ไก่แปรรูปปี’51 : ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ30%…ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับต้นทุนพุ่ง

ในปี 2551 การส่งออกไก่แปรรูปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากในปี 2550 เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของตลาดสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดส่งออกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในธุรกิจไก่เนื้อและผู้ส่งออกไก่แปรรูปต้องปรับตัว เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการข้าวโพดเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบป้อนการผลิตเอธานอล ซึ่งการปรับตัวของบรรดาผู้ประกอบการรับมือกับต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นกุญแจสำคัญที่กำหนดความสามารถทำกำไรในปี 2551 นี้

ส่งออก…เติบโตต่อเนื่องจากปี 2550

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกไก่แปรรูปของไทยขยายตัวอย่างมาก โดยมีมูลค่า 530.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.1 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าการส่งออกในปี 2551 จะมีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2550 มูลค่า 933 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 โดยแยกพิจารณาตามตลาดส่งออกสำคัญ ดังนี้

ตลาดสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปและไทยได้บรรลุการชดเชยโควตาไก่หมักเกลือ และไก่แปรรูปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 พร้อมทั้งมีการกำหนดโควตานำเข้าสำหรับไก่หมักเกลือจำนวน 92,610 ตัน ให้แก่ไทยในอัตราภาษีร้อยละ 15.4 ส่วนปริมาณการนำเข้านอกโควตาจะต้องเสียภาษีในอัตรา 1,300 ยูโร/ตัน สำหรับโควตาไก่แปรรูปได้รับจัดสรรในจำนวน 160,033 ตัน ที่อัตราภาษีร้อยละ 8 ส่วนการนำเข้านอกโควตาต้องเสียภาษีในอัตรา 1,024 ยูโร/ตัน การจัดสรรโควตาดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปสหภาพยุโรปขยายตัวมากอย่างต่อเนื่องในปี 2550-2552 ในขณะที่สินค้าอาหารจากจีนมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ด้านสุขอนามัย ขณะที่สินค้าอาหารจากไทยได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานและความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเป็นผลสืบเนื่องจากเงินยูโรแข็งค่าขึ้น ผนวกกับความตื่นตระหนกเรื่องวิกฤติอาหารของโลก ทำให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถเจรจาปรับราคาจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ10 ตามต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และต้นทุนด้านต่างๆ ที่ปรับขึ้นกว่าเท่าตัว

ตลาดญี่ปุ่น การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัว จากปัจจัยบวกหลายประการ ได้แก่ ผลจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้อัตราภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยในปี 2551 ลดลงเหลือร้อยละ 5.0 รวมทั้งจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกไก่แปรรูปไปตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้ายากิโทริหรือไก่เสียบไม้ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40.0 ของไก่แปรรูปทั้งหมดที่จีนส่งไปญี่ปุ่น สินค้าจีนประสบปัญหาภาพลักษณ์ด้านสุขอนามัย ทำให้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นไม่มั่นใจ รวมทั้งญี่ปุ่นตรวจพบยาสัตว์ต้องห้าม Furazolidone ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Nitrofurans ในเนื้อไก่แปรรูปจากจีน โดยก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็ตรวจพบยาตกค้างในไก่แปรรูปจากจีนมาแล้ว ดังนั้นญี่ปุ่นจึงดำเนินมาตรการตรวจเข้มสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้ผู้นำเข้าในญี่ปุ่นหันมานำเข้าจากไทยแทน

ตลาดอื่นๆ นอกจากการขยายการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆก็มีแนวโน้มขยายตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปในปี 2551 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2550 นอกจากนี้คาดว่าผู้ส่งออกไก่แปรรูปของไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดรัสเซียและตะวันออกกลางด้วย

การผลิต…ต้นทุนเพิ่ม ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

คาดการณ์ปริมาณการผลิตไก่เนื้อปี 2551 รวมทั้งประเทศมีประมาณ 900 ล้านตัว หรือประมาณ 1.13 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ปัญหาที่ผู้เลี้ยงไก่เนื้อและผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องต้องเผชิญคือ ในช่วงปี 2550 ต่อเนื่องถึงปี 2551 ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระแสความต้องการพืชพลังงานทดแทน ส่งผลกระทบไปถึงพืชพลังงานบางชนิดที่สามารถใช้เพื่อผลิตพลังงานและผลิตอาหารทั้งคนและสัตว์ได้ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนเลี้ยงไก่เนื้อสูงตามไปด้วย กล่าวคือ ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงไก่อยู่ที่กิโลกรัมละ 36.75 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นทุนเฉลี่ยในปี 2550 ที่กิโลกรัมละ 33.02 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจไก่เนื้อต้องเร่งปรับตัวด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้

การเร่งวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าและยังคงไว้ซึ่งคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือวัตถุดิบอื่นๆมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ตามสถานการณ์โลกที่ต้องการใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทน ทำให้การลดต้นทุนทำได้ไม่มากนัก ดังนั้น ทางผู้ประกอบการจึงต้องลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพตลอดทั้งสายการผลิต รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน เพื่อลดปริมาณการสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็นลงให้ได้มากที่สุด เป็นต้น

ผู้เลี้ยงรายใหญ่บางรายลดจำนวนการเลี้ยงไก่ลงร้อยละ 30 จากจำนวนลูกไก่ที่ผลิตออกมาสัปดาห์ละ 600,000 ตัว ในจำนวนนี้เลี้ยงเองร้อยละ 70 หรือ 420,000 ตัว ส่วนที่เหลือ 180,000 ตัวหรือร้อยละ 30 จำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงรายอื่น การที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่บางรายลดการเลี้ยงลงทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์ลงได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะลดปริมาณการเลี้ยงลง แต่ปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปของผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากได้หันมารับซื้อชิ้นส่วนไก่ชำแหละจากผู้เลี้ยงรายอื่นแทนในสัดส่วนเดียวกับที่ลดการเลี้ยง การซื้อชิ้นส่วนไก่ชำแหละและนำมาปรุงสุกและส่งออกมีข้อดีคือ ช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ พร้อมทั้งสามารถเลือกซื้อเฉพาะส่วนที่ลูกค้าต้องการได้ เช่น น่องไก่ หรืออกไก่ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการส่วนที่เหลือ ในขณะที่หากเลี้ยงเองจะต้องรับผิดชอบไก่ทั้งตัว ทำให้มีภาระด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ผู้เลี้ยงเสนอขอลูกค้าปรับขึ้นราคา ซึ่งลูกค้าสามารถยอมรับกับราคาที่สูงขึ้นได้ เช่น เนื้อหน้าอกที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ตันละ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันราคาขึ้นมาอยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าในต่างประเทศยอมรับราคาที่ปรับสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะที่ยุโรป รัฐบาลได้ประกาศให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไปว่าปีนี้ราคาเนื้อสัตว์ในท้องตลาดจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30.0

นอกจากนี้ ปัญหาโรคไข้หวัดนกยังเป็นปัจจัยที่ยังสร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังไม่มีแผนที่จะขยายการลงทุนอุตสาหกรรมไก่เพิ่มขึ้น และไม่ได้ตั้งเป้าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพราะเกรงว่าหากขยายการลงทุนไปแล้ว เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนก การส่งออกจะถูกระงับ ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีปัญหาไม่สามารถจำหน่ายได้ หรือหากนำมาวางจำหน่ายในประเทศราคาจำหน่ายก็ต่ำกว่าราคาส่งออก ขณะเดียวกันหากเก็บสต็อกไว้ก็จะส่งผลให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น กำลังการซื้อผู้บริโภคมีเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจไก่เนื้อก็พร้อมจะขยายให้เต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ได้ ซึ่งปัจจุบันโรงงานแปรรูปไก่มีกำลังผลิตเพียงร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งเป็นการผลิตสอดคล้องกับความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคในขณะนี้

แนวโน้มปี’52…ตลาดส่งออกยังสดใส

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าการส่งออกไก่แปรรูปในปี 2552 ยังคงอยู่ในเกณฑ์สดใส เนื่องจากปัจจัยหนุนจากความต้องการของทั้งตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังคงขยายตัว โดยสหภาพยุโรปเป็นตลาดหลักในการส่งออกไก่แปรรูปส่วนชิ้นเนื้ออก และญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักรองรับเนื้อไก่ถอดกระดูก ส่วนเนื้อน่อง สะโพก และขา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตาม มีดังนี้

การหวนกลับมาส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไทยจัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์ เพื่อยกระดับฟาร์มสัตว์ปีกมาตรฐานให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน และรักษาสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่เนื้อในเชิงธุรกิจ โดยหวังว่าไทยจะมีโอกาสส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไก่เนื้อที่มาจากคอมพาร์ทเมนต์ที่ผ่านการรับรองแล้ว ซึ่งโอไออีเข้ามาตรวจการเลี้ยงไก่ระบบคอมพาร์ทเมนท์ในไทยไปแล้วรอบแรก และพอใจในมาตรฐานและขอให้ไทยปรับปรุงอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะเข้ามาตรวจอีกครั้งในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2551 หากได้รับการรับรองมาตรฐานไทยก็จะกลับมาส่งออกไก่แช่แข็งได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การที่มูลค่าการส่งออกไก่แช่แข็งจะกลับขึ้นไปสูงเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกนั้นต้องอาศัยเวลา เนื่องจากผู้ส่งออกของไทยต้องไปแย่งชิงตลาดกลับคืนมาจากบราซิลและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดใหม่ที่น่าสนใจคือ ประเทศรัสเซียที่ผู้นำเข้าไก่แช่แข็งอันดับหนึ่งของโลก โดยมีสัดส่วนการนำเข้ามากถึงร้อยละ 22 ของปริมาณไก่แช่แข็งทั้งโลก ก็มีความสนใจและพิจารณาการนำเข้าไก่จากไทย

ปัญหาโควตาครึ่งหลังปี 2552 การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปยังสหภาพยุโรปจะขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์จากปริมาณการส่งออกที่อยู่ภายใต้โควตา ซึ่งจะมีอัตราภาษีต่ำ ส่วนการส่งออกไก่หมักเกลือนั้นไทยจะได้รับประโยชน์จากโควตาที่ได้รับการจัดสรรก็ต่อเมื่อไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้อย่างเด็ดขาด โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2552 การส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรปยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ช่วงครึ่งหลังปี 2552 ซึ่งมีแนวโน้มว่าการส่งออกไก่แปรรูปของไทยจะเต็มโควตา และต้องเสียภาษีนอกโควตา ดังนั้นอัตราภาษีที่มีแนวโน้มสูงขึ้นน่าจะส่งผลให้การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปยังสหภาพยุโรปชะลอตัวลง

การส่งออกไปสู่ตลาดญี่ปุ่นยังคงขยายตัว การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นในปี 2552 คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือ อัตราภาษีนำเข้าไก่แปรรูปของไทยมีแนวโน้มลดลงตามกรอบเจเทปป้าจากที่ระหว่างปี 2550-2551 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5.0-5.5 ก็ลดลงเหลือร้อยละ 4.5 ในปี 2552 และลงไปอยู่ในอัตราร้อยละ 3.0 ในปี 2555

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่ของไทยก็ยังต้องปรับตัวรับกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ซึ่งมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไก่และผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นตาม ประกอบกับภาวะความผันผวนของค่าเงินบาทและการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ต่างล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยไก่แปรรูปของในตลาดต่างประเทศ

บทสรุป

การส่งออกไก่แปรรูปในปี 2551 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามอง อันเป็นผลจากปัจจัยเอื้อจากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกไก่แปรรูปของไทยประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ด้านสุขอนามัย รวมทั้งการตรวจพบยาตกค้างในผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้นำเข้าหันมานำเข้าไก่แปรรูปจากไทยแทน นอกจากนี้ ไทยยังได้เปรียบคู่แข่งขันในเรื่องอัตราภาษี โดยในตลาดญี่ปุ่นไทยได้ลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเจเทปป้า ส่วนในตลาดสหภาพยุโรปไทยได้รับโควตาส่งออกในอัตราภาษีที่ต่ำ รวมทั้งผู้เลี้ยงไก่เนื้อและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเร่งปรับตัวรับมือกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น จากแนวโน้มราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มในปี 2552 คาดว่าการส่งออกไก่แปรรูปยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากไทยยังได้ลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเจเทปป้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มว่าในช่วงครึ่งปีหลังไทยจะส่งออกเต็มตามโควตา และต้องเสียภาษีในอัตรานอกโควตา ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ดังนั้น มีแนวโน้มว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2552 การส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรปจะชะลอตัว สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ มีแนวโน้มที่ไทยจะกลับมาส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงต้องจับตาการเข้ามาตรวจสภาพการเลี้ยงของโอไออี และถ้าไทยได้รับการรับรองเป็นประเทศปลอดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ผู้ส่งออกของไทยต้องไปแย่งชิงตลาดกลับคืนมาจากบราซิลและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดใหม่ที่น่าสนใจคือ รัสเซีย และประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งทั้งสองตลาดนี้ผู้ส่งออกไก่ของไทยมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดได้เพิ่มอีกมากทีเดียว