เบี้ยประกันชีวิตรับรวมไตรมาสแรกของปี 2551 สูงประมาณ 51,000 ล้านบาท

นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรวมของธุรกิจประกันชีวินในไตรมาสแรกปี 2551 (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2551) มีอัตราที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตสูงร้อยละ 13.69 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในไตรมาสเดียวกัน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 51,201.2 ล้านบาท ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยรับรวมจะหมายถึงเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 14,704.8 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตในระยะเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.75 รวมกับเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) จำนวน 36,496.4 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตในระยะเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.68 โดยที่เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่จะหมายถึง เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) รวมกับเบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) ขณะที่อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตในปีต่อไปอยู่ในระดับที่ดีและคงที่ คือ ร้อยละ 85

สถิติเบี้ยประกันภัยรับของไตรมาสแรกปี 2551 มีดังนี้

1. เบี้ยประกันภัยรับรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม 2551) มีทั้งสิ้น 51,201.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเดียวกันซึ่งมี 45,032.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 6,163.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.69 หากจะพิจารณาถึงขนาดของบริษัทประกันชีวิตในเวลาดังกล่าว บริษัทที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 บจ. เอ. ไอ. เอ. จำนวน 19,295.0 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 37.7 อันดับที่ 2 บจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 7,075.6 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 13.8 อันดับที่ 3 บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำนวน 3,827.5 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 7.5 อันดับที่ 4 บจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 3,793.7 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 7.4 และ อันดับที่ 5 บมจ.อยุธยาอลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต จำนวน 3,363.2 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 6.6

2. เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม 2551) มีทั้งสิ้น 14,704.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเวลาเดียวกันซึ่งมี 12,927.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,777.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.75 บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่รวมสูงสุด หรือมีการขยายงานในไตรมาสแรกของปี 2551 (มกราคม 2551 – มีนาคม 2551) สูงสุด 5 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 บจ. เอ. ไอ. เอ. จำนวน 3,819.3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 26.0 อันดับที่ 2 บจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 1,644.2 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.2 อันดับที่ 3 บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำนวน 1,471.0 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.0 อันดับที่ 4 บจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 1,467.2 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.0 และ อันดับที่ 5 บจ.ธนชาตประกันชีวิต จำนวน 1,247.5 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 8.5

3. เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ในเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก (มีนาคม 2551) มีทั้งสิ้น 5,520.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเดียวกัน ซึ่งมี 5,165.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 355.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.88 บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ในเดือนมีนาคม 2551 สูงสุดหรือมีการขยายงานเฉพาะในเดือนมีนาคม 2551 สูงสุด 5 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 บจ. เอ. ไอ. เอ. จำนวน 1,190.6 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 21.6 อันดับที่ 2 บจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 645.6 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.7 อันดับที่ 3 บจ.ธนชาตประกันชีวิต จำนวน 626.4 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.3 อันดับที่ 4 บจ.ไทยประกันชีวิต จำนน 594.8 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.8 อันดับที่ 5 บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำนวน 591.9 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.7

ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับรวมในไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.69 นับว่าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่น่าพอใจมาก (ไตรมาสแรกของปี 2550 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 12.92) เมื่อรัฐบาลได้ประกาศเพิ่มค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำไปหักลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไปนั้น สมาคมได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตในปี 2551 จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 15 และคาดว่าจะมีเบี้ยประกันชีวิตประมาณ 232,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2551

ในขณะนี้สมาคมประกันชีวิตไทยยังคงประมาณการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 เท่าเดิมเนื่องจากได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่ายังมีปัจจัยบวกหลายประการ ได้แก่

1. อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต ยังอยู่ในระดับเดิมคือร้อยละ 85

2. บริษัทประกันชีวิตมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ออกมาแข่งขันเพื่อสนองตามความต้องการของประชาชน โดยพัฒนาให้อิงกับกับค่าลดหย่อนภาษีของเบี้ยประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้นจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท และได้มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการเพิ่มค่าลดหย่อนด้านภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้น

3. การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายประกันชีวิตมีการแข่งขันกันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการขายผ่านธนาคาร (Bancassurance)

4. ธุรกิจประกันชีวิตมีการผลิตตัวแทนประกันชีวิตเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก ปี 2551 นี้ มีผู้สมัครสอบตัวแทนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2550 ถึงร้อยละ 25.16 โดยมีผู้สมัครสอบ 56,055 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีผู้สมัครสอบ 44,785 คน เป็นจำนวนถึง 11,270 คน

5. ความเชื่อถือศรัทธาต่อธุรกิจประกันชีวิตของประชาชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงในเรื่องที่หน่วยงานของรัฐ (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ได้เริ่มจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ซึ่งในอนาคตหากผู้เอาประกันภัยมีปัญหาจากการที่บริษัทประกันภัยใดไม่สามารถจ่ายชดใช้เงินเอาประกันภัยได้ ก็จะได้รับการชดใช้จากกองทุนดังกล่าว ดังนั้น ประชาชนจะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่าหากได้ทำประกันชีวิตแล้ว จะได้รับเงินจากการประกันชีวิตครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ซื้อประกันชีวิตไว้ทุกราย

ผู้สนใจจะทราบจำนวนเบี้ยประกันชีวิตของบริษัทต่างๆ ทุกบริษัท หรือข้อมูลอื่นๆ สามารถสอบถามที่ฝ่ายข้อมูลเพื่อการพัฒนาธุรกิจ สมาคมประกันชีวิตไทย โทรศัพท์ 02-287-4596-8 ต่อ 110 หรือ download ข้อมูลสถิติได้จาก www.tlaa.org