ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2551 ที่ผ่านมา การแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างธนาคารพาณิชย์มีการขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรง จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ต่างเดินหน้าทำแคมเปญการตลาดออกมาเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจเลือกใช้บริการสินเชื่อของตน ซึ่งธนาคารพาณิชย์บางแห่งเน้นการทำแคมเปญด้านราคา โดยชูกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์บางแห่งหันมาเน้นด้านการบริการ และความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ แทนการใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดยที่ผ่านมามีการชูจุดเด่นการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่ธนาคารได้ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังได้ปรับวิธีการให้บริการสินเชื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ลูกค้า คือ ลูกค้าสามารถติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ผ่านทางโทรศัพท์ และทางธนาคารพาณิชย์จะมีการจัดส่งตัวแทนมาให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับสินเชื่อ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2551 ดังนี้
สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2551 ชะลอลงเล็กน้อย ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 776,688 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.2 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2550 ทั้งนี้สาเหตุของการชะลอตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก ผู้บริโภคชะลอการซื้อหรือโอนที่อยู่อาศัย เพื่อรอความชัดเจนของมาตรการลดหย่อนทางภาษีภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของราคาประเมินของทางราชการ ลดลงเหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินของทางราชการ และ ค่าจดจำนองที่ดินร้อยละ 1 ลดลงเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งภายหลังรัฐบาลได้มีการประกาศให้มาตรการมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงไตรมาส 2 ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ น่าจะมียอดคงค้างที่ประมาณ 802,190 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาส 1 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การขยายตัวของสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2551 นั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ตลาดยังมีปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและน่าจะทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงเติบโตในช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นไตรมาส 3 ดังนี้
มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ จากการที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา น่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อหรือโอนที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกเพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ เริ่มกลับมาทยอยโอนที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 2 มากขึ้น
การแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างสถาบันการเงิน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สถาบันการเงินได้มีการระดมแคมเปญการตลาดอย่างหนัก อาทิ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมต่าง หรือการแจกของสมนาคุณ ในช่วงงาน Money Expo ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้น
การนำแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับขึ้นมาเป็นจุดขายให้เร่งตัดสินใจ ทั้งนี้การที่เริ่มมีการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจมีทิศทางปรับขึ้นในอนาคตที่ไม่นานนักจากนี้ ทำให้สถาบันการเงินอาจนำประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมาเป็นจุดขายกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ซื้อ และในขณะนี้ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ได้ใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นพิเศษ ในช่วง 1-5 ปี แรกของสัญญา เพื่อจูงใจผู้บริโภค ในภาวะที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับภาระรายจ่ายที่เร่งตัวสูงขึ้น ก่อนปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผูกตามอัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR ที่ลอยตัวและอาจปรับขึ้นในอนาคต
การนำแนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อาจปรับขึ้นมาเป็นจุดขายให้เร่งตัดสินใจ ปัจจัยด้านต้นทุนการก่อสร้าง อาทิ ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงราคาที่ดิน ที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นแรงกดดันอย่างหนักต่อผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับราคาที่อยู่อาศัยขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี สถาบันการเงินและโครงการอสังหาริมทรัพย์นำประเด็นแนวโน้มการปรับขึ้นราคาดังกล่าวมาเป็นจุดขาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อเร่งตัดสินใจซื้อก่อนราคาปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับประเด็นในเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 2 และต้นไตรมาส 3 น่าที่จะได้รับปัจจัยหนุนต่างๆดังกล่าว แต่สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถาบันการเงินอาจจะเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยง อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมันที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น ผลจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากจะมีผลโดยตรงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันลดลงแล้ว ในระยะข้างหน้าหากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคยังคงปรับตัวสูงขึ้น ก็จะยิ่งซ้ำเติมอำนาจซื้อของผู้บริโภค และอาจกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคบางกลุ่มที่กำลังผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้ นอกจากนี้ปัจจัยด้านการเมืองที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างสถาบันการเงินที่มีความเข้มข้น ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากปัญหาเงินเฟ้อ คาดว่า สถาบันการเงินต่างพยายามออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับรายการส่งเสริมการขาย แต่ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินคงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องของการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อควบคุมคุณภาพสินเชื่อในระบบของตน