แนวโน้มกองทุนรวมในช่วงที่เหลือของปี 2551…ยังต้องเผชิญหลากปัจจัยท้าทาย

สภาวะการลงทุนในกองทุนรวมในช่วง 7 เดือนแรกอาจจะไม่ค่อยสดใสเท่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แม้ว่าบรรยากาศการเปิดขายกองทุนรวมของบลจ. ต่างๆหลายแห่งจะคึกคักมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยมีการเปิดขายกองทุนรูปแบบใหม่ๆ ทั้งกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ตราสารการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (Euro Commercial Paper: ECP) หรือแม้กระทั่งกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และธุรกิจพลังงาน ก็ไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจกองทุนรวมขยายตัวมากเท่าไรนัก โดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV)ของกองทุนรวมทั้งหมดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ขยายเพียงร้อยละ 2.40 หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1,460,886.8 ล้านบาท ณ วันที่ 25 ก.ค. 2551เทียบกับปลายปี 2550 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเท่ากับ 1,426,626.9 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเมื่อพิจารณาการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในช่วงระยะ 7 เดือน ณ เวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (ก.ค. 2550 เทียบกับ ธ.ค. 2549) พบว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิขยายตัวถึงร้อยละ 25.83 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจกองทุนรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ไว้ รวมถึงแนวโน้มที่น่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ดังนี้

ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไป (ไม่รวมกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในสถาบันการเงินและกองทุนที่ระดมทุนในต่างประเทศ) ในช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา (ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2551) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.40 จากสิ้นปี 2550 โดยมีมูลค่าเท่ากับ 1,460,886.8 ล้านบาท โดยขยับขึ้นมาจาก 1,426,626.9 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2550 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดใน 7 เดือนแรกพบว่ามีทั้งสิ้น 957 กอง เพิ่มขึ้นจาก 823 กองเมื่อสิ้นปี 2550

ทั้งนี้ หากแยกประเภทตามนโยบายการลงทุน พบว่า
กองทุนรวมประเภทตราสารทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งสิ้น 118,243.5 ล้านบาท ลดลงจาก 132,072.7 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 หรือหดตัวลงร้อยละ 10.47 เนื่องจากการที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะพบว่าดัชนีหุ้นไทยดิ่งลงร้อยละ 19.77 จาก 842.97 จุดในช่วงต้นปี และลดลงมาอยู่ที่ 676.32 จุดในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. โดยมีผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความวิตกของนักลงทุนต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก

กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่ากับ 995,640.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.07 โดยเพิ่มขึ้นจาก 950,806.3 ล้านบาทจากเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วที่เติบโตเป็นอย่างมากถึงร้อยละ 35.61 (ก.ค. 2550 เทียบกับ ธ.ค. 2549) ทั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากการลดลงของราคาพันธบัตร (นั่นคืออัตราผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น) เนื่องจากภาวะความกดดันของเงินเฟ้อภายในประเทศและการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ยิ่งไปกว่านั้น ช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา เป็นจังหวะที่กองทุน Euro Commercial Paper (ECP) ทยอยหมดอายุเป็นจำนวนมาก

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่ากับ 61,253.1 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 56,612.5 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2550 คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 8.20 จะเห็นได้ว่ากองทุนดังกล่าวมีการเติบโตมากกว่าบรรดากองทุนอื่นๆ ซึ่งปัจจัยบวกที่ทำให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวมากกว่ากองทุนอื่นๆคือ โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าหรือทางด่วนที่ตัดผ่านอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ ซึ่งช่วยผลักดันให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้น นอกจากนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ในแง่ของสภาพคล่องส่วนใหญ่แล้วของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้การซื้อขายหน่วยลงทุนมีสภาพคล่องกว่าในตัวอสังหาริมทรัพย์โดยตรง อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบแล้ว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็ชะลอตัวลงจากที่ทำได้ร้อยละ 18.92 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ก.ค. 50 เทียบกับ ธ.ค. 49) ซึ่งน่าจะมาจากปัญหาด้านต้นทุนของราคาวัสดุก่อสร้าง รวมถึงการทะยานตัวของราคาน้ำมัน ความกังวลเรื่องการเมืองภายในประเทศและการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับกองทุนรวมแบบพิเศษ อันประกอบไปด้วย กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในช่วง 7 เดือนแรกเท่ากับ 44,412.27 ล้านบาทเทียบกับสิ้นปี 2550 จำนวน 49,408.05 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.11 ขณะเดียวกัน RMF ก็หดตัวลงร้อยละ 3.50 จากสิ้นปี 2550 มาที่ 36,686.41 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การลงทุนในกองทุนประเภทนี้หดตัวน่าจะมีสาเหตุมาจาก การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี นอกจากนี้แม้รัฐบาลเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ซื้อกองทุน LTF และ RMF โดยขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีไปที่ 500,000 บาท/ปี จากเดิมที่ 300,000 บาท/ปี แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยให้กองทุน LTF และ RMF โตขึ้นมาในช่วง 7 เดือนแรก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลเพิ่งประกาศขยายเพดานการลดหย่อนภาษีไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงทำให้นักลงทุนพากันคาดการณ์ว่าจะไปซื้อในช่วงปลายปีแทน เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น และเมื่อพิจารณา ถึงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ของประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกพบว่ามีมูลค่า 220,055.46 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.15 จากเมื่อปีที่แล้ว 209,274.06 ล้านบาท โดยมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 193 กอง เพิ่มมาจากปีที่แล้วถึง 80 กอง สาเหตุที่ทำให้ NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ขยายตัวน่าจะมีปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ยังคงเป็นกองทุนที่บลจ. ต่างๆเปิดขายออกมาเป็นจำนวนมากและนักลงทุนก็ยังคงให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในกองทุนประเภทนี้อยู่ รวมถึงตราสารหนี้ทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (ECP) ซึ่งแม้ว่าจะทยอยครบกำหนดไถ่ถอนของ ECP เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาแต่หลังจากนั้นก็มีการออกขายเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ FIF โดยรวมจึงขยับขึ้นไป

แนวโน้มกองทุนรวมในช่วงที่เหลือของปี 2551
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจกองทุนรวมในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปียังต้องเผชิญหลากปัจจัยท้าท้าย
ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก ควบคู่กับการแข่งขันออกผลิตภัณฑ์เงินออมอัตราดอกเบี้ยจูงใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นคู่แข่งกับผลิตภัณฑ์กองทุนรวมโดยตรง อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีปัจจัยบวกอยู่ ได้แก่ สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีของกองทุน RMF และ LTF ที่ปัจจุบันเพิ่มเพดานการลดหย่อนถึง 500,000 บาทต่อปี หรือการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยคาดว่าจะทำใด้มีการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมมากขึ้น อีกทั้งการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงให้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจและตัวแปรต่างๆ ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ธุรกิจกองทุนรวมบางประเภทอาจยังคงได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจกดดันผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ เช่น กองทุนรวมประเภทตราสารทุน ขณะที่กองทุนที่น่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาลเพื่อใช้ประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนทางภาษี คงจะได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นอกจากนี้ ยังคาดว่ากองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุน FIF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะยังคงอยู่ในความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินแนวโน้มโดยแยกตามประเภทกองทุน ดังนี้

กองทุนรวมแบบพิเศษ
• กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
ด้วยแรงหนุนของการที่รัฐบาลให้ขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีเมื่อเดือนพฤษภาคมไปเป็น 500,000 บาทต่อปี จากเดิมแค่ 300,000 บาทต่อปี ด้วยเหตุนี้เองมีการคาดการณ์ว่านักลงทุนจะทยอยเข้ามาลงทุนในกองทุน RMF และ LTF กันในช่วงปลายปี ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทั้งสองกองฟื้นตัวขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้

กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) แม้ว่าจะพบกับสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกแต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกอง FIF กลับขยายตัวขึ้นไปถึงร้อยละ 5.15 ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์พบว่า กองทุน FIF ยังมีความน่าสนใจที่จะลงทุนต่อไป ซึ่งแนวโน้มของกองทุน FIF น่าจะเน้นไปที่ตราสารหนี้ต่างประเทศ และตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (ECP) โดยอาศัยปัจจัยอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่สูงกว่า ทั้งนี้ บลจ.ก็จะทำการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินไว้ด้วย (Hedging) ยิ่งไปกว่านั้น FIF ก็น่าจะได้ปัจจัยหนุนจากการที่ ธปท. ขยายวงเงินลงทุนต่างประเทศไปเป็น 30,000 ล้านดอลล่าร์ฯ จากเดิมที่ให้วงเงินไปแล้ว 18,000 ล้านดอลล่าร์ฯ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยขณะนี้สถานะวงเงินคงเหลือ ณ เดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ 11,842 ล้านดอลล่าร์ฯ ซึ่งคาดว่า บลจ. ต่างๆจะทำการขอโควต้าวงเงินเพิ่มขึ้นไปอีกเพื่อขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ ก็ยังมีกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศที่ บลจ. ต่างๆเปิดขายออกมาตั้งแต่ต้นปี โดยจะเน้นกลยุทธ์ที่จะดึงดูดนักลงทุนในสร้างอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ได้แก่ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน หรือแม้กระทั่งสินค้าเกษตร โดยกองทุนรวมประเภทดังกล่าวให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงเนื่องมาจากราคาของสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะพุ่งทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นราคาน้ำมันที่ทะยานตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ระดับ 145.36 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันจะได้ปรับลดลงมาบ้างแล้วแต่ก็คาดว่าอาจจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบระดับสูงต่อไปเนื่องจากยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่อุปทานน้ำมันอาจยังคงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ รวมถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลางและกระแสการเก็งกำไรภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน เช่นเดียวกับระดับราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 900 ดอลล่าร์ฯต่อออนซ์ และแม้ว่าราคาทองจะได้อ่อนตัวลงตามราคาน้ำมันขึ้นไปบ้างแล้วแต่ก็ยังอาจจะทรงตัวในระดับสูงได้หากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของค่าเงินดอลล่าร์ฯและเศรษฐกิจโลกทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำดังเช่นทองคำ ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรก็ขยับตัวสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและความต้องการบริโภคที่ขยับขึ้นไปเรื่อยๆเนื่องจากการเพิ่มของประชากรโลกและปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ทั้งนี้ แม้ว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมีความเสี่ยงทั้งทางด้านการแกว่งตัวของราคาและความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่คาดว่ากองทุนบางกองอาจบริหารความเสี่ยงโดยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการเข้าไปลงทุนมากขึ้น ดังนั้น จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นก็น่าจะทำให้กองทุน FIF ยังคงมีความน่าสนใจในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี

กองทุนที่จำแนกตามนโยบายการลงทุน
• กองทุนรวมประเภทตราสารทุน คาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี
แม้ว่าจะยังคงเผชิญกับมีปัจจัยลบจากการที่ตลาดหุ้นยังคงมีแนวโน้มจะประสบกับภาวะผันผวนทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเศรษกิจทั่วโลกชะลอตัว ความกังวลต่อตลาดสินเชื่อของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของปัญหาการเมืองภายในประเทศ ซึ่งก็อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ใน “ภาวะหมี” ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง อันจะจำกัดการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมประเภทตราสารทุนได้

กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ แม้ว่ากองทุน ECP ที่เปิดขายเมื่อปีที่แล้วได้ทยอยกันครบอายุไป ธนาคารพาณิชย์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อระดมเงินฝาก แต่ก็ยังมีกองทุนใหม่ๆ ที่เข้ามาชดเชย ทำให้กองทุนประเภทนี้ยังน่าจะเติบโตต่อไปได้ คือพันธบัตรเกาหลีใต้ที่เปิดขายเป็นจำนวนมากเมื่อช่วงต้นปี รวมถึงการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป โดยคาดว่าอาจทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงใกล้เคียงกับการฝากเงิน แต่ยังคงให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะทำให้บลจ.ต่างๆ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้จะเริ่มปรับตัวลดลง ตามความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราผลตอบแทนยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีกในอนาคตอันใกล้ จากการคาดการณ์ว่าธปท.ยังอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก เพื่อควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อ อันจะทำให้สามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไว้ได้ แม้ว่าจะมีขนาดที่แคบลงกว่าในช่วงไตรมาส 2/2551 ก็ตาม (โดยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 2 ปีและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 2 ปี (หลังภาษี) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.91-2.06 แต่ก็ปรับตัวลดลงมาที่ประมาณร้อยละ 1.16 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา)
แนวโน้มการลงทุนในช่วง 5 เดือนที่เหลือในกองทุนประเภทตราสารหนี้ น่าจะให้ความสนใจไปยังตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนทางด้านราคา รวมถึงตราสารทางการเงินในต่างประเทศมากขึ้น เช่น ตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ (ECP) หรือพันธบัตรต่างประเทศ โดยเน้นไปยังกลุ่มประเทศที่มีส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไทย

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าน่าจะยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อไปได้ เพราะความผันผวนของการลงทุนสายหลัก อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงจากรายได้ประจำจากการเช่าที่สามารถปรับขึ้นได้ในอนาคตและการใช้บริการในอสังหาริมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ บลจ.ส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในโครงการที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ และอยู่ในทำเลที่ดี เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว

สรุปโดยรวมแล้ว แม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ธุรกิจกองทุนรวมจะประสบกับภาวะการชะลอตัวลงไปบ้าง ขณะที่บรรดาบลจ.ต่างๆ พากันเปิดขายหน่วยลงทุนกันอย่างคึกคัก โดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมทั้งหมดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.40 หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1,460,886.8 ล้านบาท ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2551เทียบกับปลายปี 2550 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเท่ากับ 1,426,626.9 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 2.40 ดังกล่าว ต่ำกว่าที่ทำได้ถึงร้อยละ 25.83 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ก.ค. 2550 เทียบกับ ธ.ค. 2549) ถึงแม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ จะมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นมาถึง 134 กองก็ตาม

ทั้งนี้ สถานการณ์กองทุนรวมได้รับผลกระทบจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำโห้ธุรกิจกองทุนรวมชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 โดยเฉพาะหากพิจารณาจากค่า NAVโดยปัจจัยภายในที่ส่งผลลบต่อการลงทุนในกองทุนรวมของไทยได้แก่ ความไม่แน่นอนในทิศทางการเมืองของไทย การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อระดมเงินฝาก ปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมานี้ต่างส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในการลงทุนของประเทศ ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯและทั่วโลก ปัญหาวิกฤตราคาน้ำมัน ฯลฯ

สำหรับสถานการณ์กองทุนรวมในช่วง 5 เดือนหลังของปีนี้นั้น คาดว่าจะยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกับในช่วง 7 เดือนแรก อันอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการลงทุนในกองทุนรวม โดยเฉพาะประเภทตราสารทุน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจกองทุนรวมบางประเภทยังสามารถเติบโตไปได้ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้นของกองทุน RMF และกองทุน LTF การบังคับใช้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่อาจทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินจากธนาคารพาณิชย์มาลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น หรือการที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรยังคงมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะเดียวกัน กองทุนประเภทตราสารหนี้ที่เน้นไปลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพราะยังได้ประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนท่ามกลางความเป็นไปได้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจจะยังอยู่ในระดับสูงซึ่งน่าจะสร้างอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยควรพิจารณาให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสภาพคล่องของผู้ลงทุนและระดับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้