แนวโน้มราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจขนส่งสินค้าทางบก ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องหยุดให้บริการเป็นจำนวนมาก คิดเป็นจำนวนรถกว่า 10,000 คัน จึงเกิดการเรียกร้องขอให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ราคาน้ำมันดีเซลพุ่ง … ผลักดันให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มตามไปด้วย
ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการขนส่งทางบกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ทำสถิติไปแตะที่ระดับสูงกว่า 40 บาทต่อลิตร ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบร้อยละ 60 ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายไตรมาส พบว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ราคาน้ำมันดีเซลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.7 บาทต่อลิตร ขยายตัวประมาณ ร้อยละ 28.3 และคาดว่าจะสูงขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 36.4 บาทต่อลิตร
ขยายตัวประมาณร้อยละ 36.8 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งขณะนี้ต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของต้นทุนขนส่งทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงภาวะต้นทุนของภาคการขนส่งที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการก็ได้มีการปรับขึ้นค่าบริการขนส่งตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ดังจะเห็นได้จากดัชนีค่าบริการขนส่งทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 129.7 ขยายตัวประมาณร้อยละ 11.3 ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ก็คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันแก่ราคาค่าขนส่งมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ประกอบการ
จะมีโอกาสในการปรับขึ้นค่าบริการขนส่ง แต่ก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในด้านอุปสงค์ เนื่องจากหากปรับขึ้นค่าบริการขนส่งมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ซึ่งขณะนี้ก็ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว หากค่าบริการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอีกก็อาจแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวจนอาจต้องเลิกกิจการได้และจะส่งผลต่อเนื่องมายังผู้ประกอบการขนส่งทางบกต่อไปด้วย อีกทั้งค่าบริการขนส่งก็มักจะทำสัญญาตกลงราคาล่วงหน้า อาทิเช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน จึงเป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนค่าบริการขนส่งตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งทางบกมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนเพิ่มขึ้นด้วย
น้ำมันดีเซลราคาพิเศษ … ช่วยบรรเทาได้ในระยะสั้น แต่มีข้อจำกัด
เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางบกได้เสนอข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ โดยขอให้ช่วยเหลือในหลายประเด็น อาทิเช่น การขอให้สนับสนุนน้ำมันดีเซลที่มีราคาถูกกว่าราคาตลาด 3 บาทต่อลิตร การขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV (Natural Gas Vehicle) และการขอให้ภาครัฐขยายสถานีบริการก๊าซ NGV ให้มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าในสถานการณ์โดยทั่วไปภาครัฐควรหลีกเลี่ยงการอุดหนุน (Subsidy) หรือการแทรกแซงกลไกตลาด แต่ต้องยอมรับว่าในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบได้ในวงกว้างต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจนั้น ความช่วยเหลือจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอาจยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะปรับตัว รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาปัญหาอัตราเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากการขนส่งโดยรถบรรทุกถือเป็นเส้นเลือดหลักของการขนส่งและกระจายสินค้าของภาคการผลิตไทย ซึ่งมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวอาจช่วยพยุงต้นทุนของสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปมากนัก โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพิงการขนส่งในกระบวนการผลิตเป็นสัดส่วนสูง เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า การทำไร้อ้อย การทำสวนปาล์ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือด้วยมาตรการระยะสั้นนี้ควรที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการวางแผนระยะยาวร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในบริหารจัดการเพื่อที่จะลดต้นทุนการใช้พลังงานในภาคการขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากการสนับสนุนน้ำมันดีเซลราคาถูกเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระยะสั้นและยังมีข้อจำกัด ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1. ปริมาณน้ำมันดีเซลราคาพิเศษ โดยมาจากการที่โรงกลั่นลดค่าการกลั่นลง 3 บาทต่อลิตร จำนวน 122 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งขณะนี้มีปริมาณเหลืออยู่ประมาณ 90 ล้านลิตรต่อเดือน แต่จากการประเมินของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของรถบรรทุกขนส่งสินค้าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ล้านลิตรต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 20-30 ของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำมันดีเซลราคาพิเศษที่ภาครัฐเตรียมไว้เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบแก่ประชาชนนั้น ยังมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้จริงของรถบรรทุกอยู่มาก ดังนั้น หากภาครัฐให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งทางบกด้วยน้ำมันดีเซลราคาพิเศษก็คงต้องมาพิจารณาถึงวิธีการจัดสรรที่เป็นธรรมและต้องช่วยบรรเทาปัญหาต้นทุนขนส่งแก่ผู้ประกอบการได้ด้วย
2. ราคาน้ำมันในตลาดโลก แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งทางบกด้วยการสนับสนุนน้ำมันดีเซลที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด 3 บาทต่อลิตร แต่จะช่วยคงราคาค่าขนส่งได้ก็ต่อเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นไปไม่เกินระดับ 145 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่มาตรการช่วยเหลือมีผลบังคับใช้ แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงเกินกว่านั้นก็อาจไม่สามารถพยุงราคาค่าขนส่งไว้ได้
ต้องมุ่งเน้นที่แผนระยะยาว … พลังงานทางเลือกและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง
ถึงแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือข้างต้นอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น นอกจากมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแล้ว ภาครัฐและภาคเอกชนควรให้ความสำคัญในการวางแผนสำหรับแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะแนวทางการใช้ก๊าซ NGV ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้
การกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับภาคการขนส่งของไทย โดยภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจผลิตรถบรรทุก เป็นต้น ต้องร่วมกันหาข้อสรุปสำหรับพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ก๊าซ NGV ในภาคการขนส่ง เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งแผนการนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันได้ในระยะยาว มิใช่เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเร่งด่วน
ภาครัฐต้องวางกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจน ทั้งในด้านระยะเวลาและการวัดผล เช่น กำหนดให้เป็นแผนระยะเวลา 5 ปี โดยมีการวางเป้าหมายจำนวนรถบรรทุกในภาคการขนส่งที่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV อย่างชัดเจนในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นต้น
แนวทางในการเลือกใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะก๊าซ NGV ต้องสอดคล้องกันทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ ในขณะที่ภาคการขนส่งเห็นความสำคัญกับการติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV ผู้ผลิตรถบรรทุกสำหรับภาคการขนส่งก็ควรจะต้องเห็นความสำคัญและปรับเปลี่ยนทิศทางการผลิตไปสู่รถบรรทุกที่ใช้ก๊าซ NGV เช่นกัน รวมทั้งสถานีบริการก๊าซ NGV ก็จะต้องมีจำนวนเพียงพอและครอบคลุมพื้นที่อย่างเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เกิดการประสานและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันของทุกฝ่าย เพื่อให้การใช้ก๊าซ NGV ในภาคการขนส่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่วางไว้
ภาครัฐต้องลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานทางเลือก ตลอดจนให้การสนับสนุนทางเทคนิคและการเงินในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปสู่พลังงานทางเลือก โดยนอกจากการลงทุนในระบบท่อส่งก๊าซ NGV แล้ว ภาครัฐอาจจะต้องให้การสนับสนุนด้านการเงิน เช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนหรือสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นต้น ซึ่งแม้คาดว่าการสนับสนุนต่างๆ เหล่านี้อาจจะต้องใช้เงินลงทุนรวมกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศในระยะยาว
ภาครัฐต้องมุ่งประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลแก่ภาคการขนส่ง เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปสู่พลังงานทางเลือกที่เหมาะสม รวมทั้งอาจใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวกระตุ้นได้อีกทางหนึ่ง เช่น การให้สิทธิพิเศษหรือการลดหย่อนทางภาษีแก่ภาคเอกชนที่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปใช้ก๊าซ NGV เป็นต้น
นอกจากการดำเนินการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนเองก็ควรเร่งพัฒนาศักยภาพและปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาทิเช่น
การพัฒนาและสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) และ GPS (Global Positioning System) มาใช้ในการขนส่งสินค้าของรถบรรทุก เนื่องจากจะช่วยให้สามารถติดตามและตรวจสอบการขนส่งสินค้าได้ทุกขั้นตอน รวมทั้งยังช่วยให้ขนส่งได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งทางบก เพื่อให้มีศูนย์กลางในทำ Pool Data ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถติดตามและตรวจสอบการขนส่งได้อย่างชัดเจน วางแผนให้รถบรรทุกแต่ละคันต้องมีสินค้าทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ เป็นต้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับกระแส Logistics Outsourcing ซึ่งภาคธุรกิจต่างๆ กำลังให้ความสำคัญ