จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเงินสำรองธนาคาร : สู้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบมายังภาคส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนให้ชะลอตัวลงในเดือนสิงหาคม 2551 และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ได้ส่งผลลุกลามทำให้เกิดวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อและไม่สิ้นสุด ปรากฏให้เห็นจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ประสบภาวะล้มละลายในเดือนกันยายนนี้ และอีกหลายรายที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ จนทำให้ความต้องการบริโภคของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ในปี 2551 ชะลอลงด้วย รวมทั้งผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งต่อไปยังประเทศสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีน ส่งผลให้สินค้าส่งออกจีนไปตลาดเหล่านี้จะชะลอลงตามด้วย

การส่งออกของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงเหลือร้อยละ 21.1 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ในเดือนกรกฎาคม 2551 (yoy) โดยการส่งออกของจีนไปยังตลาดหลักๆ ล้วนอ่อนแรงลง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่การนำเข้าของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงค่อนข้างมาก โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 23.1 จากร้อยละ 33.7 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าเกินดุลการค้าในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเป็น 28.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าของจีนที่ชะลอตัวเป็นผลจากภาคส่งออกที่อ่อนแรงลง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศที่ชะลอตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัวในจีนที่เกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่านำเข้าน้ำมันของจีนชะลอลง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้การนำเข้าของจีนในเดือนสิงหาคมนี้ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด

ที่มา : CEIC

ที่มา : National Bureau of Statistics (NBS), China

ภาคส่งออกของจีนที่อ่อนแรงลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ขยายตัวชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 12.8 จากร้อยละ 17.5 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 และร้อยละ 14.7 ในเดือนกรฎาคม 2551 นับว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหยุดชะงักของการผลิตในโรงงานและการก่อสร้างโครงการต่างๆ ในกรุงปักกิ่งและพื้นที่ใกล้เคียงที่ถูกระงับชั่วคราวเพื่อควบคุมมลภาวะในช่วงงานกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การใช้จ่ายภาคการลงทุนของจีนเติบโตชะลอลงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์โรงงานและอาคารขยายตัวร้อยละ 28 ในเดือนสิงหาคม 2551 (yoy) ชะลอลงจากร้อยละ 29.5 ในเดือนกรกฎาคม 2551 (yoy)

สำหรับปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในช่วงขาลง โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสำคัญ 70 เมืองของจีนมีอัตราเติบโตชะลอลงเป็นร้อยละ 5.3 ในเดือนสิงหาคม 2551 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับปัญหาวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนด้วย หลังจากที่วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส ยื่นต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย และการขายกิจการของเมอร์ริล ลินซ์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ ให้กับแบงก์ออฟ อเมริกา รวมถึงสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ รายอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้ภาคการเงินโลกมีแนวโน้มหดตัวลงจากวิกฤตสินเชื่อในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน เนื่องจากบริษัทลงทุนต่างชาติต่างพากันเข้ามาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ สถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่ถือเป็นบริษัทลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในเซี่ยงไฮ้ที่เข้ามาลงทุนในจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาจากวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ทำให้มอร์แกน สแตนเลย์ รวมถึงบริษัทลงทุนต่างชาติอีกหลายรายในจีนต่างมีความพยายามที่จะขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองอยู่ออกไปเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งอาจทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนตกลงอย่างแรงจนอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์และอาจส่งผลกระทบต่อไปยังภาคเศรษฐกิจภายในอื่นๆ ของจีนรวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ด้วย

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน & ลดผลกระทบภาคส่งออกชะลอตัว

ภาคส่งออกของจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับภาคเศรษฐกิจภายใน ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามความอ่อนแรงของภาคส่งออก ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในเดือนสิงหาคม 2551 โดยอัตราเงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับลดมาเหลือร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 (yoy) จากร้อยละ 6.3 ในเดือนกรกฎาคม 2551 (yoy) ทำให้ทางการจีนสามารถดำเนินโยบายรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงได้มากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนดำเนินมาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกและธุรกิจ SMEs ที่ได้ผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคส่งออกและต้นทุนภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อของจีนที่เร่งตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2550 จนพุ่งสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ร้อยละ 8.7 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 12 ปีของจีน โดยทางการจีนได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีคืน (tax rebate) ให้กับภาคส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้า รวมทั้งขยายเพดานปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ให้กู้กับนักธุรกิจรายบุคคลที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ และผ่อนปรนข้อจำกัดสินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้แรงงานมาก

มาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินสำรองธนาคารพาณิชย์

ในวันที่ 15 กันยายน 2551 ทางการจีนประกาศมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นศรษฐกิจและลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกในช่วงขาลงและวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯ ดังนี้

– ปรับลดอัตราเงินกู้นโยบายระยะเวลา 1 ปี (Benchmark Interest Rate) ลงร้อยละ 0.27 จากร้อยละ 7.47 เหลือร้อยละ 7.20 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนโยบายยังคงอยู่ในอัตราเดิมที่ร้อยละ 4.14 โดยการปรับลดอัตราเงินกู้นโยบายครั้งนี้เริ่มมีผลวันที่ 16 กันยายน 2551 ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของจีนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 เป็นต้นมา

– ปรับลดเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) ลงร้อยละ 1 จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 16.5 สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ยกเว้นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 5 แห่งของจีน และ Postal Savings Bank รวมทั้งได้ปรับลดอัตราเงินสำรองของธนาคารลงร้อยละ 2 สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2551 โดยการปรับลดอัตราเงินสำรองของจีนครั้งนี้จะเริ่มมีผลวันที่ 25 กันยายน 2551 การปรับลดอัตราเงินสำรองครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของการปรับลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2542 เป็นต้นมา หลังจากที่จีนได้ทยอยปรับขึ้นอัตราเงินสำรอง 18 ครั้ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2549 ถึงเดือนมิถุนายน 2551 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อโดยการจำกัดปริมาณเงินในระบบธนาคารของจีน

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบาย (Benchmark Interest Rate) ของจีน
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราเดิม อัตราใหม่ % เปลี่ยนแปลง
6 เดือน 6.57 6.21 -0.36
1 ปี 7.47 7.20 -0.27
น้อยกว่า 3 ปี 7.56 7.29 -0.27
น้อยกว่า 5 ปี 7.74 7.56 -0.18
5 ปี และมากกว่า 5 ปี 7.83 7.74 -0.09
ที่มา : CEIC, Bloomberg * เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 16 กันยายน 2551

อัตราเงินสำรองของธนาคาพาณิชย์ของจีน

อัตราเงินสำรองของธนาคาพาณิชย์ (%)
ธ.ค. 2550 14.5
ม.ค. 2551 15.0
ก.พ. 2551 15.5
เม.ย. 2551 16.0
พ.ค.2551 16.5
มิ.ย. 2551 17.5
ก.ย. 2551* 16.5

ที่มา : รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
* เริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 25 กันยายน 2551 (ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งและPostal Savings Bank)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารกลางจีนยังคงคำนึงถึงความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งสะท้อนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ดำเนินการแบบระมัดระวัง โดยการปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้เท่านั้น แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ในอัตราเดิม เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศที่จะทำให้เงินเฟ้อในจีนสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเปลี่ยนแปลงของการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นมากกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว ซึ่งแสดงถึงความต้องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มีผลในช่วงสั้นเพื่อรอดูสถานการณ์ด้านเสถียรภาพด้านราคาที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงการปรับลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่มีผลบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อกับภาคธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ชะลอตัว แต่ไม่ได้มีผลบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งของจีน เนื่องจากทางการจีนต้องการจำกัดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของจีนที่มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อภาคที่อยู่อาศัยในระดับสูง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อผลกระทบจากราคาที่อยู่อาศัยในจีนที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ หลังจากที่ราคาที่อยู่อาศัยในจีนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การปรับนโยบายการเงินของทางการจีนนั้นเป็นไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังคงต้องการจำกัดปริมาณเงินในระบบเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจภายในของจีนให้ชะลอลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อไปยังต้นทุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน และยังทำให้ความต้องการบริโภคในประเทศจีนชะลอลง โดยสัญญาณที่บ่งบอกความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนสิงหาคม 2551 ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.1 (yoy) จากร้อยละ 10 ในเดือนก่อนหน้า (yoy) รวมถึงนโยบายของทางการจีนที่ต้องการปรับราคาพลังงานในจีนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนอุปทานพลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้าที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะปรับขึ้นราคาพลังงานในระยะอันใกล้นี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในจีนให้ปรับสูงขึ้นด้วย

สรุป ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกและวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่จบสิ้นซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของจีนอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลงด้วย โดยการส่งออกของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงเหลือร้อยละ 21.1 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าของจีนในเดือนสิงหาคมก็ชะลอลงค่อนข้างมาก โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 23.1 จากร้อยละ 33.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการชะลอตัวของทั้งภาคส่งออกและนำเข้าของจีนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจภายในด้วย โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 12.8 จากที่เติบโตร้อยละ 14.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ต้องเผชิญกับภาวะขาลง โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีนชะลอตัวลงหลังจากที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสำคัญ 70 เมืองของจีนมีอัตราเติบโตชะลอลงเป็นร้อยละ 5.3 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ หลายแห่งจนทำให้เกิดวิกฤตสินเชื่อในภาคการเงินโลก ซึ่งอาจทำให้บริษัทลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองอยู่ออกไปเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนตกลงอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ภายในของจีนให้ชะลอตัวลงไปด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อของจีนมีสัญญาณชะลอลง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากที่พุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ร้อยละ 8.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอลงทำให้ทางการจีนสามารถดำเนินนโยบายรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจภายในจากทั้งภาคการบริโภคและการลงทุนให้ดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ดำเนินมาตรการลดผลกระทบของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงด้วย เพื่อรักษาอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2551 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากจำเป็นทางการจีนก็คงจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่ได้ทยอยออกมาตรการหลายด้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับขึ้นภาษีคืนกับภาคส่งออก (Tax Rebate) ขยายโควตาปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และล่าสุดในวันที่ 15 กันยายน 2551 ทางการจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบายระยะ 1 ปีลงร้อยละ 0.27 จากร้อยละ 7.47 เป็นร้อยละ 7.20 และปรับลดเงินสดสำรองของธนาคาพาณิชย์ (Reserve Requirement Raito : RRR) ลงร้อยละ 1 จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 16.5 เพื่อผ่อนคลายภาวะสินเชื่อตึงตัวที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในจีน ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ของทางการจีนที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2551 นี้น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้ในอัตราร้อยละ 9.8-10.0 จากช่วงครึ่งแรกของปีที่เติบโตร้อยละ 10.4

เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมของจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ส่งผลให้ความต้องการบริโภคและการลงทุนของจีนที่เติบโตต่อเนื่อง เป็นตัวกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศต่างๆ ซึ่งช่วยบรรเทาภาวะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่อ่อนแรงลงตามวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ ทั้งนี้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยจีนถือเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น คาดว่าทั้งปี 2551 การส่งออกของไทยไปจีนจะมีมูลค่าราว 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 27 จากมูลค่า 14.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550