ทิศทางเศรษฐกิจจีนหลังโอลิมปิก 2008 : ปรับโครงสร้างเพื่อเติบโตอย่างสมดุล

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-29 สิงหาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจีนที่แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของจีนที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่ที่จีนสามารถนำพาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนมีอัตราขยายตัวอย่างร้อนแรงด้วยตัวเลข 2 หลักติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ตามลำดับ นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ามากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากเยอรมนี สำหรับภาคเอกชนจีนก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีบทบาททางธุรกิจในเวทีการค้าโลกมากขึ้น และแบรนด์สินค้าของจีนหลายประเภทได้สร้างชื่อเป็นแบรนด์ระดับสากลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาหลายด้านที่อาจส่งผลทางลบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีน ได้แก่ ช่องว่างการกระจายรายได้ของคนในเมืองและคนในภาคชนบท ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ติดทะเลภาคตะวันออกและภาคกลาง การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างสิ้นเปลืองส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญเศรษฐกิจจีนในปีนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านจากทั้งภายในและภายนอก นอกจากเสถียรภาพด้านราคาจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงร้อยละ 7.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 21.9 แต่สัญญาณการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 17.6 ทำให้คาดว่าการส่งออกของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย และคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 10 จากร้อยละ 11.9 ในปี 2550 และ ร้อยละ 10.4 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนเพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงจึงถือเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้จีนสามารถต้านทานแรงกดดันจากปัจจัยท้าทายภายนอก ขณะที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาภายนอกประเทศด้วย

โอลิมปิกปักกิ่ง 2008 : ลงทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน

การลงทุนของจีนสำหรับงานโอลิมปิกที่มุ่งพัฒนาด้านระบบคมนาคม สาธารณูปโภคพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว โดยจีนใช้งบประมาณในการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในสัดส่วนร้อยละ 90 ของงบการลงทุนในการจัดงานครั้งนี้เป็นการลงทุนด้านการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ระบบการขนส่ง สาธารณูปโภคต่างๆ และระบบโทรคมนาคม เม็ดเงินใช้จ่ายของทางการจีนในงานโอลิมปิกครั้งนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งผู้อยู่อาศัยในปักกิ่ง ภาคธุรกิจ และภาคท่องเที่ยวในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากเป็นการสร้างประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโทรคมนาคม ระบบขนส่ง และสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและผู้อาศัย รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและต่างชาติจากการปรับปรุงด้านสภาพแวดล้อมและปัญหามลพิษด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงปักกิ่งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากปักกิ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก ระดับมลภาวะทางอากาศเฉลี่ยต่อวันของปักกิ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกเกือบ 5 เท่า

การใช้จ่ายด้านการลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะด้านระบบคมนาคมสำหรับงานโอลิมปิกยังสามารถรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอย่าง World Expo ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในปี 2553 และงานเอเชี่ยนเกมส์ที่กวางโจว ในปี 2555 ด้วย เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้คนจากทั่วโลกและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเข้ามาท่องเที่ยวและชมงานในเมืองที่จัดงานและเมืองอื่นๆ รวมทั้งปักกิ่งด้วย ขณะที่ทางการจีนวางแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการถนนเชื่อมโยงรอบนครเซี่ยงไฮ้ รถไฟความเร็วสูงระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงในการเดินทางไปมาระหว่างเมืองต่างๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป เนื่องจากจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนหลังโอลิมปิก 2008

การรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและมั่นคงยังคงเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของจีนในปีนี้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่จีนต้องเผชิญกับหลากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนทั้งจากภายในและภายนอกจากภาวะเงินเฟ้อระดับสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป การดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่จีนวางไว้จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ดังนี้
กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออก … ส่งเสริมภาคบริการและเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกรวมทั้งจีนประสบภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนชะลอตัวลงทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าอ่อนแรงลง รวมทั้งค่าเงินหยวนที่อยู่ในระดับแข็งค่า ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ อุตสาหกรรมของจีนที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเน้นการส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้า/สิ่งทอ รองเท้า ของเล่นและเฟอร์นิเจอร์ การส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 11.1 มูลค่าส่งออก 81.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550

ทางการจีนจึงเพิ่มอัตราภาษีคืนให้กับการส่งออก (tax rebate) เสื้อผ้าและสิ่งทอเป็นร้อยละ 13 จากเดิมร้อยละ 11 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 แต่ผลดีที่ผู้ส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอของจีนได้รับจากการเพิ่มอัตราจ่ายภาษีคืนครั้งนี้ก็ยังนับว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าการปรับลดอัตราจ่ายคืนภาษีส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าในปี 2550 ซึ่งสะท้อนว่า แม้ทางการจีนต้องการบรรเทาผลกระทบของภาคการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ชะลอตัวลงในปีนี้ แต่ก็ยังคงมีนโยบายลดการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากและใช้พลังงานสูงด้วย นอกจากนี้ทางการจีนต้องการลดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะและทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง สังกะสี และ silver เห็นได้จากมาตรการยกเลิกการให้ภาษีคืนแก่ภาคส่งออกสังกะสีจากเดิมที่ให้ภาษีคืนในอัตราร้อยละ 5 และลดอัตราภาษีคืนที่ให้กับการส่งออกยาฆ่าแมลงบางชนิด รวมทั้งสินค้าโลหะบางประเภท

สนับสนุนภาคบริการ – ทางการจีนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคบริการ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตของการค้าภาคบริการ โดยภาคบริการของจีนคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของจีดีพี ซึ่งนับว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับภาคบริการของประเทศพัฒนาแล้ว ทางการจีนตั้งเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 ที่ต้องการปรับโครงสร้างการผลิตและเปลี่ยนรูปแบบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมบริการและยกระดับสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่สำคัญ เช่น พัฒนาภาคการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมเอาท์ซอสซิ่ง และอุตสาหกรรมด้านการทำวิจัยพัฒนา นอกจากนี้ภาครัฐสนับสนุนการค้าภาคบริการ โดยเน้นให้การค้าภาคบริการมีความหลากหลายมากขึ้นจากปัจจุบันที่การค้าภาคบริการของจีนส่วนใหญ่เป็นการค้าบริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยวและบริการด้านการขนส่ง การจัดงานโอลิมปิกของจีนที่ใช้งบลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคบริการของจีนให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พึ่งพาความต้องการภายใน – แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 ของจีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยความต้องการบริโภค (consumer demand-driven economy) ภายในเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสมดุล ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคส่งออกตามภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศ การพัฒนาตลาดบริโภคภายในประเทศของจีนยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ขณะที่การใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสังคมของรัฐบาลจีนยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายด้านอื่นๆ ทั้งนี้ รายได้ต่อหัวของคนเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 อยู่ที่ 8,065 หยวน ขณะที่รายได้ต่อหัวของคนชนบทในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 2,528 หยวน นอกจากนี้ จีนยังประสบปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่ติดทะเลทางตะวันออกและใต้ของจีนที่เป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกับพื้นที่ตอนในภาคกลางและภาคตะวันตก ส่งผลให้ระดับรายได้ของประชากรในพื้นที่มณฑลตอนในต่ำกว่าประชากรในมณฑลที่ติดทะเล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าแรงงานในพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ที่ติดทะเลได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้พื้นที่ตอนในของจีนกลายเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกใหม่ของนักลงทุนจีนและนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยกระจายความเจริญเข้าไปพื้นที่ตอนในและสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้คาดว่าคนจีนในมณฑลตอนในจะมีระดับรายได้ที่สูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐของจีนเน้นการสร้างระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างเมืองในพื้นที่ตอนในกับเมืองสำคัญอื่นๆ มากขึ้น จะช่วยสร้างความเจริญของพื้นที่มณฑลตอนในให้ทัดเทียมพื้นที่ชายฝั่งทะเล และทำให้ระดับรายได้และความต้องการบริโภคของคนจีนโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น

ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ & สนับสนุนพลังงานสะอาด … ปกป้องสิ่งแวดล้อม
การบริโภคพลังงานของจีนเป็นการใช้ถ่านหินมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของจีน และจีนเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก การใช้พลังงานถ่านหินในสัดส่วนที่สูงส่งผลให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ทางการจีนตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจึงออกกฎหมายพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ (Renewable Energy Law) ในปี 2548 โดยวางแผนลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 11 ระหว่างปี 2549-2553 ตั้งเป้าหมายให้พัฒนาแหล่งพัฒนาทดแทนและเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยวางแนวทางให้ลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อจีดีพีลงร้อยละ 20 และลดมลภาวะจากสารซัลเซอร์ไดออกไซด์ลงร้อยละ 10 ภายในปี 2553

จีนใช้พลังงานจากน้ำมันมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.7 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของจีน ในภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากที่ทะยานสูงเกินระดับ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรลในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ตาม ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันของจีนสูงขึ้น ทางการจีนยังไม่ได้ปล่อยเสรีราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้ความต้องการและการผลิตน้ำมันไม่สมดุลกัน โดยจีนควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้ปรับสูงขึ้นมากตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แม้ทางการจีนจะปรับราคาน้ำมัน (ก๊าซโซลีนและดีเซล) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา) แต่ยังคงให้เงินอุดหนุนการนำเข้าน้ำมันดิบแก่รัฐวิสาหกิจกลั่นน้ำมันเพื่อลดการขาดทุนจากการขายน้ำมันก๊าซโซลีนและดีเซลต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งมาตรการอุดหนุนดังกล่าวนอกจากจะเป็นภาระการคลังของรัฐแล้ว ยังไม่สนับสนุนต่อการประหยัดพลังงาน ส่วนผู้ผลิตน้ำมันเองก็ไม่เกิดแรงจูงใจในการผลิตน้ำมันเพิ่มเนื่องจากกำไรต่ำลง ส่งผลให้จีนต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นตามการบริโภคน้ำมันในประเทศ

เป้าหมายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของจีนมีความคืบหน้าอย่างช้าๆ โดยการใช้พลังงานต่อจีดีพีของจีนลดลงร้อยละ 3.27 ในปี 2550 และลดลงร้อยละ 2.62 ในไตรมาสแรกของปี 2551 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 (จากที่ตั้งเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 20 ภายในปี 2553 จากปี 2549) สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ใช้พลังงานสูง มีอัตราเติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 14.5 ลดลงร้อยละ 5.6 จากช่วงครึ่งแรกของปี 2550 นับว่าทางการจีนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีนในอนาคต อาจสะท้อนได้จากงานกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ที่จีนใช้เทคโนโลยีสีเขียว (green technology) และการใช้พลังงานสะอาด (clean energy) ในการก่อสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การใช้ประโยชน์จากน้ำฝน และการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์พลังงานและช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้วย

บทสรุป & ประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทย

การเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกของจีนในครั้งนี้ได้แสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงศักยภาพของจีนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำที่จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจีนให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกแล้ว การเตรียมพร้อมของจีนสำหรับการเป็นเจ้าภาพ จัดงานโอลิมปิกโดยใช้งบประมาณ 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวในช่วงหลังงานกีฬาโอลิมปิก จากที่ก่อนหน้านี้การใช้จ่ายต่างๆ ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2546 ที่จีนได้เริ่มก่อสร้างเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก ทั้งนี้ สนามกีฬา/สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับงานโอลิมปิกครั้งนี้สามารถใช้ประโยชน์และรองรับการจัดงานระหว่างประเทศและงานระดับโลกอื่นๆ ของจีนต่อไป

นอกจากนี้ รายได้จากภาคท่องเที่ยวในปักกิ่งที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมีจำนวนราว 4.5 แสนคนในช่วงโอลิมปิก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกราว 150 ล้านคนที่คาดการณ์ว่าจะเดินทางเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาในช่วงโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปักกิ่งในปีนี้ให้ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากที่เติบโตร้อยละ 12.3 ในปี 2550 อีกทั้งยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวจีนจำนวนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงการแข่งขันกีฬาเนื่องจากความแออัดของนักท่องเที่ยวและข้อจำกัดด้านที่พักในช่วงงานโอลิมปิก จึงวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวหลังงานโอลิมปิกครั้งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปักกิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนโดยรวมในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 140 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากจำนวน 132 ล้านคน ในปี 2550 สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในปักกิ่งและพื้นที่ใกล้เคียงที่สร้างขึ้นสำหรับงานโอลิมปิก เช่น ระบบขนส่ง และสาธารณูปโภค ต่างๆ จะสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนในระยะยาวด้วย ซึ่งปัจจัยหนุนต่างๆ เหล่านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะรักษาอัตราการขยายตัวในระดับ 2 หลักได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10 ในปีนี้

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงปัญหาหลายด้านที่อาจส่งผลทางลบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีน ได้แก่ ช่องว่างการกระจายรายได้ของคนในเมืองและคนในภาคชนบท ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ติดทะเลภาคตะวันออกและภาคกลาง การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างสิ้นเปลืองส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเศรษฐกิจจีนในปีนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านจากทั้งภายในและภายนอกที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างสมดุล นอกจากปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพด้านราคาในภาวะเงินเฟ้อของจีนพุ่งสูงร้อยละ 7.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 21.9 แต่สัญญาณการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 17.6 ทำให้คาดว่าการส่งออกของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย และคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตชะลอลงเป็นร้อยละ 10 จากร้อยละ 11.9 ในปี 2550 ขณะที่ทางการจีนได้วางเป้าหมายการรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมั่นคง ควบคู่กับการสร้างเสถียรภาพด้านราคาในช่วงที่เหลือของปีนี้

เป้าหมายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน ได้แก่ การส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนสามารถต้านทานต่อแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกได้ ขณะเดียวกันก็เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของเศรษฐกิจภายใน เพื่อให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่

 การกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออก โดยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคบริการ การยกระดับสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเน้นขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ

 ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยสารพิษ (emission) และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

 การปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน ส่งเสริมการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน และสร้างความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ติดทะเลทางตะวันออกและทางใต้กับพื้นที่ตอนในของจีน

การลงทุนของจีนสำหรับงานกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ถือเป็นมาตรการรองรับการเติบโตในระยะยาวที่จีนใช้งบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการแก้ไขปัญหามลพิษต่างๆ รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเติบโตอย่างสมดุลของจีน

สำหรับประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพย่อมส่งผลดีต่อไทยด้วย ในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แม้เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะเติบโตชะลอลง แต่การบริโภคและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 27.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยเป็นการเติบโตทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร ในอัตราร้อยละ 23.4 และร้อยละ 21.2 ตามลำดับ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในจีนทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากไทยขยายตัว ที่สำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+56%) ยางพารา (+51%) และเม็ดพลาสติก (+37%) คาดว่าการบริโภคภายในประเทศและ FDI ของจีนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้จะสนับสนุนให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 ขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดี เนื่องจากมีปัจจัยหนุนทั้งจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและอุปทานสินค้าเกษตรในจีนที่ลดลงจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนเพิ่มขึ้น คาดว่ามาตรการปรับลดภาษีสินค้าเกษตรและอาหารของจีนหลายรายการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารในจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกของไทยไปจีนที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีในตลาดจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และทำให้การส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมในปีนี้มีแนวโน้มยังคงเติบโตต่อเนื่องในอัตรากว่าร้อยละ 27

 นอกจากนี้ นโยบายของทางการจีนที่ส่งเสริมการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ตอนในของจีนให้เจริญทัดเทียมกับมณฑลติดทะลทางตะวันออกและทางใต้ ทำให้คาดว่าระดับรายได้ของคนจีนโดยรวมน่าจะปรับตัวสูงขึ้น และเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกไทยมีศักยภาพที่จะรองรับการบริโภคของจีนที่ขยายตัวตามอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญ เช่น อาหารแปรรูป อาหาร/เครื่องดื่มสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น

 ภาคธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและต้องการขยายการลงทุนไปจีนอาจพิจารณาลงทุนในสาขาที่ทางการจีนสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ได้แก่ ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีระดับสูง บริการสมัยใหม่ สาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองระบบนิเวศวิทยา รวมทั้งธุรกิจที่ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน การผลิตที่เน้นความสะอาด การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการคุ้มครองระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม

 สำหรับประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนนั้นน่าจะสะท้อนถึงการพิจารณาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีภาคเศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งทั้งการบริโภคและการลงทุน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 และร้อยละ 42 ของ GDP ตามลำดับ ขณะที่ภาคส่งออกของจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของ GDP ทำให้การชะลอตัวของภาคส่งออกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคส่งออกในระดับสูงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 65 ของ GDP ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศค่อนข้างสูง การหันมาพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งภาคลงทุนและการบริโภค รวมถึงการยกระดับรายได้ของประชาชนและสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในและช่วยลดแรงกดดันจากปัจจัยลบภายนอกประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น