ไม้ พลั่ว เสียมและจอบ มีเครื่องผ่อนแรงเพียงเล็กน้อย เช่น เครื่องอัดอากาศ เครื่องสกัดหินและรถเข็นเศษหินที่สกัดนำไปทิ้งลงที่หน้าผาเท่านั้น ญี่ปุ่นจึงได้เพิ่มแรงงานเชลยศึกชาวอังกฤษอีก 600 คน เพื่อให้เสร็จตามกำหนด เชลยศึกทั้งหมดต้องทำงานวันละ 12-18 ชั่วโมง ทั้งวันทั้งคืน มีเพียงตะเกียงและกองไฟที่ก่อขึ้นให้แสงสว่างเท่านั้น ด้วยแรงกดดันจากทหารญี่ปุ่นที่จะต้องเร่งมือสร้างให้เสร็จให้ทันตามกำหนด โรคระบาด ความอดยาก และการถูกทารุณกรรมที่เข้ามาคุกคามเชลยศึกเป็นผลทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
อนุสรณ์สถานทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่ช่องเขาขาด เป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันยังมีซากของไม้หมอน รางรถไฟ ให้ได้ระลึกถึงอยู่ ซึ่งจะไม่มีวันลืมเลือนไปจากหัวใจของเพื่อนมนุษยชาติ ทุกดวงวิญญาณจะถูกรำลึกถึงจากหัวใจสู่หัวใจตลอดไป
เมื่อเสร็จพิธีที่ช่องเขาขาดแล้ว ในตอนสายของวันเดียวกัน ได้มีพิธีรำลึกถึงทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตจากประเทศในเครือจักรภพมากกว่า 5,000 คน และจากเนเธอร์แลนด์อีก 1,800 คน ที่สุสานสงครามกาญจนบุรี มีพิธีกล่าวคำไว้อาลัย ที่สำคัญยิ่งจากคุณตา บิล แฮสเคล หลังจากนั้นเป็นการวางพวงหรีดของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงทหารผู้กล้า
งาน แอนแซค เดย์ จบลงท่ามกลางความชื่นชมของผู้คนรุ่นหลังที่ต่างยกย่องสรรเสริญคุณความดีของบรรพบุรุษที่ยอมสละชีพเพื่อคนรุ่นหลัง พร้อมเสียงเพลง Waltzing Matilda ที่ดังกระหึ่มจากเสียงร้องของชาวออสเตรเลียที่ร่วมงาน ขอให้ทุกท่านนอนหลับให้สบายตลอดไป ดังข้อความที่เขียนในหรีดว่า “Lest We Forget” หรือ ท่านจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป