โอกาสธุรกิจการรักษาพยาบาลไทยในตลาดจีน

นับตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งเป็นระยะเวลา 3 ทศวรรษ ที่ประเทศจีนได้ทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจโดยเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจจากการวางแผน (Planned Economy) มาเป็นเศรษฐกิจแบบการตลาด (Market Economy) ทั้งนี้การปฏิรูประบบเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นผลพวงทำให้ระบบรักษาพยาบาลของจีนได้รับการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผลสำรวจจากองค์กรอนามัยโลกในปี 2543 ระบุว่า การพัฒนาของระบบการรักษาสุขภาพของจีนอยู่รั้งท้ายเป็นอันดับสี่จากท้ายสุดของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 191 ประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ กอปรกับแผนการปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลของรัฐบาลจีนทำให้ระบบการรักษาสุขภาพได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและมีความสำคัญมากขึ้น โดยในเดือนมีนาคม 2550 กระทรวงสาธารณสุขแห่งชาติจีนได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ป่วยไปก่อนทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลล่วงหน้า อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ทางรัฐบาลจีนได้แถลงแผนการปฎิรูประบบรักษาพยาบาลด้วยการเพิ่มงบประมาณของรัฐบาลสำหรับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนในเมืองและชนบท โดยปัจจุบันทางรัฐบาลได้ดำเนินแผนปฏิรูปการรักษาพยาบาลไปแล้วใน 79 เมือง อีกทั้งยังได้วางเป้าหมายที่จะให้การบริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2553 ตามแผนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนของรัฐบาลจีนซึ่งมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนจีนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขของจีนรายงานว่า ในปี 2550 ตลาดรักษาพยาบาลของจีนมีมูลค่า 109.6 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปี 2549 อีกทั้งในปี 2550 ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อประชากรสูงขึ้นเป็น 828 หยวน เมื่อเทียบกับในปี 2549 อยู่ที่ 749 หยวน นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานของกระทรวงสาธารณสุขแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.3 พันล้านคนในปี 2548 เป็น 2.4 พันล้านคนในปี 2549 ขณะที่ผู้ป่วยในของจีนมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นถึง 7.9 ล้านคนในปี 2549 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากจำนวน 7.2 ล้านคนในปี 2548 ดังนั้นจากทิศทางการเติบโตของธุรกิจรักษาพยาบาลในจีนดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงโอกาสอันดีสำหรับการเข้าไปลงทุนของธุรกิจการรักษาพยาบาลในตลาดจีน

ผู้ให้บริการรักษาพยาบาลต่างชาติรายหลักในตลาดจีน
ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนหลายรายจากต่างประเทศให้ความสนใจในธุรกิจบริการรักษาพยาบาลในจีนซึ่งจากการรายงานของกลุ่มดูแลสุขภาพในจีน บริษัทผู้ให้การปรึกษาการรักษาพยาบาลในมหานครปักกิ่ง ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลร่วมทุนและคลินิกจำนวน 200 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน โดยมีการจัดตั้งโรงพยาบาลที่ร่วมทุนกับสถานพยาบาลต่างชาติในจีนตั้งแต่ปี 2532 อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลร่วมทุนและคลินิกต่างชาติส่วนมากมีเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจีนและกลุ่มผู้มีฐานะชาวจีนในเขตเมืองใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการการบริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงในจีน ทั้งนี้มีนักลงทุนต่างชาติหลายรายที่ประสบความสำเร็จในตลาดการรักษาพยาบาลของจีนอาทิ Chindex International Inc, Parkway Healthcare Group และ Global Health Care (GHC) เป็นต้น

ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงในธุรกิจรักษาพยาบาลของตลาดจีน

ปัจจัยสนับสนุน
ผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่รวดเร็วติดต่อกันมาหลายปี โดยมีอัตราเติบโต 2 หลัก ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันและการปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจรักษาพยาบาลในจีน ทั้งนี้แนวโน้มสดใสของธุรกิจการรักษาพยาบาลในจีนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากด้านต่าง ๆ ดังนี้:

1. การเติบโตอย่างรวดเร็วทางรายได้ของกลุ่มคนชั้นกลางในจีน
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพและแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนปรับตัวดีขึ้น รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ในปี 2550 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในเมืองอยู่ที่ 13,786 หยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 สูงขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 1.8 ขณะที่ในปี 2550 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เป็นจำนวน 4,140 หยวน จากเดิม 3,587 หยวน ในปี 2549 จากระดับรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อธุรกิจการให้บริการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงทิศทางการขยายตัวของธุรกิจรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสดใสในอนาคต

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน

2. การเติบโตของจำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานในจีน
ผลจากการขยายธุรกิจของบริษัทต่างชาติในเขตชายฝั่งทะเลและเมืองใหญ่ของจีน รวมถึงทักษะการจัดการและความเชี่ยวชาญของชาวต่างชาติ ทำให้จำนวนชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงแรงงานและประกันสังคมของจีน รายงานว่า เมื่อปลายปี 2548 มีจำนวนชาวต่างชาติที่ได้จดทะเบียนทำงานในจีนเป็นจำนวนเกือบ 1.8 แสนคน เทียบกับ 1.5 แสนคนในปี 2547 โดยจำนวนชาวต่างชาติที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในจีนกำลังมองหาบริการด้านการรักษาพยาบาลในจีนที่มีคุณภาพและสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับโรงพยาบาลที่มีเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนในจีนโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต้องการได้รับบริการการรักษาพยาบาลในมาตรฐานระดับสูง

3. การขยายตัวของจำนวนผู้สูงอายุ
จีนมีประชากรราว 1.3 พันล้านคน และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีประชากรผู้สูงวัยซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี เป็นจำนวนมากจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติจีนรายงานว่า จีนมีประชากรผู้สูงอายุในวัยมากกว่า 60 ปี จำนวน 144 ล้านคน ในปี 2548 คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยคาดว่าภายในปี 2593 จำนวนผู้สูงอายุในจีนจะพุ่งสูงเกิน 400 ล้านคน โดยนับตั้งแต่การรณรงค์นโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนในปี 2522 และตามมาด้วยการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเมื่อกลางปี 2523 ทำให้อัตราการเกิดของประชากรในประเทศลดลง อีกทั้งลูกคนเดียวในครอบครัวต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุซึ่งส่งผลให้คนหนุ่มสาวชาวจีนมองหาผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้นการขยายตัวของประชากรสูงอายุจึงเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มความต้องการการบริการด้านการรักษาพยาบาลน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยง
แม้ว่ามีปัจจัยเชิงบวกหลายด้านที่เป็นโอกาสสำหรับการดำเนินธุรกิจการรักษาพยาบาลในจีน แต่ทว่าผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้:

1. ข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ด้านภาษา
อุปสรรคประการสำคัญของการให้บริการธุรกิจการรักษาพยาบาลคือ ความสามารถในการสื่อสารด้านภาษาของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะนางพยาบาลและแพทย์ผู้รักษาโรคที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจผู้ป่วยอย่างลึกซึ้งก่อนดำเนินการรักษา ซึ่งหากการสื่อสารผิดพลาดอาจสร้างความเสียหายแก่ผู้ป่วยและชื่อเสียงของโรงพยาบาล ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโรงพยาบาลที่จะต้องคำนึงถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ด้านภาษาเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วย

2. การแข่งขันสูงในตลาดจีนจากการไหลเข้าของทุนต่างชาติ
สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจบริการด้านการรักษาพยาบาลในจีน นับว่ามีอัตราการแข่งขันที่ดุเดือดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันได้มีกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำต่างชาติรายใหญ่หลายรายเข้าไปลงทุนในจีนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังได้ทำการขยายกิจการครอบคลุมพื้นที่ที่สำคัญหลายพื้นที่โดยเฉพาะในบริเวณติดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและในเขตเมืองใหญ่ของจีน อาทิ มหานครเซี่ยงไฮ้และมหานครปักกิ่ง เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มเดียวกันคือ ผู้มีรายได้ปานกลางและสูง และโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนซึ่งนิยมเข้าไปรับการบริการจากโรงพยาบาลเหล่านี้ซึ่งให้การบริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย

3. ลักษณะที่แตกต่างกันของตลาดแต่ละพื้นที่ในจีน
แม้ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมหาศาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกซึ่งเป็นปัจจัยอันสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก แต่ความแตกต่างในทางด้านภูมิศาสตร์และการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ของประเทศเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่วางแผนเข้าไปทำธุรกิจในตลาดจีน ความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ของประเทศจีนนี้เองก่อให้เกิดความต้องการที่แตกต่างกันของตลาด ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญมาจากระดับรายได้ของประชากรที่แตกต่างกัน ทำให้อำนาจซื้อ รสนิยม และ มาตรฐานของบริการที่ต้องการแตกต่างกันด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องพิจารณาปัจจัยพื้นที่ในการลงทุนอย่างถี่ถ้วน

กล่าวโดยสรุปตลาดรักษาพยาบาลในจีนมีทิศทางการเติบโตในเกณฑ์ที่ดีโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวของจำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในจีนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในจีนซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการการคุ้มครองด้านสุขภาพและการบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงด้วยมาตรฐานระดับสากล ทั้งนี้ธุรกิจการบริการรักษาพยาบาลของไทยถือได้ว่าอยู่ในอันดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองสำหรับโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่จะเข้าไปทำตลาดในจีนเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าชาวจีนในระดับกลางและบนรวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัย หรือทำงานอยู่ในจีน อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการรักษาพยาบาลไทยไม่ควรมองข้ามความท้าทายจากปัจจัยด้านลบต่างๆ ในจีน อาทิ ข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ด้านภาษา การแข่งขันที่รุนแรงในตลาด และ ลักษณะที่แตกต่างกันของตลาดแต่ละพื้นที่ในจีน

นอกจากนี้ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด เห็นว่า นอกจากการพิจารณาการขยายธุรกิจรักษาพยาบาลในต่างประเทศแล้ว การดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทยถือเป็นช่องทางสำคัญที่สร้างรายได้เข้าประเทศและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ภายในปี 2551 รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย โดยกำหนดรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนสูงถึง 210,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจึงอาจพิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลไทยให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในต่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งจีน โดยควรกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในจีนเพื่อดึงดูดผู้ป่วยในจีนให้เข้ามารักษาพยาบาลในไทยมากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละราย