ราคาเหล็กในตลาดโลก : ชะลอตัวแต่อาจผันผวน

ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีทิศทางการชะลอตัวลงจากราคาเฉลี่ยของเดือนกรกฏาคมที่ได้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยราคาเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1,154 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า และเป็นการลดลงครั้งแรกหลังจากราคาเหล็กได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตลอดระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ถึงร้อยละ 68.5

การลดลงของราคาดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างภายในประเทศในเดือนสิงหาคมปรับลดลงมาร้อยละ 5.7 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังเป็นระดับที่สูงขึ้นร้อยละ 68.7 และราคาเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ประเด็นราคาดังกล่าวจะยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตต่อในขั้นกลางและขั้นปลาย ซึ่งจะทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆตามมาด้วย ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงทิศทางของราคาเหล็กในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2551 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก
ม.ค. 51/ ก.พ. 51/ มี.ค. 51/ เม.ย. 51/ พ.ค. 51/ มิ.ย. 51/ ก.ค..51/ ส.ค. 51/ ม.ค.-ส.ค. 51/
ม.ค. 50 ก.พ. 50 มี.ค. 50 เม.ย. 50 พ.ค. 50 มิ.ย. 50 ก.ค. 50 ส.ค. 50 ม.ค.-ส.ค. 50

34.1 37.7 38.9 44.4 67.2 72.7 72.5 68.7 55.2

* ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมจาก สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

การที่ราคาเฉลี่ยเหล็กในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงมาในช่วงเดือนสิงหาคม แต่เป็นเพียงการชะลอตัวลงเล็กน้อย และยังคงรักษาระดับราคาที่สูงอยู่นั้นมีปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้

อุปสงค์อุปทานเหล็กในตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ…ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาปรับลดลง

•อุปสงค์เหล็กในตลาดโลก จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในหลายภูมิภาคของโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ทั้งสหรัฐอเมริกาที่ปัญหาในภาคการเงินยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล รวมไปถึงกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้ออกมาประกาศปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มลงจากเดิมที่ร้อยละ 1.7 เหลือเพียงร้อยละ 1.3 ทำให้แนวโน้มอุปสงค์ต่อเหล็กอาจจะลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เหล็กเป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นได้จากภาคสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงยอดขายรถยนต์ในอเมริกาและยุโรปที่ตกลงอย่างหนักจากภาวะราคาน้ำมันแพง นอกจากนี้ภายหลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในประเทศจีนสิ้นสุดลง อุปสงค์ของเหล็กในประเทศจีนที่เคยเร่งตัวขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้ชะลอตัวลงด้วย รวมทั้งการชะลอลงของตลาดที่อยู่อาศัยและยอดขายรถยนต์ในประเทศ

•อุปทานเหล็กในตลาดโลก จากที่ราคาเหล็กมีการเร่งตัวขึ้นไปสูงมากในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กขึ้นมาก โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 นี้ ตามรายงานโดยสถาบัน IISI (International Iron and Steel Institute) พบว่าทั่วโลกมีปริมาณการผลิตเหล็กรวมประมาณ 815.1 ล้านเมตริกตัน ขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งมีการขยายตัวของอุปทานเหล็กช่วง 7 เดือนแรกประมาณร้อยละ 7) และประเทศจีนเองซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้มีการเร่งการผลิตขึ้นถึงร้อยละ 9.3 เช่นกัน แม้เทียบกันแล้วจะลดลงกว่าปี 2550 ที่มีการขยายตัวในช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 18.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งผลิตเพื่อรองรับปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งจากตัวเลขข้างต้นแม้ปี 2551 จะมีการขยายตัวของอุปทานเหล็กในอัตราที่ชะลอลงกว่าปี 2550 แล้วก็ตาม แต่จากอุปสงค์เหล็กที่ชะลอลงมากภายหลังจากจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และจากที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนเริ่มชะลอลงนั้น ส่งผลให้ปริมาณเหล็กที่มีอยู่ในท้องตลาดในระยะนี้มีจำนวนมากเกินกว่าความต้องการ

•ต้นทุนวัตถุดิบที่มีการปรับลดราคาลง โดยวัตถุดิบในการผลิตและการขนส่งที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นราคาถ่านหิน ราคาสินแร่เหล็ก และราคาน้ำมันได้มีการปรับลดราคาลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

-ราคาถ่านหินในประเทศจีนมีทิศทางการปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่ลดลง จากที่โรงงานถลุงเหล็กหลายแห่งในประเทศได้หยุดการผลิตลงชั่วคราวหรือลดกำลังการผลิตลง เพื่อปรับให้เหมาะสมต่อปริมาณความต้องการเหล็กที่ลดลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในตลาดเกิดการคาดการณ์ว่าราคาถ่านหินจะลดลงต่อเนื่องทำให้โรงงานถลุงเหล็กลดปริมาณการกักตุนถ่านหินลง และส่งผลต่อเนื่องกลับมายังราคาถ่านหินที่ลดลงตาม

-ราคาสินแร่เหล็กได้มีการปรับลดลง เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงในขณะที่อุปทานคงค้างจากที่มีการผลิตสะสมไว้ในช่วงที่ผ่านมามีระดับสูง โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้เหล็กที่สูงมากที่สุดในโลก และจีนก็เป็นทั้งผู้ผลิตแร่เหล็กเองบางส่วนและผู้นำเข้าแร่เหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งพบว่าราคาสินแร่เหล็กเฉลี่ยของประเทศจีนปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ปรับลดลงถึงร้อยละ 12.2 จากช่วงต้นเดือนเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตแร่เหล็กในประเทศช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ที่สูงขึ้นร้อยละ 13.1 และมีปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

-ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งมีสัญญาณปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความผันผวนสูงซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเป็นผลจากมุมมองเชิงลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯซึ่งส่งผลให้นักลงทุนหันกลับมาสู่ตลาดน้ำมันอีกครั้ง แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจจะชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็ตาม ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าไนเมกซ์ส่งมอบเดือนตุลาคมล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ได้ปรับขึ้นอย่างรุนแรงมาปิดที่ 120.92 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล (หลังจากที่วันที่ 16 กันยายน 2551 ได้ลดลงมาปิดที่ราคาต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ 91.15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล) ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการกู้วิกฤติการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนค่าลง

ราคาเหล็กอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีกช่วงไตรมาสที่ 4 …โดยมีอุปสงค์และต้นทุนเป็นตัวกระตุ้น

•อุปสงค์เหล็กในประเทศจีน อินเดียและภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงมีอยู่มาก โดยในประเทศจีนยังคงมีงานก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง และระบบสาธารณูปโภคต่างๆภายหลังเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยหลายครั้ง นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังจากจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถฝ่าวิกฤตการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ แม้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจัดงานจะหมดไปแล้วก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการใช้จ่ายในก่อสร้างทางรถไฟขึ้น 3 เท่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบชลประทาน ถนน และโครงการสาธารณูปโภคอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ในส่วนของประเทศอินเดียและประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกซึ่งเป็นผลมาจากขนาดของตลาดที่ใหญ่ ทำให้มีการเข้าไปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง และยานยนต์ ซึ่งมีความต้องการใช้เหล็กเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีการเพิ่มปริมาณการก่อสร้างขึ้นในเดือนตุลาคมภายหลังจากเดือนรอมฎอน (เดือนกันยายน) ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการเหล็กในช่วงไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

•แนวโน้มต้นทุนการผลิตบางตัวที่อาจสูงขึ้น หลังจากที่ราคาปรับได้ลดลงไปในช่วงก่อนหน้า โดยในส่วนของราคาแร่เหล็กนำเข้าในประเทศจีนนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในระดับสูงในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า โดยบริษัทผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลกของบราซิลเรียกร้องให้มีการปรับราคาสัญญาซื้อขายแร่เหล็กที่ทำกับจีน (เอเชีย) ขึ้นมาให้เป็นระดับเดียวกับสัญญาที่ทำกับผู้ซื้อในยุโรป (ซึ่งมีราคาสูงกว่าในเอเชียอยู่ประมาณร้อยละ 11) ทำให้ระดับราคานำเข้าแร่เหล็กของจีนมีโอกาสที่จะกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับราคาในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งการเจรจาปรับขึ้นราคาดังกล่าวมีโอกาสเป็นไปได้เนื่องจากผู้ผลิตแร่เหล็กคุณภาพสูงมีอยู่น้อยราย และประเทศจีนมีความจำเป็นค่อนข้างมากในการต้องพึ่งการนำเข้าแร่เหล็กคุณภาพสูงดังกล่าว เนื่องจากแร่เหล็กที่ผลิตได้เองในประเทศมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ ซึ่งก็อาจจะส่งผลกดดันด้านต้นทุนต่อบริษัทผู้ผลิตเหล็กโดยเฉพาะผู้ผลิตเหล็กคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ประเทศอินเดียหนึ่งในผู้ผลิตแร่เหล็กสำคัญยังมีแนวโน้มที่จะปรับภาษีส่งออกแร่เหล็กขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 15 ซึ่งแม้ตอนนี้อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบมากเนื่องจากอุปสงค์ของเหล็กที่ลดลง แต่ในระยะต่อไปเมื่อความต้องการเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนดังกล่าวย่อมจะมีผลทำให้ผู้ผลิตต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวมายังผู้บริโภคในส่วนถัดๆไปได้ นอกจากนี้ในส่วนของราคาถ่านหินซึ่งหลังจากมีการลดลงของราคาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตถ่านหินหลายรายเริ่มส่งสัญญาณการทยอยลดกำลังการผลิตลง โดยผู้ผลิตถ่านหินในประเทศจีนบางรายถึงกับทำข้อตกลงร่วมกันในการลดกำลังการผลิตลงถึงประมาณร้อยละ 50 ทั้งนี้เพื่อพยุงราคาถ่านหินให้กลับขึ้นมาสูงอีก

จากปัจจัยข้างต้นทำให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อาจมีโอกาสกลับมาปรับสูงขึ้นได้อีก แต่คาดว่าราคาที่ปรับขึ้นนี้จะไม่ขึ้นไปสูงเท่ากับระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคม จากที่มีการคาดการณ์กันว่าราคาเหล็กได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว และอุปสงค์ของตลาดหลายแห่งก็ยังไม่สื่อให้เห็นถึงทิศทางที่จะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้จากปัญหาเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับเพิ่มราคาเหล็กขึ้นได้มากดังเช่นช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามโอกาสที่ราคาเหล็กจะดีดตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 ดังกล่าว ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในหลายๆภูมิภาคทั่วโลก รวมไปถึงสัญญาณของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ทรุดลง ตั้งแต่รัฐบาลประกาศกฏข้อบังคับให้ผู้ซื้อบ้านชำระเงินดาวน์เพิ่มขึ้น และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นมากเกินไป ส่งผลให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในจีนชะลอลง ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อปริมาณอุปสงค์เหล็กในตลาดโลกที่อาจจะชะลอลง และส่งผลต่อระดับราคาที่ตกต่ำลงได้ ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปหากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

สำหรับผลต่อธุรกิจไทยนั้นนอกจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่อาจยังคงมีความผันผวน ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ต้องนำเข้าเหล็กมาจากต่างประเทศ ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากที่ค่าเงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ผันผวน ควรจะมีการวางแผนแนวทางในการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวทางหนึ่งคือการทำสัญญาล่วงหน้าในการซื้อขายทั้งการซื้อขายเหล็กและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากราคาที่ผันผวน รวมไปถึงการติดตามสถานการณ์ราคาเหล็กและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาต้นทุนดังกล่าว