เหตุขัดแย้งรัสเซีย-จอร์เจีย : การช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองโลกขั้วสหรัฐฯ-รัสเซีย ประเด็นที่น่าจับตามอง

เหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและจอร์เจียนาน 5 วัน ในประเด็นความขัดแย้งดินแดนออสซีเชียใต้ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของจอร์เจียที่ต้องการแยกตัวออกจากจอร์เจียเริ่มคลี่คลายลงหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายลงนามเห็นชอบในหลักการของแผนสันติภาพ 6 ประการในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นผลจากความพยายามของสหภาพยุโรป (อียู) โดยประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีของฝรั่งเศลซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปได้เดินทางเจรจาผลักดันทั้งสองฝ่ายให้สงบศึกและตกลงในหลักการที่จะเจรจาเพื่อบรรลุแผนสันติภาพร่วมกันต่อไป ขณะที่สหรัฐฯ หนุนการยุติสงครามและตำหนิรัสเซียที่ใช้กำลังทหารโจมตีจอร์เจีย โดยสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการซ้อมรบทางทะเลที่มหาสมุทรแปซิฟิกกับรัสเซียซึ่งแต่เดิมจะมีทั้งรัสเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษเข้าร่วมซ้อมรบครั้งนี้

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและจอร์เจียครั้งนี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างสองขั้วอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย นับตั้งแต่สงครามเย็นผ่านพ้นไป จอร์เจียมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซียมาตั้งแต่ที่จอร์เจียประกาศเอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 2534 เนื่องจากปัญหาแบ่งแยกดินแดนในจอร์เจีย โดยมีแคว้นออสซีเชียใต้และแคว้นอับคาเซียที่ถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจอร์เจียที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ โดยจอร์เจียกล่าวหารัสเซียว่าแทรกแซงปัญหาภายในของจอร์เจีย ขณะที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนจอร์เจียอย่างเต็มที่และผลักดันจนจอร์เจียกำลังเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ นอกจากนี้ข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการตั้งขีปนาวุธตลอดพรมแดนสหภาพยุโรปกับรัสเซียส่งผลให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียเลวร้ายมากขึ้น

รัสเซียเองต้องการคงอำนาจในเขตอิทธิพลของตนเองในยุโรปตะวันออกและทะเลดำไว้ ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอดีตสหภาพโซเวียต (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช -Commonwealth of Independent State : CIS) ประกอบกับปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งของรัสเซียจากอานิสงส์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานอยู่ในระดับสูง ทำให้รัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำคัญจึงมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถใช้จ่ายสำหรับงบทางการทหารได้มากขึ้น การแผ่อิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบัน รวมถึงประเทศจอร์เจียซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศ CIS ทำให้รัสเซียแสดงท่าทีตอบโต้สหรัฐฯ ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการที่รัสเซียสามารถเจรจายุติปัญหาพรมแดนกับจีนที่ยืดเยื้อมานานได้สำเร็จ และการเจรจากับพันธมิตรเดิมอย่างคิวบาและเวียดนามในด้านความร่วมมือทางทหารด้วย ซึ่งบ่งชี้ถึงความพยายามของรัสเซียในการสร้างสมดุลอำนาจของโลกเพื่อถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯ

ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองในระยะต่อไป

 การบรรลุในหลักการของความตกลงสันติภาพของรัสเซียและจอร์เจียส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศคลี่คลายลงได้ระดับหนึ่ง จากก่อนหน้านี้ที่ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างรัสเซียและจอร์เจียส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนในเส้นทางลำเลียงน้ำมันในจอร์เจีย แม้จอร์เจียไม่ได้เป็นประเทศผลิตและส่งออกน้ำมัน แต่จอร์เจียมีท่อขนส่งน้ำมันซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยน้ำมันราว 1.2 ล้านบาเรลต่อวันได้ถูกลำเลียงผ่านจอร์เจีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของปริมาณน้ำมันดิบของโลก การโจมตีระหว่างรัสเซียและจอร์เจียครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดน้ำมันโลก โดยเฉพาะในช่วงเวลากว่าสัปดาห์ที่เครื่องบินของรัสเซียได้ทิ้งระเบิดใกล้กับท่อส่งน้ำมัน “Baku-Tbilisi-Ceyhan” หรือ BTC ซี่งลำเลียงน้ำมันปริมาณ 850,000 บาร์เรลต่อวันจากแหล่งน้ำมันแคสเบียนในสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานผ่านจอร์เจียเข้าสู่ท่าเรือ Ceyhan ของตุรกีในทะเล เมดิเตอร์เรเนียน หากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและจอร์เจียรุนแรงมากขึ้นอีกครั้งและเกิดการใช้กำลังทางทหารโจมตีในบริเวณเส้นทางลำเลียงน้ำมันของจอร์เจีย อาจส่งผลทางจิตวิทยาต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากที่ตั้งของจอร์เจียเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งหนึ่งในภูมิภาค

 การช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของขั้วอำนาจทางการเมืองโลกที่สะท้อนจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและจอร์เจียครั้งนี้อาจนำไปสู่การเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ โดยสหรัฐฯ มีท่าทีสนับสนุนจอร์เจียเต็มที่และต้องการตอบโต้รัสเซียจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารเข้าโจมตีจอร์เจีย นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเสนอให้ถอนรัสเซียออกจากสมาชิกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 8 ประเทศ หรือ กลุ่มจี 8 แต่สถานการณ์ในปัจจุบันไม่น่าจะกระทำได้ง่ายนัก เนื่องจากบทบาทของรัสเซียทั้งในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากข้อได้เปรียบด้านแหล่งพลังงานและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทำให้รัสเซียสามารถก้าวมาเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจโลกและเข้าอยู่ในกลุ่มจี 8 รวมทั้งยังเป็นประเทศมีเงินสำรองต่างประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลกด้วย นอกจากนี้ คาดว่ารัสเซียจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงต้นปี 2552 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของรัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นจากการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุน ประกอบกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซียแบบรอบทิศทาง (Multi-Directional Foreign Policy) ที่ให้ความสำคัญกับจีนและอินเดีย และผูกมิตรกับประเทศในเอเชีย เพื่อสร้างความสมดุลของขั้วอำนาจต่างๆในโลก รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศโดยเฉพาะสาขาพลังงานที่เป็นข้อได้เปรียบของรัสเซียในภาวะที่สินค้าพลังงานเป็นที่ต้องการของหลายประเทศในปัจจุบัน ซึ่งช่วยเสริมบทบาทของรัสเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้มากขึ้น

 สำหรับประเทศไทยนั้น เหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียที่คลี่คลายลงในขณะนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญต่อไทย แต่หากสถานการณ์การช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองโลกของ 2 ขั้วอำนาจสหรัฐฯ และรัสเซียที่อาจรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป อาจส่งผลกระทบในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยที่อาจต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศหนึ่งในประชาคมโลกที่มีความสัมพันธ์ต่างประเทศกับประเทศต่างๆ ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ราบรื่นย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจด้วย แม้ว่าในปัจจุบันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและจอร์เจียยังไม่มากนักก็ตาม

สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับรัสเซียนั้น รัสเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในยุโรปตะวันออก โดยแม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียค่อนข้างน้อยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย แต่มูลค่าการค้าไทย-รัสเซียก็มีอัตรา ขยายตัวสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากมูลค่าการค้า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 เป็น 2,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 การส่งออกของไทยไปรัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจรัสเซียอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าของรัสเซียมากขึ้นให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ตามข้อผูกพันเมื่อรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2552 สำหรับด้านการนำเข้า รัสเซียเป็นแหล่งนำเข้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญเป็นอันดับ 4 ของไทย รองจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 การส่งออกและการนำเข้าของไทยไป/จากรัสเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 50.8 และร้อยละ 63.2 ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับรัสเซีย 786.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ไทยขาดดุลการค้าราว 461 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปรัสเซีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากรัสเซีย ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากรัสเซีย สินค้านำเข้าสำคัญอื่นๆ ของไทยจากรัสเซีย ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับจอร์เจียมีมูลค่าเพียง 23.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 แต่อัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง ราวร้อยละ 31 จากมูลค่า 17.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทยกับจอร์เจียมีมูลค่า 18.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 75.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 71 และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 102 ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2550 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจอร์เจีย ได้แก่ ข้าว คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 59) ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปจอร์เจีย สินค้าส่งออกอื่นๆ ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากจอร์เจีย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 40 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากจอร์เจีย รองลงมา ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และลวด/สายเคเบิล ตามลำดับ

กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างจอร์เจียที่มีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกับประเทศรัสเซียถือเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของโลกที่ขัดแย้งรุนแรงอาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ บทบาทสำคัญของจอร์เจียทั้งด้านที่ตั้งที่อยู่ในเส้นทางขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และบทบาทการเมืองของจอร์เจียที่อยู่ท่ามกลางการช่วงชิงอิทธิพลทางการเมืองของทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงสหภาพยุโรป ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเลวร้ายลงอาจส่งผลทางจิตวิทยาต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ และอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวด้วย นอกเหนือจากวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตด้านอาหารที่เป็นวาระสำคัญของโลกในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ทางการเมืองโลกที่ร้อนแรงขึ้นเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจทำให้ไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยอาจต้องพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การเมืองโลกที่ยังคงเปราะบาง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศต่างๆ ตามไปด้วย แม้ว่าในปัจจุบันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและจอร์เจียยังไม่มากนักก็ตาม