นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังเพิ่มขึ้น : แม้เงินเฟ้อสูง-ราคาน้ำมันพุ่ง

การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 118.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสวนกับทิศทางด้านกำลังซื้อของภาคประชาชนที่อ่อนแรงลง ภายหลังจากต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ คาดหมายว่าผลจากราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการนำเข้าที่มีแนวโน้มลดลงตามปัจจัยเงินบาทที่แข็งค่าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนต่อการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ อาทิ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ทั้งนี้ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้ไม่สูงมากนักซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพสูง และบางส่วนนำเข้ามาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าที่ยังคงมีกำลังซื้อสูงและนิยมสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้ต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากในช่วงที่ดุลการค้าของไทยขาดดุลอยู่ในปัจจุบัน ประการสำคัญ การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยังส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากต้องแข่งขันกับผู้ผลิตสินค้าจากประเทศต่างๆในตลาดโลกแล้ว ยังต้องมาแข่งขันเพื่อแย่งตลาดในประเทศที่มีจำกัดอีกด้วย

ในปี 2551 คนไทยต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้นตามปัจจัยด้านราคาน้ำมัน จนส่งผลกระทบกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจก็กำลังเผชิญกับปัจจัยลบมากมายทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเพื่อยับยั้งปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้งปัญหาความผันผวนทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อภาวะการค้า การลงทุน รวมทั้งการบริโภคภาคประชาชน และถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่อาจจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังที่กล่าวมาเบื้องต้นดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยมูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจาก 148.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 เพิ่มขึ้นมาเป็น 200.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549(เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9) และ 248.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550(เพิ่มขึ้นร้อยละ24.3) ส่วนในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 118.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และหากคิดในรูปเงินบาทจะมีมูลค่านำเข้าประมาณ 3,850.4 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5

มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ยังคงเพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูประดับกลางถึงสูง นอกจากนี้ ยังเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าราคาถูกเพื่อสนองความต้องการในส่วนของกลุ่มที่มีกำลังซื้อจำกัด ในขณะเดียวกัน ผลจากเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาแพงจากแหล่งผลิตที่เน้นคุณภาพและการออกแบบมีต้นทุนลดลง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ อาทิ จีน อินโดนีเซียและอินเดียจะมีอัตราการเติบโตสูง ในขณะที่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงจะมีอัตราการเติบโตต่ำกว่า

สำหรับแหล่งนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีรายละเอียด ดังนี้

แหล่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ สินค้าที่นำเข้าจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีราคาจำหน่ายต่ำ จับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้และกำลังซื้อจำกัด ซึ่งกลุ่มนี้ได้แก่ สินค้าจากจีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ถือเป็นแหล่งนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยจีนถือว่ามีบทบาทในกลุ่มนี้มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 51.5 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ซึ่งจากการที่ประเทศไทยเผชิญกับปัจจัยกดดันจากปัญหากำลังซื้อของภาคประชาชนที่ซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ส่งผลให้ ความต้องการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกมีเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้มีทั้งสิ้นประมาณ 70.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการนำเข้าจากจีนมูลค่า 60.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2) อินโดนีเซีย มูลค่านำเข้า 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.9) อินเดียมูลค่านำเข้า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.3) เวียดนาม มูลค่านำเข้า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ลดลงร้อยละ 37.5) กัมพูชา มูลค่านำเข้า 1.4 ล้านดอลลาร์หสรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ144.2) และลาว มูลค่านำเข้า1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ลดลงร้อยละ 25.1)

แหล่งที่มีต้นทุนการผลิตปานกลางถึงสูง
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้แก่ประเทศในเอเชียอันได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบการตัดเย็บที่ทันสมัย สวยงาม ตามรูปแบบของตนเองหรือตามรูปแบบที่ได้รับความนิยมในยุโรปและสหรัฐฯ โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่านำเข้า 17.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เป็นการนำเข้าจากฮ่องกงมูลค่า 11.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ลดลงร้อยละ 14.4) ญี่ปุ่น มูลค่านำเข้า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4) ไต้หวัน มูลค่านำเข้า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0) และสิงคโปร์ มีมูลค่านำเข้า 1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.6)

แหล่งที่มีการผลิตสินค้าแฟชั่นนำสมัย สินค้าในกลุ่มนี้ได้แก่สินค้าจากสหรัฐฯและประเทศในยุโรป อาทิ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน สหราชอาณาจักร เป็นที่น่าสังเกตว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา ประกอบกับ เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง ในขณะที่เงินยูโรมีการแข็งค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ผู้ซื้อบางกลุ่มที่เคยซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาแพงในยุโรปหันมาซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 2.8 แต่หากแยกเป็นสินค้าที่ผลิตจากยุโรปซึ่งมีมูลค่านำเข้า 15.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 6.8 แยกเป็นการนำเข้าจากสเปน 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ลดลงร้อยละ 4.7) อิตาลีมูลค่านำเข้า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ลดลงร้อยละ 9.0) ฝรั่งเศสมูลค่านำเข้า 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ลดลงร้อยละ 13.1) และสหราชอาณาจักรมูลค่านำเข้า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2) สำหรับมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐฯมีทั้งสิ้น 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8)

เป็นที่น่าสังเกตว่า หากแยกตามประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้วจะพบว่า มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นประเภทสูทที่มูลค่าการนำเข้าปรับลดลง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชุดชั้นในและเสื้อคลุม คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35.5 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 42.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับแหล่งนำเข้าชุดชั้นในและเสื้อคลุมส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีนซึ่งมีจุดเด่นทางด้านราคาจำหน่ายที่ถูกเป็นที่นิยมของกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.4 ของมูลค่าการนำเข้าชุดชั้นในและเสื้อคลุมทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่มีรูปแบบและคุณภาพดี และมีราคาจำหน่ายในระดับปานกลางถึงสูงซึ่งได้แก่ ฮ่องกง (สัดส่วนร้อยละ 23.0) ญี่ปุ่น(สัดส่วนร้อยละ 6.9) ไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 2.7) และมาเลเซีย(สัดส่วนร้อยละ 2.2)

กางเกง กระโปรง และเครื่องแต่งตัว คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 23.9 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกมีมูลค่านำเข้า 28.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับแหล่งนำเข้ากางเกง กระโปรง และเครื่องแต่งตัว ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 50.7 ของมูลค่าการนำเข้ากางเกง กระโปรง และเครื่องแต่งตัวทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 9.0) สเปน (สัดส่วนร้อยละ 7.8) อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 3.4 ) และโมร็อกโก(สัดส่วนร้อยละ2.3)

เสื้อเชิ้ต/เบลาส์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 19.8 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่านำเข้า 23.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าเสื้อเชิ้ต/เบลาส์ ที่มีสัดส่วนมากที่สุดได้แก่ จีนสัดส่วนร้อยละ 55.6 รองลงมาได้แก่ สเปน(สัดส่วนร้อยละ6.1) กัมพูชา(สัดส่วนร้อยละ4.9) อินเดีย(สัดส่วนร้อยละ4.6) และอิตาลี(สัดส่วนร้อยละ4.2)

แจ๊กเก็ตและเสื้อเบลเซอร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5.0 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการนำเข้าทั้งสิ้น 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับแหล่งนำเข้าแจ๊กเก็ตและเสื้อเบลเซอร์ที่สำคัญได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.3 รองลงมาได้แก่ สเปน(สัดส่วนร้อยละ 8.3) สหรัฐฯ(สัดส่วนร้อยละ 6.6) อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 5.9) และ ฝรั่งเศส(สัดส่วนร้อยละ3.5)

ชุดสูท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.9 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการนำเข้าชุดสูทมูลค่า 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับแหล่งนำเข้าชุดสูทที่สำคัญได้แก่ จีน สัดส่วนร้อยละ 43.0 รองลงมาได้แก่อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 19.4) ตุรกี(สัดส่วนร้อยละ 8.2) สเปน(สัดส่วนร้อยละ 5.7) และฮ่องกง (สัดส่วนร้อยละ 3.9) ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเข้าชุดสูทมีการปรับตัวลดลงทั้งในส่วนที่นำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำอย่างจีน รวมทั้งที่นำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงอย่างอิตาลี สเปน หรือฮ่องกง ทั้งนี้เนื่องจากชุดสูทเป็นเครื่องแต่งกายที่มีราคาค่อนข้างสูงกว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทอื่น อีกทั้งความถี่ในการสวมใส่ก็น้อยกว่า ทำให้ผู้บริโภคคนไทยลดหรือชะลอการซื้อชุดสูทใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง

เสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทอื่นๆ เช่น ชุดนอน เสื้อโอเวอร์โค้ด ชุดวอร์ม ชุดว่ายน้ำ มีมูลค่านำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.9 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทอื่นๆ มูลค่า 17.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.7 รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย(สัดส่วนร้อยละ 10.9) สเปน(สัดส่วนร้อยละ 5.8) อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 5.4) และสหราชอาณาจักร(สัดส่วนร้อยละ 4.7)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซานั้น แม้ว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 60 จะเป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างจีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อและรายได้จำกัด ซึ่งประโยชน์ในเบื้องต้นจะตกแก่ผู้บริโภคคนไทยที่จะได้ใช้สินค้าราคาถูก อย่างไรก็ตาม สำหรับในระยะยาวแล้ว มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศ ซึ่งปัจจุบันก็ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตสินค้าจากประเทศต่างๆในตลาดโลก และยังต้องมาแข่งขันเพื่อแย่งตลาดในประเทศที่มีจำกัดอีกด้วย โดยปัจจัยดังกล่าวนับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการของไทยบางรายซึ่งไม่สามารถแข่งขันได้และจำเป็นต้องเลิกกิจการไป ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานในภาคธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมทั้งธุรกิจสิ่งทออื่นๆ ซึ่งมีแรงงานเกี่ยวข้องรวมกันถึงกว่า 1 ล้านคน โดยจากข้อมูลของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเลิกกิจการแล้วทั้งสิ้น 26 รายรวมเงินลงทุน 329.1 ล้านบาท รวมแรงงานที่เกี่ยวข้อง 3,732 คน และที่น่าเป็นห่วงก็คือผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี(SMEs) ซึ่งต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างจีนที่ส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลถึงการสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นการซ้ำเติมภาวะการขาดดุลการค้าของไทยอันเป็นผลจากราคาน้ำมันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น(ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีการขาดดุลการค้าประมาณ 1,695.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงปี 2550 ทั้งปี ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 12,136.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากปัญหาการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงซบเซาภาครัฐรวมทั้งผู้ประกอบการจึงควรร่วมมือกันเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ดังนี้

มาตรการในส่วนภาครัฐ
การควบคุมมาตรฐานสินค้านำเข้า
หน่วยงานภาครัฐควรเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า ในส่วนของเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาทิ มาตรฐานการตัดเย็บ มาตรฐานสี สารเคมี และเนื้อผ้าที่ใช้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สวมใส่ รวมทั้งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อสกัดไม่ให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีราคาถูกเนื่องจากใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำ เข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากจะเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ซื้อแล้ว ยังช่วยทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกได้เพิ่มขึ้น

ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาครัฐควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม ซึ่งมีการผลิตสินค้าเพื่อจับตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกเช่นเดียวกับที่นำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ อาทิ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่จำเป็นอาทิ การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำใช้ปรับปรุงเครื่องจักรและประสิทธิภาพการผลิต การให้ความช่วยเหลือมาตรการทางภาษีธุรกิจให้ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศได้

มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ
การปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบสินค้า
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบสินค้าที่สอดคล้องกับแฟชั่นและความนิยมของผู้ซื้อ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงซึ่งนิยมสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศเชื่อมั่นในรูปแบบ และคุณภาพสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยมากขึ้น

การสร้างตราสินค้า(Brand Name) การสร้างเครื่องหมายการค้าที่เป็นของไทยให้ติดตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวางจะช่วยทำให้สินค้าไทยมีความน่าสนใจและเป็นที่ยอมรับซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนการใช้สินค้าไทยทางหนึ่งด้วย ในขณะเดียวกัน ตราสินค้าจะส่งผลถึงความผูกพัน และคุ้นเคย เกิดการซื้อซ้ำ หรือที่เรียกว่าความภักดีต่อตัวสินค้า(BRAND LOYALTY) ซึ่งจะช่วยในด้านการเพิ่มยอดขายในระยะยาว

การลดต้นทุนการผลิต ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยควรพิจารณาหาหนทางปรับลดต้นทุนการผลิตอาทิ การใช้วัตถุดิบในประเทศไทยมากขึ้นถ้าหากวัตถุดิบในประเทศมีคุณภาพเท่าเทียมและราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกับต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงการผลิตเพื่อการลดความสูญเสียของวัตถุดิบจากกระบวนการผลิตให้ลดลง

กล่าวโดยสรุปแล้ว ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ซบเซาเช่นปัจจุบัน แต่การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่มีทางเลือกในการตัดสินใจใช้สินค้าต่างๆมากขึ้น แต่ก็ย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยทำให้ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นไปอีก ดังนั้น ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศดังกล่าว ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ นอกจากจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศให้อยู่รอดภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ในขณะเดียวกัน ผลพลอยได้ที่ตามมานั่นคือ การช่วยให้ภาพรวมดุลการค้าของไทยดีขึ้นนั่นเอง