สมาคมโรคตับเอเชียแปซิฟิก เผยตัวยาใหม่รักษาตับอักเสบชนิดบีอย่างได้ผล

ประธานสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยผลการประชุมแนวทางการรักษาใหม่ของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง สามารถค้นพบตัวยาเม็ดสำหรับรับประทาน ที่สามารถช่วยยืดอายุให้กับชาวเอเชียนับล้านรายที่ติดเชื้อได้

ศาสตราจารย์จอร์จ เค เค หลิว ประธานสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเลขาธิการงานประชุมโรคตับนานาชาติฮ่องกง – เซี่ยงไฮ้ เปิดเผยถึงผลการประชุมโรคตับนานาชาติฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ เพื่อพัฒนาแนวทางในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง (CHB) ว่าโรคไวรัสตับอักเสบบีเกิดการแพร่ระบาดมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีจำนวนของผู้ที่เป็นพาหะของโรคคิดเป็น75 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร 350 ล้านคนทั่วโลก โดยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ถือเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก เฉพาะในประเทศจีนมีประชากรที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีไปแล้วประมาณ 100 ล้านคน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีมากกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีถึง 50-100 เท่า ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ชนิดเรื้อรังจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นแต่อย่างใด แต่หากไม่มีการตรวจและทำการรักษาเพื่อติดตามโรค จะมีจำนวนประชากรประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นพาหะของโรค จะเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งตับหรือโรคตับแข็งในท้ายที่สุด

ในปัจจุบัน มีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีขึ้นในหลายรูปแบบ เริ่มต้นแพทย์จะตรวจวัดระดับ ALT ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นระดับเอ็นไซม์ และระดับ “ดีเอ็นเอของไวรัสตับอักเสบบี” การตรวจวัดดังกล่าวจะแสดงให้เห็นจำนวนไวรัสตับอักเสบบีในร่างกายของผู้ป่วยว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงจะกำหนดว่าจะสามารถเริ่มการรักษาได้เมื่อใด และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจวัดระดับค่าอีแอนติเจนของไวรัสตับอักเสบบีด้วย

สำหรับแนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี เริ่มมีการเผยแพร่ในปี 2548 และได้ก้าวเข้าสู่การรักษาในรูปแบบของตัวยาชนิดรับประทาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิภาพการรักษาในระยะยาว แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้พัฒนามากขึ้น และได้ผลิตยาชนิดรับประทาน ที่สามารถใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์จอร์จ เค เค หลิว กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในปัจจุบัน จะมีทางเลือกในการรักษาที่เพิ่มขึ้น หลังจากมีการเปิดตัวยาเม็ดสำหรับรับประทานชนิดใหม่ไปแล้ว โดยยาดังกล่าวได้รับการอนุมัติและพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยเมื่อใช้ในขณะตั้งครรภ์ สำหรับในประเทศไทยยาเม็ดสำหรับรับประทานดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนและวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ปี 2550

ด้านศาสตราจารย์ จิน ลิน ฮู จาก หน่วยโรคติดเชื้อ ประเทศจีน กล่าวว่า การตรวจระดับไวรัสในเลือดที่สัปดาห์ที่ 24 หลังการเริ่มให้ยามีความสำคัญและเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากทำให้รู้การดำเนินของโรคและสามารถปรับเปลี่ยนการรักษาได้ทันเวลา นอกจากนี้ช่วยยังลดค่าใช้จ่ายในการรักษาในระยะยาวด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในขณะนี้เป้าหมายในการรักษา จะเริ่มเห็นผลสำเร็จทั้งในด้านพัฒนาการและตัวยาในการรักษามากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีให้หายขาดได้ เพียงแต่เป้าหมายหลักของการรักษาที่ทางสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังใช้ความพยายามอยู่ก็คือการยับยั้งไวรัสตับอักเสบบีไม่ให้แสดงอาการอย่างถาวร และผู้ป่วยที่เป็นพาหะของโรค ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไปสู่ผู้อื่นได้เท่านั้น