จีเอ็มพร้อมลุยตลาดรถยนต์โลก 2552 อัดฉีดงบเพิ่มสภาพคล่องกว่า 4.9 แสนล้านบาท

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์เปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา หรือจีเอ็ม ได้ประกาศแผนธุรกิจฉบับล่าสุดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป นอกจากนั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกายังประสบปัญหายอดขายต่ำสุดในรอบทศวรรษอีกด้วย

มร. ริค แวกอเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร จีเอ็ม คอร์เปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “เรากำลังรับมืออย่างเต็มกำลังต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นในตลาดรถยนต์อเมริกาปัจจุบัน และเราจะเดินหน้าทำสิ่งที่จำเป็นต่อไป เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลงและความต้องการที่เริ่มเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันเรายังคงยึดมั่นต่อคำสัญญาที่จะส่งมอบรถยนต์ที่ดีที่สุดให้กับพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นกว่าเดิม” พร้อมเผยว่า รถยนต์ที่เพิ่งเปิดตัวในสหรัฐ 11 รุ่น จาก 13 รุ่น และอีก 18 รุ่น ในจำนวน 19 รุ่นที่กำลังจะเปิดตัว ล้วนเป็นรถยนต์แบบลูกผสมสำหรับพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตอย่างสูง

“มาตรการต่างๆ ที่เรานำมาใช้ในวันนี้ เมื่อผสานกับแผนงานและประสบการณ์ในอดีตตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะวางตำแหน่งเราให้สามารถอยู่รอดในช่วงเวลาวิกฤติได้เท่านั้น แต่ยังจะต้องผ่านพ้นความท้าทายดังกล่าวในฐานะบริษัทที่เต็มไปด้วยความสามารถในการแข่งขัน แข็งแกร่ง และประสบความสำเร็จให้จงได้” มร. แวกอเนอร์กล่าว

สำหรับเป้าหมายในการวางแผนสภาพคล่องนั้น จีเอ็มคาดการณ์จากจำนวนยานพาหนะในอเมริการะหว่างปี 2551-2552 อย่างคร่าวๆ ราว 14 ล้านคัน ซึ่งต่ำกว่าแนวโน้มที่ได้ประมาณการณ์ไว้อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น มูลค่าหุ้นของสหรัฐที่ตกลงประมาณร้อยละ 21 และราคาน้ำมันที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากบาร์เรลละ 130 ดอลลาร์ สู่ 150 ดอลลาร์ในปีหน้า ก็ล้วนเป็นปัจจัยหลักๆ ที่จีเอ็มนำมาพิจารณาเพื่อปรับใช้ในการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ และเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด

ในเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก ปีนี้สภาพคล่องของจีเอ็มอยู่ที่ 23,900 ล้านดอลลาร์หรือราว 7.8 แสนล้านบาท โดยมีสินทรัพย์อีกราว 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งสภาพคล่องดังกล่าวเพียงพอต่อความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในปี 2551 แต่จีเอ็มยังเสริมมาตรการอีกหลายประการเพื่อสร้างสภาพคล่องให้มากขึ้นสำหรับเป็นหลักประกันหากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกายังคงยืดเยื้อต่อไป โดยมีการประมาณไว้ว่าจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องสะสมในปี 2552 ได้อีก 4.8 แสนล้านบาท

มาตรการในการดำเนินงานและแผนงานต่างๆ

เมื่อเทียบกับแผนเดิม ด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบการดำเนินงานภายในและกิจกรรมต่างๆ จีเอ็มคาดว่าจะทำให้รายได้สะสมเพิ่มขึ้นราว 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบางส่วนประกอบด้วย

? แผนลดค่าจ้างสำหรับพนักงานในบางตำแหน่งในประเทศอเมริกาและแคนาดา ประจำปี 2551 คือการลดจำนวนพนักงานลง โครงการเกษียณก่อนกำหนด การรวมแผนก และวิธีคัดแยกอื่นๆ นอกจากนั้น ยังลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับพนักงานในอเมริกาที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป โดยเปลี่ยนเป็นเงินบำนาญที่มากขึ้นให้กับพนักงาน หรือคู่สมรสที่รับสิทธิแทน ซึ่งเงินบำนาญดังกล่าวมาจากกองทุนเงินเดือนพนักงานของจีเอ็มในสหรัฐฯ ที่มีทุนสะสมเกินอยู่ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายเสริมอื่นๆ อีกทั้งยังงดการปรับฐานการจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้กับพนักงานประจำในสหรัฐฯ และแคนาดาในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2551 ตลอดจนถึงปี 2552 ด้วย

นอกจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ส่งผลกระทบไปถึงผู้บริหารของเจนเนอรัล มอเตอร์ส ด้วยแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ อีกได้แก่ ยกเลิกเงินโบนัสประจำปีแก่คณะผู้บริหารของบริษัทในปี 2551 การปรับลดโบนัสดังกล่าว ประกอบกับแรงจูงใจระยะยาวหรือเงินปันผล ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้โอกาสของบรรดาผู้บริหารที่จะได้รับเงินตอบแทนสำหรับปี 2551 ก็ลดลง สำหรับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ค่าตอบแทนที่จะได้รับนั้นจะลดลงถึงร้อยละ 75-84

การเปลี่ยนแปลงด้านผลตอบแทน การปรับลดจำนวนพนักงาน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้บริษัทลดต้นทุนที่เป็นเงินสดได้มากกว่าร้อยละ 20 คิดเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2552

? ทั้งนี้ การดำเนินงานของจีเอ็มในอเมริกาเหนือยังจะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในระดับโครงสร้างเป็นจำนวนเงิน 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท มาตรการดังกล่าวส่วนหนึ่งจะทำได้โดย การปรับปรุงสายการผลิตรถบรรทุก และ อะไหล่ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการทำธุรกิจท่ามกลางภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ คาดว่าบริษัทจะปรับลดการผลิตรถบรรทุกจำนวน 3 แสนคัน ภายในปี 2552 โดยครึ่งหนึ่งจะดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะดำเนินการตามมาตรการใหม่

นอกจากนี้เจนเนอรัล มอเตอร์ส จะตัดลดและรวมงบประมาณฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดเข้าด้วยกัน โดยจะเน้นไปที่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์รถออกสู่ตลาด และ การโฆษณา ส่วนงบด้านวิศวกรรมของปี 2551 และ 2552 จะอยู่ในระดับเดียวกับของปี 2549-2550 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าแผนที่ได้วางไว้ มาตรการต่างๆ เหล่านี้เมื่อประกอบรวมเข้ากับข้อตกลงด้านผลประโยชน์ระหว่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส และ สหภาพแรงงาน (UAW – The United Auto Workers) เมื่อปี 2550 คาดว่าจะส่งผลต่อการลดโครงสร้างค่าใช้จ่ายของจีเอ็ม ในทวีปอเมริกาเหนือจาก 33,200 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท ให้เหลือประมาณ 26,000 -27,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 8.65-8.99 แสนล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งจะประหยัดงบประมาณไปได้ 6,000 – 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.33 แสนล้านบาท

? จีเอ็ม ได้ทบทวนแผนการใช้จ่ายของบริษัท และจะลดค่าใช้จ่ายลง 1,500 ล้านดอลลาร์จากแผนเดิมที่ตั้งไว้ โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับปี 2552 ประมาณว่าจะอยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับแผนเดิมที่วางไว้ถึง 8,500 ล้านดอลลาร์ (ตัวเลขนี้ไม่รวมค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านดอลลาร์ของปี 2551 และ 2552 ในประเทศจีนเนื่องจากเป็นเงินที่ได้มาจากกลุ่มบริษัทร่วมทุนของจีเอ็ม เพื่อใช้ขยายฐานการเติบโตของตลาดในจีน) การลดต้นทุนที่สำคัญอีกประการคือ การชะลอโครงการเปิดตัวรถกระบะขนาดใหญ่ และรถยนต์อเนกประสงค์ เอสยูวี รุ่นใหม่ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องยนต์วี-แปดและสมรรถนะเครื่องยนต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในแผนงานที่อยู่นอกเหนือสายการผลิตรถยนต์ แต่ขณะเดียวกันก็จะไปเพิ่มงบด้านการพัฒนาระบบขับเคลื่อนและเทคโนโลยีประหยัดเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ๆ รวมทั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แผนค่าใช้จ่ายของปี 2552 ที่ปรับขึ้นใหม่นี้จะสูงกว่างบโดยเฉลี่ยของปี 2548-2550 ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายการผลิตรถกระบะขนาดใหญ่ และรถยนต์อเนกประสงค์ เอสยูวี โดยทางจีเอ็มคาดว่าหลังจากปี 2552 งบของบริษัทจะอยู่ที่ระหว่าง 7,000 -7,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.33 – 2.49 แสนล้านบาท ยกเว้นในจีน

? มาตรการเชิงรุกนี้ถูกนำมาใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงงบประมาณด้านการปฏิบัติงานในทวีปอเมริกาเหนือ และ ยุโรปให้ลดลงโดยประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 66,500 ล้านบาท ซึ่งจะรวมไปถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการรักษาระดับสต็อกสินค้าที่ผลิตแล้ว และ การลดปริมาณสต็อคอะไหล่ในคลัง

? จีเอ็ม จะชะลอการจ่ายเงิน 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 5,670 ล้านบาท ที่กำหนดไว้ในงบดุลบัญชีชั่วคราวของปี 2551และ 2552 เพื่อนำไปใช้ในการจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพสำหรับสมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ (UAW VEBA)

? คณะกรรมการบริหารของจีเอ็มได้ตัดสินใจระงับการปันผลหุ้นทั่วไป ซึ่งมีผลในทันที คาดว่าจะทำให้เกิดสภาพคล่องประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ หรือ 26.65 พันล้านบาท ตลอดปี 2552

มาตรการขายทรัพย์สิน และแผนงานทางการเงิน

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงด้านการดำเนินงาน และมาตรการอื่นๆ จีเอ็ม คาดว่าจะเพิ่มสภาพคล่องได้ถึง 4,000-7,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.33 – 2.33 แสนล้านบาท จากการขายทรัพย์สิน และแผนงานทางการเงิน

? จีเอ็ม กำลังทำการประเมินทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อเตรียมนำออกขาย หรือ แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสภาพคล่องได้ราว 2,000- 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 66,700 ล้านบาท – 1.33 แสนล้านบาท และเชื่อมั่นว่าวิธีการขายทรัพย์สินนี้จะไม่กระทบต่อทิศทางยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ โดยขณะนี้ได้มีการนำที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามาช่วยประเมินทางเลือกเพิ่มขึ้น และ ได้มีการวิเคราะห์แบรนด์ฮัมเมอร์ (Hummer) ในเชิงยุทธศาสตร์ อีกทั้งเจนเนอรัล มอเตอร์ส ยังคงเน้นความสำคัญในการวางแผนการปรับปรุงผลกำไรของแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้เจนเนอรัล มอเตอร์ส อีกด้วย

? จีเอ็ม จะยังคงเดินหน้ารุกเจาะตลาดทั่วโลกเพื่อเพิ่มรายได้เสริมสภาพคล่อง โดยขณะนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 66,700 ล้านบาท – 1 แสนล้านบาทโดยประมาณ บริษัทฯ มีทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกผันอยู่กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6.67 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยชำระหนี้ หรือ อาจทำให้บริษัทมีทางเลือกอื่น ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายมากกว่าที่วางไว้แต่ต้น ตัวอย่างของทรัพย์สิน อาทิ หุ้นในบริษัทลูกของจีเอ็มในต่างประเทศ แบรนด์ผลิตภัณฑ์ รวมถึงหุ้นในบริษัทผู้ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์จีแม็ค (GMAC) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

มาตรการต่างๆ ที่ออกมาในวันนี้ครอบคลุมถึงผลประกอบการที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งบริษัทฯ จะประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าในไตรมาสนี้จะมีตัวเลขขาดทุน อันเป็นผลกระทบมาจากการประท้วงนัดหยุดงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่าง อเมริกัน แอ็กเซิล (American Axle) และสหภาพแรงงานในอเมริกาเหนือ ประกอบกับตลาดรถยนต์ของสหรัฐฯ ยังคงซบเซาต่อเนื่อง รวมไปถึงการสวนกระแสตลาดของยานยนต์ในบางเซ็กเมนต์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคาดการณ์ถึงค่าใช้จ่ายก้อนโตด้านค่าแรง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการปรับลดชั่วโมงการทำงานในสหรัฐฯ ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ ตลอดจนผลกระทบอีกหลายอย่างที่คาดว่าบริษัทฯ จะได้รับไม่ว่าจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตรถบรรทุก มูลค่าหุ้นของจีแมค (GMAC) ปัญหาการเช่าทรัพย์สิน การฟื้นตัวของเดลไฟ (Delphi) ข้อพิพาทกับอเมริกัน แอ็กเซิล (American Axle) สถานการณ์ด้านสัญญาแรงงานในแคนาดา และปัญหาอื่นๆ

จีเอ็ม มั่นใจอย่างยิ่งว่ามาตรการที่ประกาศออกมาในวันนี้ เมื่อรวมเข้ากับสถานภาพทางการเงินในปัจจุบันและสินเชื่อมูลค่า 4,000 – 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.33 – 1.66 แสนล้านบาท จากรัฐบาลสหรัฐฯ จะอำนวยให้เกิดสภาพคล่องแก่บริษัทฯ เพื่อให้การดำเนินงานของปี 2552 ประสบผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

“มาตรการที่ประกาศออกมาในวันนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากแต่ก็จำเป็นเพื่อตอบรับกับสภาวะตลาดรถยนต์ในปัจจุบัน” มร.แวกอเนอร์กล่าว แม้ว่าภาพของแผนงานดังกล่าวอาจจะคล้ายกับเช่นที่เคยทำมาก่อน แต่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ก็มั่นใจว่าเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจขาลงของสหรัฐฯ และ จะทำให้บริษัทฯ กลับมาแข็งแกร่งขึ้น เรามีสถานภาพที่ชัดเจนในตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และ กรอบการบริหารงานในระดับโลกที่ทำให้เราปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในตลาดสหรัฐฯ ด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี พร้อมกับสายผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในตลาด”