มรสุมเศรษฐกิจรุมเร้า…กระทบความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อ

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยได้ลดอุณหภูมิความร้อนแรงลง จากเดิมที่สถาบันการเงินต่างทำแคมเปญการตลาดอย่างหนัก โดยผ่านสื่อโฆษณาในรูปแบบต่างๆ มีการจัดแคมเปญมอบของรางวัลจูงใจ อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษในช่วงเริ่มต้น เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครสินเชื่อประเภทต่างๆ ทำให้เกิดสงครามแย่งชิงลูกค้าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากในขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยได้มีการปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ความเสี่ยงจากสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ปัจจัยดังกล่าวนี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อ ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินจะต้องการขยายฐานสินเชื่อของตนมากเพียงใดก็ตาม แต่ในภาวะเช่นนี้สถาบันการเงินจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อของตน เพื่อควบคุมคุณภาพสินเชื่อในระบบและป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะมีผลต่อสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ปัจจัยดังกล่าวยังอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่ม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการสำรวจ “ พฤติกรรมการใช้สินเชื่อและผลกระทบต่อผู้บริโภคในภาวะค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ” เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ใช้บริการสินเชื่อในระบบอย่าง ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank กำลังเผชิญในขณะนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และมีผลทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในปีนี้ และยังอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ ในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน -17 กรกฎาคม 2551 จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 812 ชุด โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อทางการเงินประเภทต่างๆ ในระบบ เช่น สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยกระจายไปตามห้างสรรพสินค้าและตามสถานที่ทำงานทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ประเด็นสำคัญจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้สินเชื่อและผลกระทบต่อผู้บริโภคในภาวะค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า

 มรสุมเศรษฐกิจกระทบหนัก…ผู้บริโภคปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ผู้บริโภคต้องเผชิญกับปัจจัยรุมเร้านานัปการ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการปรับตัวของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 67 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบกับราคาสินค้าหลายประเภทต่างปรับตัวสูงขึ้นและสินค้าบางรายการได้ปรับขึ้นกว่าร้อยละ 70 ของราคาสินค้าที่ขายในช่วงปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสอบถามถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประเมินว่าตนเองได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 87.9 ของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่ประเมินตนเองว่าไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 12.1 ของกลุ่มตัวอย่าง

เมื่อสอบถามถึงการปรับตัวของผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง เช่น ดูหนัง ทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 48.5 ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในการซื้อสินค้า เช่น ซื้อจำนวนน้อยลง เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 42.4 ของกลุ่มตัวอย่าง สำหรับผู้บริโภคที่ยังคงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เหมือนเดิมแต่ได้หันมาพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของกลุ่มตัวอย่าง

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้บริการสินเชื่อ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจถึง การใช้บริการสินเชื่อของผู้บริโภค พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการใช้บริการสินเชื่อประเภทต่างๆ อาทิ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 57.9 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้บริการสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 42.1 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม

สำหรับประเภทสินเชื่อที่ผู้บริโภคใช้บริการมากที่สุด คือ สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 36.6 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ รองลงมา คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 21.1 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็นร้อยละ 18.7 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ ในขณะที่ผู้ใช้บริการสินเชื่อเงินสด คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ โดยในจำนวนนี้มีผู้ใช้บริการสินเชื่อมากกว่า 1 ประเภท คิดเป็นร้อยละ 44.7 ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการสินเชื่อ

มรสุมรุมเร้า: ผู้บริโภคขอสินเชื่อเพิ่ม…เพื่อหมุนเงิน

ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการขยายตัวของสินเชื่อของผู้บริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีการเติบโตที่ชะลอลง ทั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank ชะลอการทำแคมเปญการตลาดในสินเชื่อบางประเภท นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank มีการเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น จะเห็นได้ว่ายอดการปฏิเสธสินเชื่อในช่วงนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ที่มียอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงกว่าร้อยละ 30-40 ของจำนวนผู้ขอสินเชื่อ

ในขณะเดียวกันผู้บริโภคมีการระมัดระวังการก่อหนี้มากขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางกลุ่มกำลังเผชิญกับสภาพคล่องลดลง เนื่องมาจากภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เร่งตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายรับคงเดิม ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องหันมาพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น จากผลสำรวจ พบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ไม่ได้ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นมีประมาณร้อยละ 70.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการสินเชื่อ ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการสินเชื่อ

ถึงแม้ว่าสัดส่วนการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นจะมีจำนวนน้อยก็ตาม แต่เมื่อสอบถามถึงสินเชื่อที่ผู้บริโภคมีการขอเพิ่มขึ้นมากที่สุด และสาเหตุของการขอนั้น พบว่า สินเชื่อที่มีการสมัครเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 30.7 ของผู้ที่มีการสมัครสินเชื่อเพิ่มขึ้นในปีนี้ สำหรับจุดประสงค์ของการขอสินเชื่อบัตรเครดิต ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่สมัครเพื่อ สำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 38.2 ของผู้ขอสินเชื่อบัตรเครดิต ในขณะที่รองลงมา คือ มีการสมัครเพิ่มขึ้นเพื่อการหมุนเงิน คิดเป็นร้อยละ 31.2 ของผู้ขอสินเชื่อบัตรเครดิต ในขณะที่การสมัครสินเชื่อบัตรเครดิตเพื่อ สิทธิประโยชน์แตกต่างกัน คิดเป็นร้อยละ 15.8 ของผู้สมัครสินเชื่อบัตรเครดิต

ในขณะที่สินเชื่อที่มีการสมัครเพิ่มขึ้นในปีนี้ รองลงมา คือ สินเชื่อเงินสด คิดเป็นร้อยละ 26.7 ของผู้ที่มีการสมัครสินเชื่อเพิ่มขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคที่สมัครสินเชื่อเงินสดโดยส่วนใหญ่สมัครเพื่อนำไปชำระสินเชื่อประเภทอื่น หรือหนี้อื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 39.4 ของผู้ขอสินเชื่อเงินสด รองลงมา คือ สมัครเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คิดเป็นร้อยละ 36.4 ของผู้ขอสินเชื่อเงินสด นอกจากนี้ผู้ที่สมัครสินเชื่อเงินสด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 15.2 ของผู้ขอสินเชื่อเงินสด

พิษเศรษฐกิจ…ความสามารถในการผ่อนชำระลดลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สอบถามถึงสัดส่วนการผ่อนชำระสินเชื่อทุกประเภทต่อรายได้นั้น พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ผ่อนชำระสินเชื่อที่ประมาณร้อยละ 31-40 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของกลุ่มตัวอย่าง รองลงมา คือ ผ่อนชำระสินเชื่อที่ประมาณร้อยละ 21-30 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ16.3 ของกลุ่มตัวอย่าง และผ่อนชำระสินเชื่อที่ประมาณร้อยละ 10-15 ของรายได้ คิดเป็นร้อยละ16 ของกลุ่มตัวอย่าง

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการชำระสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อ คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระสินเชื่อของตนคิดเป็นร้อยละ 46.3 ของกลุ่มตัวอย่าง

สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่มีการผ่อนชำระสินเชื่อบางตัวต่องวดน้อยลง เนื่องจากภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.8 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ รองลงมา คือ ผ่อนชำระเท่าเดิม แต่ไม่ตรงวันที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 30.9 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ และผ่อนชำระมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการเป็นหนี้ คิดเป็นร้อยละ 22 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ

บทสรุปและข้อคิดเห็น

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผู้บริโภคได้เผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจนานัปการ โดยเฉพาะกับปัญหาภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การขนส่งที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประเมินว่าตนเองได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 87.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบ และเมื่อสอบถามถึงการปรับตัวของผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามโดยส่วนใหญ่มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง เช่น ดูหนัง ทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 48.5 ของกลุ่มตัวอย่าง

นอกจากมรสุมทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ในภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มประสบกับปัญหาสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จากผลสำรวจนั้น พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของกลุ่มตัวอย่าง โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ผ่อนชำระสินเชื่อบางตัวต่องวดน้อยลง เนื่องจากภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.8 ของผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระสินเชื่อ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยรวมยังมีปัจจัยเสี่ยง ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ที่คาดว่าน่าจะส่งผลดีในด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและแม้ว่าจะเป็นมาตรการในลักษณะบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ผู้บริโภคยังคงต้องเผชิญในระยะข้างหน้า ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ระดับสูง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีกหลังจากได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ความเสี่ยงจากสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคในระยะข้างหน้า เป็นต้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อในวงกว้างได้ ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม Non-Bank ยังคงต้องเข้มงวดในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อ เพื่อรักษาคุณภาพของสินเชื่อในระบบ โดยเฉพาะในส่วนของการติดตามพฤติกรรมการผิดนัดชำระสินเชื่อ นอกจากนี้การแข่งขันขยายฐานในธุรกิจสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด ยังคงมีความเข้มข้น แต่จะเป็นการเน้นที่คุณภาพมากกว่าการเน้นจำนวนบัญชีใหม่ที่เกิดขึ้น

สำหรับข้อพิจารณาของผู้ใช้บริการสินเชื่อสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มมียอดสินเชื่อคงค้างที่เกินกว่าระดับรายได้ของตนเอง และอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อในระยะยาวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในส่วนนี้ผู้บริโภคควรเร่งจัดการบริหารเงินที่ดี เช่น การปรึกษาสถาบันการเงินในกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้อีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติที่ไม่ดี ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคต นอกจากนี้ผู้บริโภคควรที่จะใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวัง ไม่ควรใช้จ่ายจนเกินกำลังความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง เพื่อป้องกันการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้บริโภคควรคำนึงถึงเสมอว่า การใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต(ในกรณีของสินเชื่อบัตรเครดิต เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี) รวมถึงสินเชื่อเงินสด ผู้บริโภคจำเป็นต้องระมัดระวังและไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างเกินกำลังความสามารถในการชำระคืนของตนเอง