ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความผันผวนโดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มสูงสุดในรอบกว่า 1-2 ทศวรรษ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกทั้งของประเทศคู่ค้าและประเทศผู้ลงทุนที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ปัญหาการเมืองภายในประเทศก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจมีความไม่มั่นใจและอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยได้
การลงทุนจากต่างประเทศในระยะที่ผ่านมาของปี 2551.. หดตัวลง
ตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอโดยภาพรวมในช่วงระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย 2551 ลดลงร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนประมาณ 203.7 พันล้านบาทหรือประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างการลงทุนจากต่างประเทศพบว่าการลงทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 34.8 โดยการลงทุนจากประเทศผู้ลงทุนหลัก คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีการลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนนี้อาจเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าได้ว่าการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าจะมีแนวโน้มอ่อนแรงลงมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ไม่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมในปี 2551 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าเป้าหมายที่ 600 พันล้านบาท
ด้านกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ (ซึ่งเป็นเครื่องชี้เงินลงทุนจากต่างประเทศที่มีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว) ตั้งแต่ในปี 2550 มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินลงทุนจากต่างประเทศสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.9 ต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ลดลงร้อยละ 25.7 ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ากระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิรวมในปี 2551 จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10-20 หรือคิดเป็นมูลค่าระหว่าง 5.9-6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
วิกฤติราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ.. ผลต่อการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค
ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งประเทศที่ระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะได้รับผลกระทบมาก จากผลการศึกษาของธนาคารโลก พบว่าดัชนีโลจิสติกส์ของไทยอยู่ในลำดับที่ 31 จาก 150 ประเทศ โดยไทยมีค่าดัชนีที่น้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน แต่มากกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยยังมีต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศค่อนข้างสูง (จากการเปรียบเทียบต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของดัชนี ในกลุ่ม 6 ประเทศ เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่มีต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศต่ำกว่าไทย) สาเหตุก็เพราะว่าไทยมีการพึ่งพาเส้นทางขนส่งทางบกเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้อุตสาหกรรมที่ทำการผลิตอยู่ในไทยค่อนข้างเสียเปรียบเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่ง เนื่องจากทางเลือกอื่นๆ เช่น ระบบราง ในไทยยังมีข้อจำกัด
เงินเฟ้อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ตลาดและความน่าลงทุนของประเทศ ในประเทศไทยตัวเลขของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 2551 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กระทั่งสิงคโปร์และมาเลเซีย ต่างก็ประสบกับภาวะที่เงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากเช่นเดียวกัน ซึ่งภาวะเงินเฟ้อไม่เพียงแต่มีนัยต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงความน่าลงทุนของประเทศในภูมิภาคซึ่งค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แรงงานจะเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและต่อค่าจ้างแรงงาน โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 หลายประเทศได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น ซึ่งค่าจ้างที่แพงขึ้นเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องแบกรับและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดสถานะการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของไทยถือว่าอยู่ระดับกลางๆ โดยถ้าเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค มาเลเซียมีค่าจ้างสูงกว่าไทยประมาณ 1.6 เท่า ขณะที่จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีระดับค่าจ้างที่ต่ำกว่าไทยประมาณครึ่งหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ของประเทศด้วย) อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม นั้น นับตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา ได้มีการปรับค่าจ้างขึ้นไปในอัตราที่สูงกว่าไทย ซึ่งเหตุผลที่สำคัญเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่าไทยค่อนข้างมาก การที่ประเทศอื่นๆ มีการปรับค่าจ้างขึ้นในอัตราที่สูงกว่าไทย ก็น่าจะมีผลทำให้ช่วงห่างของความแตกต่างของอัตราค่าจ้างระหว่างไทยกับคู่แข่งแคบลงมาบ้าง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเปรียบเทียบค่าจ้างระหว่างประเทศ คือ ความแตกต่างของโครงสร้างตลาดแรงงานในแต่ละประเทศ ผลิตภาพของแรงงาน ตลอดจนภาวะอุปสงค์และอุปทานของแรงงานในแต่ละท้องที่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ค่าแรงที่จ่ายจริงอาจมีความแตกต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำ
ทั้งนี้หากการคาดการณ์เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ย่อมจะเป็นแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้นอีก และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า wage-price spiral ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ การดูแลเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และพยายามกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่งและเป็นปัญหาที่ทุกๆประเทศได้รับผลกระทบแม้ว่าจะในระดับมากน้อยต่างกันไป ในขณะที่ปัจจัยระยะยาวที่บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการตัดสินใจเลือกแหล่งที่ตั้งของการลงทุนยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายส่งเสริมการลงทุน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศนั้นๆ ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับกลยุทธ์เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ โดยเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานแล้ว ไทยยังเป็นที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จากรายงานของเจโทรที่ทำการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในต่างประเทศ พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากจีน โดยบริษัทญี่ปุ่นมองไทยว่ามีปัจจัยที่ได้เปรียบจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดียในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา และการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน ความพร้อมของคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมสนับสนุน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการ การเปิดกว้างของตลาด และข้อพิพาทด้านแรงงานที่มีน้อยกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ ในขณะที่ไทยเสียเปรียบในด้านขนาดและศักยภาพการเติบโตของตลาด ต้นทุนธุรกิจ เป็นต้น
การเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง คือ จีน เริ่มสูญเสียความน่าดึงดูดในการลงทุน โดยในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ค่าแรง ต้นทุนดำเนินการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ตลอดจนรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมาได้ลดการสนับสนุนการส่งออกและข้อจำกัดในการลงทุนในจีนเริ่มมีมากขึ้น ทำให้บริษัทข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะย้าย/ขยายการลงทุนไปในประเทศอื่นๆ ในขณะเดียวกัน เวียดนามซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของนักลงทุนก็ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ คือ เงินเฟ้อที่เติบโตในอัตราสูงเฉลี่ยร้อยละ 20.3 ในช่วง 6 เดือนแรก การขาดดุลการค้าที่สูงถึง 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรก นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจได้ส่งผลให้ราคาที่ดินในเวียดนามสูงขึ้นมาก และประเทศมีการขาดแคลนแรงงานในระดับกลาง (middle-level manager) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย อย่างไรก็ตามเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐในหลายๆเรื่อง อาจทำให้นักลงทุนมีการชะลอการลงทุนในไทย
สรุปและข้อเสนอแนะ
แม้ว่าโดยภาพรวมภาวะการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนหน้ามากนัก แต่การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในกรณีที่ไม่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง มูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมในปี 2551 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 พันล้านบาทซึ่งต่ำกว่ามูลค่าเป้าหมายที่ 600 พันล้านบาท ในขณะที่กระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปี 2550 ประมาณร้อยละ 10-20 หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 5.9-6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสาเหตุหลักของการชะลอตัวของการลงทุนในช่วงนี้เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และราคาของปัจจัยการผลิต (แรงงาน วัตถุดิบ) และต้นทุนการขนส่งในประเทศ ภายใต้สภาพปัญหาที่เศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่นี้ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความได้เปรียบ-เสียเปรียบของประเทศในภูมิภาคเอเชียในด้านความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในด้านต้นทุนค่าขนส่ง ไทยอาจได้รับผลกระทบมากกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และอินโดนีเซีย แต่อาจน้อยกว่าเวียดนาม ทั้งนี้เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาเส้นทางขนส่งทางบกเป็นหลัก นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการปรับค่าจ้างแรงงาน ซึ่งต้นทุนในด้านแรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่กำหนดสถานะการแข่งขันระหว่างประเทศ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่บริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญในการตัดสินใจเลือกประเทศเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุน โดยการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานของไทยยังมีอัตราที่น้อยกว่าจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย
จะเห็นได้ว่าปัญหาราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ มีผลให้ความได้เปรียบของเวียดนาม และอินโดนีเซียลดน้อยลงไปในบางด้าน ซึ่งควรเป็นจังหวะที่ไทยใช้โอกาสนี้ปรับกลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อช่วงชิงการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศของไทยที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไทยเสียโอกาสได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ภายนอกประเทศ เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งมีความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทยและชะลอการลงทุนในระยะนี้ ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนามนั้นอาจมีผลเพียงระยะสั้นต่อความรู้สึกของนักลงทุน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเวียดนามทั้งในด้านทรัพยากรและศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจยังเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนในระยะยาว
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ความได้เปรียบของปัจจัยการผลิต (ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพและราคา) ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้เป็นสิ่งหลักๆ ที่นักลงทุนข้ามชาติให้ความสำคัญและใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุนในที่ใดที่หนึ่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ การบริหารจัดการโดยใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อและในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะเดียวกันรัฐบาลควรต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) และโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่ง อาทิ การขยายเครือข่ายระบบรางให้ครอบคลุมและเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาการขนส่งทางบก และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ นอกจากนี้ การสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทยเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งอาจทำให้โครงการเหล่านี้ล่าช้าออกไป รวมทั้งอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในเรื่องของนโยบาย ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานะการแข่งขันของประเทศในระยะยาวและความน่าดึงดูดของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้