แนวโน้มนิคมอุตสาหกรรม … มุ่งปรับกลยุทธ์ ชูจุดขายลดต้นทุนในภาวะน้ำมันแพง

ภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีถึงแม้ว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนบ้างแต่ไม่ถึงกับทำให้นักลงทุนหยุดการลงทุน เพียงแต่ส่งผลให้มีความล่าช้าอยู่บ้างในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและการดำเนินการก่อสร้างจริง อย่างไรก็ตามจากภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญปัญหาต่างๆ รุมเร้า ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ อยู่ในช่วงเวลาที่ต้องมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะหน้ากับการปรับตัวอย่างเข้มข้นเพื่อฝ่าแรงกดดันต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงอาจมีผลทำให้ธุรกิจโดยภาพรวมมีการชะลอการลงทุนในระยะข้างหน้า

สถานการณ์ดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้แนวโน้มนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2551 อาจจะชะลอตัวลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งกลยุทธ์การปรับตัวและบทบาทการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอนาคต ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ปัญหาราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ อาจยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปในระยะข้างหน้า

ภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ยังขยายตัวได้

สถานการณ์นิคมอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมาของปี 2551 ยังคงมีทิศทางที่ดี โดยข้อมูลจากบริษัท ซีบีริชาร์ด เอลลิส จำกัด ระบุว่า ปริมาณขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกปี 2551 มีจำนวน 1,192 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2550 ที่มีปริมาณขายพื้นที่ทั้งสิ้น 2,201 ไร่ คิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 118

การขยายตัวของปริมาณขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปีนั้น ได้รับปัจจัยบวกจาก โครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายๆ โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอแล้วกำลังจะเริ่มดำเนินการ เช่น การลงทุนผลิตรถยนต์ประเภท อีโค คาร์ ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 7 บริษัท โครงการผลิตไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าโดยรวมมีมูลค่ายอดขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 41.97 อย่างไรก็ตามมูลค่ายอดขายรวมที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากสถานะขาดทุนของบริษัทที่จดทะเบียนบางราย แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้ออกมาเปิดเผยถึงยอดขายที่ดินว่ามียอดขายเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะมีลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อที่ดินอย่างต่อเนื่องและเซ็นสัญญาได้ตรงตามกำหนดเวลาที่คาดไว้ สำหรับรายได้จากการเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภคมีอัตราการขยายตัวเล็กน้อย โดยในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งแนวโน้มของรายได้จากค่าเช่าและค่าบริการสาธารณูปโภคของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะสูงขึ้นตามจำนวนของผู้เช่ารายเล็กที่มีมากขึ้น ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 โครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนร้อยละ 65.5 เป็นโครงการขนาดเล็ก โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กเลือกที่จะเช่าโรงงานสำเร็จรูปมากกว่าที่จะซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแล้วสร้างโรงงานเอง รวมถึงในสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันส่งผลให้ผู้ประกอบการนิยมที่จะเช่าโรงงานมากกว่า

แนวโน้มนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี…อาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้น

จากภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญปัญหาต่างๆ รุมเร้าในปัจจุบัน ประกอบกับภายใต้สภาวะที่ธุรกิจต่างๆ เผชิญปัญหาเฉพาะหน้าที่กดดันต่อผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความตึงเครียดของสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายในประเทศ และอาจมีผลต่อแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนเลื่อนการตัดสินใจลงทุนโครงการใหม่ๆ ออกไป รวมทั้งชะลอการซื้อที่ดิน ถ้าหากพิจารณาจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 พบว่าลดลงร้อยละ 13.32 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีจำนวนเงินที่ขอรับการส่งเสริมสุทธิ 203.7 พันล้านบาท เทียบกับ 235 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 แนวโน้มของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2551 คาดว่าอัตราการขยายตัวของปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอาจจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 (อาจหดตัวลง) เนื่องจากต้องเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยถ้าหากยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในไตรมาสถัดๆ ไปมีระดับใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสแรก จะส่งผลให้ยอดขายพื้นที่ตลอดทั้งปีมีประมาณ 4,800 ไร่ ใกล้เคียงกับปี 2550 ที่มียอดขาย 4,812 ไร่ สำหรับแนวโน้มรายได้ที่นอกเหนือจากการขายพื้นที่ คาดว่า แนวโน้มของตลาดโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าให้เช่าจะขยายตัวมากขึ้น ตามการลงทุนจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจากแรงกดดันราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจหันมาลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยใช้บริการต่างๆจากภายนอกมากขึ้น รวมถึงในด้านคลังสินค้าด้วย

บทบาทการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม…มุ่งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยเผชิญแรงบีบคั้นเพิ่มขึ้นในการประกอบธุรกิจให้อยู่รอดและแข่งขันได้ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในทิศทางที่เหมาะสม อาจมีบทบาทในการช่วยผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในยุคน้ำมันแพงได้ นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยังควรที่จะสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต พร้อมกับการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ทิศทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่จะเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ได้แก่

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอนาคตนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง มีการรวมเป็นคลัสเตอร์มากขึ้น การรวมเป็นคลัสเตอร์จะทำให้กลุ่มผู้ผลิตมีศักยภาพในแข่งขันและพัฒนาสินค้าและบริการมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิต ต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบและต้นทุนสินค้าคงคลังลงได้ ในภาวะที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ได้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ นิคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม ซึ่งอุตสาหกรรมเฉพาะทางหลายแห่งประสบความสำเร็จค่อนข้างดี กนอ.จึงเตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางในสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น นิคมสำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมกระจก นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ก็มีแผนจัดทำนิคมการเกษตรขึ้น เพื่อเร่งปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรที่จะเอื้ออำนวยต่อการกระจายผลผลิตไปสู่ส่วนต่างๆ ของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่อง และแบ่งขอบเขตพื้นที่เฉพาะสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงาน

การบริหารระบบสาธารณูปโภค ช่วยลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน

ในภาวะที่ราคาพลังงานเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ประกอบการเช่นในปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งเห็นความสำคัญของการบริหารการใช้เชื้อเพลิง รวมถึงการบริหารระบบโลจิสติกส์ มีการจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานทางเลือก เช่น เศษวัสดุและของเหลือจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป เพื่อประหยัดต้นทุนการใช้พลังงาน ใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมันเตา ซึ่ง บมจ.ปตท.มีโครงการวางท่อก๊าซย่อยให้เข้าถึงนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ในส่วนของการขนส่งสินค้าก็ปรับมาใช้ไบโอดีเซลและเอ็นจีวีแทนน้ำมันดีเซล นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งได้มีการขยายการบริการด้าน โลจิสติกส์ทั้งระบบ ตั้งแต่คลังสินค้าให้เช่า การจัดระบบขนส่งโดยมีการส่งสินค้าของโรงงานหลายๆ แห่งร่วมกันเพื่อให้การขนส่งแต่ละเที่ยวใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเต็มศักยภาพการขนส่ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยได้ รวมถึงมีการนำระบบไอทีเข้ามาใช้มากขึ้น

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

การที่ประเทศไทยมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทำให้ประเทศไทยสามารถทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ได้ นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนมากขึ้นพิจารณาได้จากการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งและระบบสาธารณูปโภคระหว่างประเทศภายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการค้าชายแดนของไทย พบว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่าการค้าสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยมีมูลค่าการค้า 271,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 221,747 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 คิดเป็นร้อยละ 72.6 ของการค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 69.7

ในปัจจุบันการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS (Great Mekong Basin Sub Region) ส่งผลให้ธุรกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันคึกคักมากขึ้น หน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐจึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาเขตอุตสาหกรรมตามพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น จังหวัดเชียงราย ที่เป็นประตูสู่มณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน จังหวัดตาก ที่เชื่อมต่อกับประเทศพม่า เป็นต้น นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนที่สำคัญนอกจากจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมสำคัญที่จะส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้อีกด้วย ผ่านเส้นทางเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต แต่ทั้งนี้การที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตามแนวชายแดนได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่ดี ความเชื่อมโยงของเส้นทางการขนส่งและกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางภาษีของภาครัฐก็มีส่วนช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้

สรุปและข้อเสนอแนะ

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 สถานการณ์นิคมอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ค่อนข้างดี เนื่องมาจากได้รับปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายๆ โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอแล้วกำลังจะเริ่มดำเนินการ รวมทั้งการที่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้ความสนใจกับการเช่าโรงงานและคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี คาดว่า ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอาจจะชะลอตัวลง เนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของปี 2551 อาจจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มของตลาดโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าให้เช่าจะขยายตัวมากขึ้นตามความสนใจของผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมที่หันมาเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าของบริษัทนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอนาคตนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง มีการรวมเป็นคลัสเตอร์มากขึ้นเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่ม มีความเชื่อมโยงกันของอุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิต รวมถึงในปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนมากขึ้น คาดว่า ในอนาคตจะส่งผลให้มีการกระจายพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมไปตามจังหวัดที่เป็นเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เนื่องจากมีระบบคมนาคมขนส่งและการกระจายสินค้าที่สะดวก และมีตลาดรองรับ รวมทั้งหน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาเขตอุตสาหกรรมตามพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนนอกจากจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมสำคัญที่จะส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆของโลกได้อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตทั้งสิ้น ฉะนั้นภาคอุตสาหกรรมควรจะให้ความสำคัญในเรื่องของการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมสนับสนุน สามารถช่วยลดต้นทุนในการขนส่งวัตถุดิบ ต้นทุนสินค้า คงคลัง รวมทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนในการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตและการขนส่ง ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมตามแนวทางดังกล่าว

การที่จะทำให้เกิดการพัฒนาของนิคมอุตสาหกรรมตามแนวทางข้างต้นนั้น ภาครัฐบาลเป็นกลไลสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาของนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่ง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน เพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ในภาคตะวันออกที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งจะช่วยให้เกิดเขตนิคมอุตสาหกรรมตามแนวจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับเพื่อนบ้านตามแนวทางที่ภาครัฐและภาคเอกชนอยากให้เกิดขึ้น