แนวโน้มธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ปี 2551

ตลาดรถยนต์ในไตรมาสแรกปี 2551 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 16% ด้วยยอดจำหน่ายรถยนต์สูงถึงกว่า 1.6 แสนคัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการตัดสินใจลงทุนซื้อสินค้าราคาสูง อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่สูงมากเช่นนี้อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอการซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วเพื่อรอมาตรการภาษีของรถที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก ทำให้คาดว่ายอดขายรถในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปี คงจะขยายตัวในอัตราเร่งไม่เท่าไตรมาสแรก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 2551 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 6% เป็นประมาณ 6.7-6.8 แสนคัน เมื่อเทียบกับยอดขายจำนวน 6.3 แสนคันในปีที่แล้ว หรือขยายตัวติดลบ 7.5%

การเติบโตของยอดจำหน่ายรถยนต์ ส่งผลโดยตรงต่อตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้เติบโตในอัตราที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสำหรับปี 2551 มูลค่าตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบสถาบันการเงินมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ระดับ 24% ในปี 2550 โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบสถาบันการเงิน ณ 31 ธ.ค. 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 308,783 ล้านบาท คิดเป็น 4.93% ของสินเชื่อรวมในระบบสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้เกือบสองเท่าตัว เนื่องจากยังไม่รวมถึงการให้สินเชื่อของบริษัท ลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ (Captive), บริษัทลีสซิ่งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non bank) และบริษัทลีสซิ่งในเครือของธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากยอดขายรถยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่บ่งชี้ทิศทางตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้ว ในปีนี้ยังมีปัจจัยใหม่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจ จากการที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ประกาศยกเลิกการให้บริการสืบค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกัน ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ยกเลิกสืบค้นข้อมูลเครดิตผู้ค้ำประกัน : ปัจจัยเสี่ยงใหม่ของธุรกิจ
การแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ยังคงความรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด้านราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่ผู้ประกอบการในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นำมาใช้ในการเพิ่มและรักษาส่วนแบ่งตลาด จนกระทั่งรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเหลืออยู่น้อยมากเพียงประมาณ 1-1.5% เทียบกับที่เคยสูงอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 5% ในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจมาจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2540 นอกจากการแข่งขันเรื่องราคาแล้ว ธุรกิจนี้ยังแข่งขันกันปรับลดเงื่อนไขการกู้ยืมอื่น ๆ ลงเท่าที่จะทำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินดาวน์จากมาตรฐาน 25-30% ของราคารถยนต์ ลงเป็นลำดับจนกระทั่งเหลือประมาณ 10% ควบคู่ไปกับการยืดระยะเวลากู้จากปกติ 48 งวด เป็น 60-72 งวด ซึ่งทำให้ความเสี่ยงของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสินค้าประเภทรถยนต์มีค่าเสื่อมราคาสูง

ภายใต้ข้อจำกัดของธุรกิจดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันที่รุนแรง แต่ในภาพรวมผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อก็ยังคงสามารถบริหารจัดการรายได้ที่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำได้ เนื่องจากสามารถควบคุมอัตราการสูญเสียของธุรกิจหรือสัดส่วนหนี้เสียไว้ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ได้ ผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ซึ่งคาดว่ามีส่วนช่วยกลั่นกรองความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ไม่เพียงพอของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนรายลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2551 NCB ได้มีการออกประกาศให้ยุติการสืบค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกัน หลังจากที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (Credit Information Protection Committee) ได้ตีความตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 และ พ.ศ.2549 แล้ว พบว่าไม่มีถ้อยคำใดในกฎหมายดังกล่าว ที่ระบุเกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกัน ทำให้ NCB ไม่สามารถให้บริการสืบค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกันต่อไปได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจให้บริการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อให้เช่าซื้อรถยนต์ ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้กู้ยืมรายย่อย และมีหลักประกันที่เสื่อมค่าเร็ว จึงทำให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อส่วนใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยประวัติที่แสดงความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีของผู้ค้ำประกันร่วมด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะทั่วไปของการให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่เกิดจากสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันมีการเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากหลักประกันที่เป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นที่อาจมีมูลค่าเพิ่มเมื่อเวลาผ่านไป เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จึงทำให้มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมในการติดตามบังคับชำระหนี้ให้ได้ในเวลาอันสั้น เพื่อบรรเทาความเสียหายดังกล่าว โดยกำหนดให้การกู้ยืมเพื่อซื้อรถ ต้องมีผู้ค้ำประกัน

เดิมสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ จะใช้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตผู้ค้ำประกันโดยให้ความสำคัญเทียบเท่ากับการตรวจสอบข้อมูลเครดิตผู้กู้ยืม เพราะจากสถิติที่ผ่านมา เมื่อผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ และบริษัทไม่อาจเร่งรัดติดตามทวงถามหนี้ได้สำเร็จ บริษัทจะประสบความสำเร็จในการติดตามผ่านผู้ค้ำประกันได้ไม่น้อยกว่า 30-50% ของจำนวนรายลูกหนี้มีปัญหา เนื่องจากผู้ค้ำอาจอยู่ในฐานะที่ลูกหนี้เคารพ เกรงใจ หรือบางกรณีผู้ค้ำช่วยรับภาระหนี้แทน หรือบางกรณีผู้ค้ำช่วยชี้ช่องทางการติดตามตัวลูกหนี้ ไปจนถึงการติดตามยึดรถที่เป็นประกันได้ ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลเครดิตเพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน จึงมีส่วนช่วยลดความเสียหายให้กับบริษัทได้มาก

ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 การกู้ยืมเพื่อซื้อรถจะถูกกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีผู้ค้ำประกันทุกกรณี และสำหรับลูกค้าบางรายที่หลักฐานการเงินอ่อน บริษัทอาจกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันมากกว่า 1 ราย แต่เมื่อการแข่งขันในธุรกิจให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์เริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2543 เมื่อมีผู้ประกอบการรายใหญ่ปรับลดเงื่อนไขลง โดยกำหนดว่าในการกู้ยืมหากผู้กู้วางเงินดาวน์ 40% ของราคารถแล้ว ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ส่งผลให้บริษัทอื่นแข่งขันตาม และมีการปรับลดเงื่อนไขลงเป็นลำดับจนกระทั่งกำหนดเงินดาวน์ประมาณ 25% ของราคารถแล้วไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน

กระนั้น ปัจจุบันสัดส่วนการให้กู้ยืมโดยมีผู้ค้ำประกันของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ก็ยังสูงกว่าครึ่งหนึ่งของเงินให้กู้ยืมเพื่อเช่าซื้อรถในระบบสถาบันการเงิน หรือประมาณ 55-60% แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขโดยให้วางเงินดาวน์ในสัดส่วนที่กำหนดไว้ดังกล่าวแล้วก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การมีผู้ค้ำประกัน เป็นหัวใจหลักของการขยายธุรกิจ และในเวลาเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการรักษาสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธุรกิจให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการให้สินเชื่อประเภทอื่น ซึ่งทำให้ธุรกิจยังรักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ แม้ว่าจะมีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยน้อยกว่าสินเชื่อประเภทอื่นก็ตาม

ในการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่ผ่านมา บริษัทจะให้น้ำหนักการพิจารณาเครดิตผู้ค้ำประกัน เทียบเท่าการพิจารณาเครดิตผู้กู้ยืม และในบางกรณีอาจให้น้ำหนักเครดิตผู้ค้ำประกันมากกว่าผู้กู้ยืมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่าเอกสารแสดงฐานะของผู้ค้ำประกันที่นำมายื่นประกอบนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนระดับรายได้ที่แท้จริง โดยมีถึงประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนราย ที่เมื่อบริษัทใช้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจาก NCB แล้วพบภาระหนี้จำนวนมาก และไม่น่าจะมีความสามารถในการดูแลหนี้ก้อนใหม่ได้อีก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างมาก ในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเมื่อข้อมูลประจักษ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจร้องขอให้มีการเพิ่มผู้ค้ำประกันรายอื่น หรือเพิ่มเงินดาวน์ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าแม้การยกเลิกการสืบค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกัน อาจทำให้การพิจารณาเครดิตยากขึ้น แต่ก็คงจะไม่เปลี่ยนแปลงความสำคัญของผู้ค้ำประกันในการพิจารณาสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลต่อการพิจารณาให้สินเชื่อที่จะต้องมีความรัดกุมมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการคงต้องหันมาพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้ยืมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจ โดยจำนวนรายลูกค้าที่ผ่านการพิจารณาน่าจะลดน้อยลง ทำให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ยากขึ้น (จากปัจจุบันที่สัดส่วนการซื้อรถด้วยเงินผ่อนมีอยู่สูงถึงประมาณ 80% ขณะที่การซื้อด้วยเงินสดมีเพียงประมาณ 20% เท่านั้น)

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการให้เช่าซื้อเองก็จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงจากการพิจารณาสินเชื่อให้ดีด้วย ไม่เช่นนั้นอาจส่งกระทบต่อโครงสร้างฐานะการเงินของบริษัทในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวอย่างเปราะบาง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมันที่ยังคงเร่งสูงขึ้น กดดันต้นทุนราคาสินค้า และทำให้ค่าใช้จ่ายในการครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับการปรับขึ้นของระดับรายได้ของลูกค้าหรือผู้กู้ยืม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประจำ และอาจก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพหนี้ตามมา

สำหรับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจนั้น ในส่วนที่เป็นลูกค้าเช่าซื้อประเภทนิติบุคคลหรือ Fleet ที่ขอวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถครั้งละหลายคัน ทางบริษัทอาจขอให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ขอตรวจค้นข้อมูลเครดิตของตนเองจาก NCB และนำเอกสารที่ได้รับมายื่นประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งโดยปกติต้องใช้เวลารวมประมาณ 3 วันทำการ เนื่องจากเป็นการขอสินเชื่อวงเงินสูง ที่บริษัทผู้ประกอบการให้เช่าซื้อมักไม่แข่งเรื่องความเร็วในการอนุมัติสินเชื่อมากเท่ากับการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้กับบุคคลรายย่อย จึงไม่มีแรงกดดันในเรื่องเวลา และสามารถรอข้อมูลให้ครบถ้วนได้

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้กับบุคคลธรรมดารายย่อยนั้น ค่อนข้างเป็นปัญหา เนื่องจากผู้ประกอบการอาจจะถูกกดดันจากดีลเลอร์ผู้จำหน่ายรถยนต์ที่ต้องการปิดการขายโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องตอบผลการพิจารณาสินเชื่อภายใน 1 วันทำการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถรอผลการตรวจสอบข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกันจาก NCB ได้แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะให้ความยินยอมก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องเข้มงวดกับการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้เพิ่มวงเงินดาวน์ หรือการขอให้มีการจัดหาผู้กู้ยืมร่วม เป็นต้น

บทสรุป
แนวโน้มธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในระบบสถาบันการเงินปี 2551 มีโอกาสเติบโตสูงถึง 30-35% เป็นประมาณ 4-4.2 แสนล้านบาท เทียบกับยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2550 ที่ 3.08 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการยอดขายรถยนต์ใหม่ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นไม่น้อยกว่า 6% ในปีนี้ เป็นประมาณ 6.7-6.8 แสนคัน โดยที่การแข่งขันของธุรกิจยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ราคาเป็นตัวนำเช่นเคย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากยอดขายรถยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่บ่งชี้ทิศทางตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้ว ในปีนี้ยังมีปัจจัยใหม่เกิดขึ้นเพิ่มเติมซึ่งส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจ จากการที่ NCB ประกาศยกเลิกการให้บริการสืบค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกัน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้บริการตรวจค้นข้อมูลเครดิตของผู้ค้ำประกันจาก NCB ได้อีกต่อไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ยืมโดยตรงมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีสัดส่วนไม่น้อยที่ผู้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อโดยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ค้ำประกันเป็นหลัก

นอกจากนี้ในอนาคตสถาบันการเงินยังอาจใช้ประโยชน์จากประวัติการเงินด้านอื่น ๆ ของลูกค้า นอกเหนือจากประวัติสินเชื่อ และประวัติเงินฝาก มาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อร่วมด้วย อาทิ ประวัติด้านการลงทุนผ่านหน่วยลงทุนต่าง ๆ เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์บางรายได้เริ่มรณรงค์ให้ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากประจำเฉพาะกิจเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถประเมินวินัยทางการเงินผ่านการออมเงินของลูกค้าได้ อย่างไรก็ตาม ทางออกดังกล่าวอาจได้ผลเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่บริษัทลีสซิ่งที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non bank) อาจได้ประโยชน์น้อยกว่า เนื่องจากไม่สามารถทำธุรกรรมด้านการเงินครบวงจรได้เช่นเดียวกับธนาคาร