มาตรการรับจำนำข้าว : สร้างเสถียรภาพราคาข้าว…แต่ส่งออกอาจถูกกระทบ

จากการคาดการณ์ว่าราคาข้าวในฤดูการผลิต 2551/52 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวต่างขยายปริมาณการผลิตข้าว อันเป็นผลจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงในช่วงฤดูการผลิต 2550/51 และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ จะได้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวเช่นในช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งจากแนวโน้มราคาข้าวขาลงดังกล่าวทำให้ไทยซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกจึงต้องดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวทั้งในประเทศ โดยหากรัฐบาลไทยไม่มีมาตรการรับจำนำข้าวเพื่อดึงปริมาณข้าวไม่ให้ทะลักออกสู่ตลาดในช่วงต้นฤดู และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรีแล้ว คาดว่าจะส่งผลให้ราคาข้าวทั้งในประเทศและราคาส่งออก รวมทั้งราคาในตลาดโลกดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรับจำนำข้าวคือ ชาวนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย โดยสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ที่เข้ามารับความเสี่ยงในการแบกภาระสต็อกข้าวไว้เอง แม้ว่าการพยุงราคาข้าวให้อยู่ในระดับสูงนั้นอาจจะทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยต้องเสียตลาดข้าวไปบางส่วน เนื่องจากประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งขันของไทยที่มีราคาถูกกว่า แต่ผู้ส่งออกข้าวก็ได้รับอานิสงส์ในด้านของราคาส่งออกข้าวที่ไม่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการรับจำนำข้าว และปล่อยให้อุปทานออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

มาตรการจำนำข้าว…ขยายปริมาณจำนำข้าวนาปรัง กำหนดมาตรการจำนำข้าวนาปี
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว คือ เพิ่มปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังอีก 1 ล้านตัน และขยายเวลารับจำนำไปอีก 3 เดือน พร้อมกับเพิ่มวงเงินอีกประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนาปีสำหรับฤดูการเพาะปลูก 2551/52 นั้น ในปีนี้มีการประกาศเร็วกว่าทุกปี และตั้งราคารับจำนำข้าวเท่ากับข้าวนาปรัง ซึ่งการประกาศโครงการรับจำนำข้าวครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าว ตั้งแต่ชาวนา โรงสี ตลาดข้าวในประเทศ ผู้ส่งออกข้าว รวมทั้งหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ตลอดจนถึงการกำหนดท่าทีของประเทศผู้นำเข้าข้าว เนื่องจากการกำหนดราคารับจำนำนั้นมีผลต่อราคาส่งออก ซึ่งประเทศผู้นำเข้าข้าวใช้เป็นราคาเป้าหมายในการเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันของไทย

รายละเอียดของโครงการรับจำนำข้าว มีดังนี้
1.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ปรับเพิ่มปริมาณเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จากเดิม 2.5 ล้านตัน เป็น 3.5 ล้านตัน และหากจำเป็นต้องปรับเพิ่มอีกก็สามารถนำเสนอครม.พิจารณาใหม่ได้ ทั้งนี้ การเพิ่มเป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้มีการขยายระยะเวลาโครงการจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เป็น 31 มีนาคม 2552 พร้อมอนุมัติวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับการดำเนินงานส่วนนี้จากเดิม 1,132.17 ล้านบาท เพิ่มอีก 2,015.54 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 3,147.71 ล้านบาท โดยจะเป็นการจัดสรรจากงบกลางของงบประมาณปี 2551 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเห็นเสนอสำนักงบประมาณต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะแยกเป็นค่าใช้จ่ายขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมวงเงิน 787.74 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แบ่งเป็นการบริหารโครงการเฉลี่ยตันละ 27 บาท เป็นเงิน 51.30 ล้านบาท ค่าชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ร้อยละ 6.5 ระยะเวลา 7 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2551-มีนาคม 2552 จากราคาจำนำตันละ 12,000 บาท เป็นเงิน 1,176.50 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,227.80 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จากวันที่ 30 กันยายน-31 ตุลาคม 2551 เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การเพาะปลูกของพื้นที่ดังกล่าว

2.โครงการรับจำนำข้าวนาปี 2551/52 ที่ประชุมครม.ยังมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ในการจัดทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52 คาดว่าจะมีข้าวที่รับจำนำปริมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ อคส. และ อ.ต.ก.รับฝากและออกใบประทวนให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ส่วน ธ.ก.ส.รับจำนำยุ้งฉางเกษตรกร โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2551-28 กุมภาพันธ์ 2552 ส่วนภาคใต้เริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2552 ระยะเวลาไถ่ถอนการรับจำนำใบประทวน 3 เดือน ส่วนระยะเวลาการรับจำนำไถ่ถอน 4 เดือน

สำหรับราคารับจำนำข้าวพิจารณาจากความชื้นไม่เกิน 15% โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้านาปีตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวชนิดเม็ดยาว ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวคละตันละ 9,000 บาท ในกรณีที่ความชื้นสูงกว่า15%ราคาจะลดลงตามลำดับ ทั้งนี้การคำนวณราคาจำนำข้าวนาปีได้นำราคาข้าวเปลือกนาปรังที่อยู่ระหว่างรับจำนำอยู่ในขณะนี้ที่ตันละ 14,000 บาท และราคาตลาดปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะข้าวนาปีมีปริมาณมากกว่าข้าวนาปรังและคุณภาพข้าวดีกว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนี้รวมวงเงิน 11,016.124 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของอคส. และ อ.ต.ก. วงเงิน 694.94 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการเก็บรักษาข้าวที่แปรสภาพจากข้าวเปลือกแล้วทั้ง อคส.และอ.ต.ก.รวมเป็นเงิน 795.74 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายของ ธ.ก.ส.รวมเป็นเงิน 9,518.64 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองเกษตรกรให้แก่กระทรวงเกษตรฯวงเงิน 6.8 ล้านบาท

ผลกระทบมาตรการ…รักษาสมดุลราคาข้าว แต่ต้องจับตาประสิทธิภาพการดำเนินการ
ผลกระทบของมาตรการรับจำนำข้าวของไทยนับว่ารักษาเสถียรภาพราคาข้าวทั้งในประเทศไทยและราคาข้าวในตลาดส่งออก เนื่องจากถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรีราคาข้าวทั้งในประเทศและตลาดส่งออกอาจมีแนวโน้มจะดิ่งลงอย่างแรง อันเป็นผลจากประเทศผู้ผลิตข้าวต่างๆ รวมทั้งชาวนาไทยต่างเร่งขยายปริมาณการผลิตตอบสนองจากราคาข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2551 และต้องการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวว่าจะส่งผลต่อตลาดข้าวของไทยอย่างไรในระยะยาว

ผลกระทบของมาตรการรับจำนำข้าวที่ต้องจับตานั้น แบ่งออกได้เป็นดังนี้

ผลกระทบต่อราคาข้าวทั้งในประเทศและตลาดส่งออก
การกำหนดราคารับจำนำในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับราคาตลาด นับว่าเป็นการช่วยชาวนาให้สามารถจำหน่ายข้าวในราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี และช่วยพยุงไม่ให้ราคาในช่วงต้นฤดูการผลิตปี 2551/52 ตกต่ำจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นจากประเทศผู้ผลิตต่างๆ ทั้งไทย เวียดนาม และอินเดีย รวมทั้งประเทศที่เคยเป็นผู้นำเข้าข้าวก็หันมาขยายการผลิตข้าวโดยเฉพาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้ราคาข้าวทั้งในประเทศและตลาดส่งออกจะไม่ดิ่งลงอย่างแรงเช่นที่มีการคาดการณ์กันไว้

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ราคาข้าวในช่วงปลายปี 2551 ที่อาจจะมีความผันผวน โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรง ถ้าภัยธรรมชาติส่งผลรุนแรงต่อการปลูกข้าวมากเพียงใด ก็อาจจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกกลับมาขยับตัวเพิ่มขึ้นอีกได้

ผลกระทบต่อการส่งออกข้าว
การดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวนับว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดโลกรับทราบว่าราคาข้าวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และในปี 2552 จะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ทั้งนี้การที่ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับสูงจากมาตรการดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ส่งออกของไทยอาจเสียตลาดข้าวไปบางส่วน เนื่องจากประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งขันของไทยที่มีราคาถูกกว่า แต่ก็น่าจะถือได้ว่าผู้ส่งออกข้าวไทยก็ได้รับอานิสงส์ในด้านของราคาส่งออกข้าวที่ไม่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว หากเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการรับจำนำข้าว และปล่อยให้ผลผลิตจำนวนมากออกสู่ตลาด สำหรับราคาจำนำข้าวนาปีเมื่อคำนวณเป็นราคาข้าวสารคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณตันละ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลก ส่งผลให้ไทยแข่งขันกับข้าวราคาถูกจากเวียดนาม อินเดียและปากีสถานไม่ได้ อาจทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในปีหน้ามีแนวโน้มลดลงได้ กล่าวคือ คาดว่าผู้ส่งออกข้าวคงจะออกรับซื้อเพื่อส่งมอบเฉพาะตลาดประจำที่รับซื้อข้าวคุณภาพสูงและยอมรับราคาสูงได้ กล่าวคือ ข้าวขาวเฉพาะส่งออกไปตลาดอิหร่าน อิรัก ข้าวนึ่งเฉพาะส่งออกไปตลาดไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ ส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดอื่นๆ คาดว่าคงชะลอตัวลง เพราะการที่ราคาข้าวไทยอยู่ในเกณฑ์สูงจะส่งผลให้ผู้ซื้อจะหันไปซื้อข้าวจากเวียดนาม ปากีสถาน หรืออินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกข้าวในปีนี้

นอกจากประเด็นที่การรับจำนำข้าวส่งผลให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับสูงจนกระทั่งผู้ซื้อบางประเทศอาจหันไปซื้อจากเวียดนามแทน เพราะราคาต่ำกว่าไทยมากถึงตันละเกือบ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยยังอาจส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวไม่มั่นใจว่าผู้ส่งออกข้าวจะส่งมอบข้าวได้ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ส่งออกข้าวคาดว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวเดือนกันยายนยังเป็นขาลง และมีโอกาสส่งออกได้เพียง 600,000 ตันเท่านั้น ซึ่งน่าจะต่ำที่สุดในรอบปี จากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาส่งออกได้ต่ำสุดเพียง 700,000 ตัน ขณะที่ในช่วงต้นปีส่งออกได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ล้านตัน หากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศยังยืดเยื้อ โอกาสส่งออกข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะระบบการขนส่งในประเทศชะงักจากการประท้วง ทำให้สินค้าตกค้าง และเวียดนามก็น่าจะได้ตลาดข้าวส่วนนี้ไป

นอกจากผลกระทบต่อการส่งออกแล้ว ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการรับจำนำข้าวที่ยังคงต้องติดตาม ได้แก่

งบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการ
จากการประเมินสถานการณ์ผลผลิตข้าวนาปีในฤดูการผลิต 2551/52 จะมีปริมาณทั้งสิ้น 25 ล้านตันข้าวเปลือก (จากเดิมที่เคยคาดว่าจะมีเพียง 23 ล้านตันข้าวเปลือก) คาดว่าชาวนาจะเก็บไว้บริโภคและทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง เหลือขายในตลาดประมาณ 15-16 ล้านตัน ดังนั้นจะมีข้าวเข้าโครงการจำนำร้อยละ 50.0 ของที่เหลือจากการบริโภคและการเก็บไว้ทำพันธุ์ จึงได้ตั้งเป้าหมายรับจำนำไว้ที่ 8 ล้านตัน ทั้งนี้ คาดว่าข้าวที่จะเข้าสู่โครงการรับจำนำเป็นข้าวหอมมะลิประมาณ 3 ล้านตัน หรือร้อยละ 50 ของผลผลิตทั้งหมด 6 ล้านตัน โดยคาดว่าชาวนาจะนำข้าวมาจำนำทั้งหมดที่เหลือจากบริโภค เนื่องจากคาดว่าราคารับจำนำจะอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าราคาตลาด ส่วนข้าวขาวคาดว่าจะมีการรับจำนำประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากราคารับจำนำใกล้เคียงกับราคาตลาด สำหรับข้าวเหนียวจะเข้าโครงการจำนำมากเหมือนข้าวหอมมะลิ โดยคาดว่าจะมีประมาณ 3 ล้านตัน เนื่องจากราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมากเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การตั้งราคาและปริมาณรับจำนำข้าวดังกล่าวหากเกษตรกรนำข้าวมาจำนำครบตามเป้าหมาย รัฐบาลต้องใช้งบประมาณไม่สูงไปกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งทางธ.ก.ส.ประเมินว่าไม่สามารถรับดำเนินการได้ทั้งหมด ดังนั้นทางรัฐบาลอาจจะต้องให้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินดังกล่าว หลังจากนั้นรัฐบาลอาจจะต้องแบกภาระสต็อกข้าวนี้ไว้ และต้องเร่งดำเนินการระบายสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การขาดทุนจากการดำเนินการมีน้อยที่สุด ท่ามกลางปัจจัยที่ไม่แน่นอนคือ ราคาข้าวในอนาคต อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการสต็อกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเก็บสต็อกและการระบายข้าวต่าจะช่วยลดภาระทางการเงินของรัฐบาลได้

การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล
สต็อกข้าวนั้นเปรียบเสมือนเขื่อนที่ช่วยกักเก็บข้าวไม่ให้ล้นทะลักเข้าสู่ตลาดในเวลาเดียวกันจนส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดนั้นดิ่งลงอย่างแรง อีกทั้งถ้าในอนาคตเกิดปัญหาภัยธรรมชาติหรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติจนส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดมีไม่เพียงพอกับความต้องการเช่นในช่วงต้นปี 2551 ผู้ที่มีข้าวในสต็อกก็จะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ และสามารถสร้างกำไรจากข้าวในสต็อกได้เพิ่มขึ้น แต่เงื่อนไขสำคัญคือ การบริหารจัดการสต็อกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลรักษาคุณภาพข้าว และจังหวะในการระบายข้าวในสต็อก

ทั้งนี้ ข้าวที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวนาปีนั้น รัฐบาลต้องหาสถานที่เก็บข้าว โดยรัฐบาลจะต้องระบายสต็อกข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเดิมออกสู่ตลาดก่อน ซึ่งแนวทางการระบายสต็อกข้าวนั้นต้องใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านปริมาณและระยะเวลา เนื่องจากส่งผลต่อราคาข้าวทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก แนวทางการหาสถานที่เก็บข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวปี 2551/52 จะเน้นการระบายข้าวเก่าในสต็อกที่มีอยู่ 2.1 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นข้าวตั้งแต่ปีการผลิต 2547-2550 และข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวนาปรังอีกประมาณ 1.5-1.6 ล้านตันข้าวสาร รวมทั้งหมด 3.6 ล้านตันข้าวสาร โดยแนวทางการระบายข้าวจะดำเนินการผ่านรูปแบบการจำหน่ายรัฐต่อรัฐ ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วรัฐบาลการระบายสต็อกจะไม่เป็นการเร่งระบายเพื่อขายข้าวแข่งกับผู้ส่งออกเอกชน และการระบายข้าวของรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดในประเทศ เพราะเป็นการระบายออกสู่ต่างประเทศ และมีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่ไม่ส่งผลกดดันให้ราคาตลาดลดต่ำลงอีก อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติเมื่อรัฐบาลกำหนดแผนที่จะระบายสต็อกข้าวก็มักจะส่งผลทางจิตวิทยาต่อราคาข้าวทั้งในประเทศ และส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวของไทยชะลอการออกรับซื้อข้าว เนื่องจากประเทศผู้สั่งซื้อข้าวชะลอการสั่งซื้อจากการคาดหมายว่าราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ สถานการณ์ตลาดส่งออกข้าวที่มีแนวโน้มชะลอตัวนั้นอาจส่งผลต่อการระบายสต็อกข้าวจากโครงการรับจำนำเดิมของรัฐบาล เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเข้ามาซื้อข้าวจำนวนมากเข้าสต็อกไว้ เพราะเป็นการแบกรับความเสี่ยงที่มากเกินไป จากราคาที่อาจปรับลดลงตามการระบายสต็อก ทำให้รัฐบาลอาจต้องปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ผู้ส่งออกเข้ามาซื้อข้าวสต็อกเดิมของรัฐบาลในล็อตใหญ่ในราคาที่รัฐบาลกำหนด เช่น ผู้ที่เข้ามารับซื้อจะได้โควตาการส่งออกข้าวจีทูจี เป็นต้น โดยถ้าผู้ส่งออกไม่เข้ามาประมูลข้าวในสต็อกเดิมไป รัฐบาลก็มีภาระที่จะต้องแบกสต็อกข้าวเดิมไว้ต่อไป และต้องเร่งจัดหาโกดังเพื่อเก็บสต็อกข้าวรองรับมาตรการจำนำข้าวฤดูใหม่ด้วย ในขณะเดียวกับการที่รัฐบาลมีสต็อกข้าวเป็นจำนวนมากท่าทีของไทยในการเตรียมจะระบายสต็อกข้าวก็ย่อมส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดส่งออก โดยประเทศผู้ซื้อข้าวอาจชะลอการซื้อจากไทยเพื่อรอให้ราคาข้าวลงไปก่อนจากการระบายสต็อกของรัฐบาล และส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย

สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในครึ่งหลังปี 2551 คาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงจากครึ่งปีแรกประมาณร้อยละ 20-30 โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณการส่งออกข้าวอาจจะเหลือประมาณ 600,000-650,000 ตันต่อเดือน ในขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวครึ่งปีแรกเฉลี่ยที่ 900,000-1,000,000 ตันต่อเดือน นื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างเวียดนามกลับมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง หลังหยุดส่งออกมาเกือบครึ่งปี และในช่วงเดือนตุลาคมประเทศอินเดียก็จะกลับมาส่งออกข้าวทุกประเภทเหมือนเดิม ประเทศผู้ซื้อข้าวจึงไม่ได้มุ่งมาไทยเหมือนกับช่วงครึ่งปีแรกที่ผู้นำเข้าข้าวเกือบทั่วโลกมุ่งหน้าเจรจาขอซื้อข้าวกับไทย เนื่องจากคลายความวิตกต่อปัญหาข้าวจะขาดแคลนเช่นในช่วงต้นปี 2551 อีกทั้งราคาข้าวในตลาดโลกก็มีทิศทางปรับราคาลดลง จากสถานการณ์ข้าวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยประเทศผู้ซื้อไม่ได้ต้องรีบซื้อโดยยอมรับราคาที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับในช่วงต้นปี 2551 เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวในตลาดโลก

บทสรุป
การประกาศมาตรการรับจำนำข้าวของไทยน่าจะถือได้ว่าช่วยพยุงไม่ให้ราคาข้าวทั้งในประเทศและราคาในตลาดต่างประเทศดิ่งลงอย่างแรง อันเป็นผลจากการขยายปริมาณการผลิตข้าวในหลายประเทศ รวมทั้งของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวนาจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว แต่ผู้ส่งออกข้าวของไทยอาจสูญเสียตลาดบางส่วน เนื่องจากราคาข้าวของไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การเสียตลาดดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นเพียงช่วงที่ประเทศคู่แข่งมีข้าวเพียงพอที่จะรองรับคำสั่งซื้อ ขณะที่เมื่ออุปทานข้าวส่วนเกินในตลาดโลกเริ่มปรับลดลง ไทยก็น่าจะสามารถกลับมาดึงตลาดส่งออกคืนได้จากการที่ยังมีสต็อกข้าวรองรับการส่งออก

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ งบประมาณที่จะดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินของรัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยรับภาระร่วมกับธกส. นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการเก็บและระบายสต็อกข้าวในโครงการรับจำนำข้าวอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดภาระทางการเงินในของการดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในขณะที่จังหวะเวลาในการระบายสต็อกข้าวก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน เพราะย่อมจะส่งผลต่อราคาข้าว และการแข่งขันในการส่งออกข้าวของไทยในตลาดต่างประเทศ