ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2550 พบว่า
• สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิ) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากที่ลดลงในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 1.81 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.03 หมื่นล้านบาท จาก 1.74 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบหลักอย่างเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นและเงินลงทุนสุทธิเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนสิงหาคม เป็นทิศทางที่สอดคล้องกันกับยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่งในเดือนเดียวกันที่เพิ่มขึ้นถึง 1.33 แสนล้านบาท สูงกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ที่ 7.12 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำแบบพิเศษและตั๋วแลกเงินที่ระดับอัตราดอกเบี้ยจูงใจ เพื่อระดมเงินและรักษาฐานลูกค้า หลังจากที่สินทรัพย์สภาพคล่องได้ลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ในขณะที่ แม้ทางเลือกในการออมอย่างกองทุนรวมในเดือนสิงหาคมจะมีการออกกองทุนเพิ่มขึ้น 36 กอง แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) กลับมีจำนวนที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6.00 หมื่นล้านบาท
• กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดเล็กมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มขึ้น สวนทางกับสภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดกลาง ที่ลดลง โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มียอดคงค้างของสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 6.89 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกัน กลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 1.55 หมื่นล้านบาท มาที่ 2.20 แสนล้านบาท ในขณะที่ กลุ่มธนาคารขนาดกลางมีสภาพคล่องลดลง 1.41 หมื่นล้านบาท มาที่ 4.88 แสนล้านบาท
• เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง เพิ่มขึ้น 5.98 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยการเพิ่มขึ้นที่กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4.58 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 1.31 หมื่นล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 884 ล้านบาท
สำหรับวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ทางการสหรัฐฯจะได้ตัดสินใจเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยการรับซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ภายใต้วงเงิน 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ แต่คาดว่าอาจจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถึงจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ รวมทั้งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของสถาบันการเงินสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า มาตรการของทางการสหรัฐฯล่าสุดดังกล่าว จะมีประสิทธิผลในการเยียวยาปัญหาครอบคลุมทั้งภาคการเงินสหรัฐฯได้มากน้อยเพียงใด ในขณะที่การก่อหนี้ที่คงจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อนำเงินไปใช้ในการรับซื้อสินทรัพย์ 7.0 แสนล้านดอลลาร์ฯดังกล่าว ย่อมจะส่งผลกดดันต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท.สามารถที่จะปล่อยให้ไหลกลับคืนสู่ระบบได้หากจำเป็น กลไกดังกล่าว ก็น่าที่จะเป็นหลักประกันสำคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไทยได้ในยามที่สถาบันการเงินสหรัฐฯกำลังเผชิญภาวะวิกฤตนี้ ?