โครงการแบ่งปันฯ ผนึกกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม และไมโครซอฟท์

นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน เปิดเผยว่า ทางโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับโครงการ ศรีปทุม ยูเอสอาร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม เปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยเข้าร่วม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เกือบ 30 องค์กร อาทิมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง มูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ

ทั้งนี้กิจกรรมหลักของโครงการคือ การจัดการอบรมเพิ่มพูนความรู้ และทักษะด้านการบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งทักษะดังกล่าวมีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนให้ทัดเทียมกับภาคธุรกิจ

“ความร่วมมือกันของภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคสังคมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางความคิดเพื่อสังคมสูตรใหม่ คือ ไม่ใช่ หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองแล้ว แต่เป็นพัฒนาการที่นำไปสู่ความยั่งยืน สูตร หนึ่ง บวก หนึ่ง เท่ากับ สาม ซึ่งการนำทรัพยากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเครือข่ายที่เป็นจุดแข็งของแต่ละภาคส่วน มาร่วมกันพัฒนาบุคคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารงาน และดำเนินงานอย่างพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเจริญก้าวหน้า และยังสามารถพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพให้กับผู้มาร่วมงาน ซึ่งจะเป็นข้อจูงใจให้คนรุ่นใหม่ สนใจสมัครเข้ามาร่วมงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมมากขึ้น”

ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานโครงการ ศรีปทุม ยูเอสอาร์ (Sripatum University Social Responsibility) กล่าวว่า เพื่อให้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม เกิดประโยชน์สูงสุด กับบุคคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชน ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ผสานความร่วมมือจากทั้ง คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยในคณะต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ มาเป็นวิทยากรความรู้ โดยเนื้อหาจะมีการปรับให้เข้ากับองค์กรพัฒนาเอกชน มีระยะเวลาเรียนทั้งหมด 66 ชั่วโมง ใช้เวลาเรียนทุกวันเสาร์ รวม 3 เดือน คือตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม พ.ศ. 2551 มุ่งเน้นการจัดการสมัยใหม่ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ด้านไอที โดยด้านการจัดการนั้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการองค์กร การจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การเขียนโครงการของบประมาณสนับสนุน วิธีบริหารและดำเนินโครงการ การตลาด กฎหมาย การประชาสัมพันธ์ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนด้านไอทีนั้น จะได้รับการเสริมความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก Internet การสร้างเว็บไซต์ และเทคนิคการใช้โปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยให้งานที่ทำอยู่เกิดประสิทธิภาพมีความคล่องตัว

ด้าน นางสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อชุมชน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด Microsoft Unlimited Potential ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้น บริษัทเห็นความสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางสังคม ได้มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านไอทีอันจะช่วยทำให้ ภารกิจในการช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ของแต่ละองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า หากผู้เข้าร่วมโครงการ ได้รับการเติมเต็มความรู้ด้านการการพัฒนาเว็บไซต์ การใช้อินเตอร์เน็ต การใช้โปรแกรมออฟฟิศช่วยงานต่างๆ ที่ทางบริษัทจะได้จัดโปรแกรมและวิทยากรมาถ่ายทอดให้ ก็จะทำให้ สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคโนโลยี และมีการทำงานที่คล่องตัว ร่นระยะเวลาในการทำงานเอกสาร และทำให้การติดต่อสื่อสารกับองค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

คุณสินี จักรธรานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทำงานของผู้ประกอบการทางสังคมนั้น จริงๆแล้วก็เหมือนกับผู้ประกอบการทางธุรกิจ ต่างกันที่องค์กรหนึ่งหวังผลกำไร อีกองค์กรหนึ่งไม่หวังผลกำไร ซึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จของทั้งสองส่วนนั้นเหมือนกัน คือจะต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น การบริหารจัดการ กระบวนการวิธีการทำงานที่สร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการทางสังคม นั้นยังขาดทักษะด้านการบริหารจัดการ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนภารกิจทางสังคมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงนับว่าโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมที่ได้ริเริ่มขึ้นมานี้ มีประโยชน์ มีความสำคัญ และมีความจำเป็นมาก

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาคธุรกิจ หันมาสนใจปัญหาสังคม และยื่นมือเข้ามาช่วย โดยจับมือกับภาควิชาการ ที่มีองค์ความรู้ เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมพลังของภาคประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถทำงาน ตอบสนองเป้าหมายของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเอาจุดแข็งหลายๆ ฝ่ายมารวมกัน ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้บุคคลากรที่ทำงานภาคสังคม มีทักษะมากขึ้น แต่ยังจะเป็นโอกาสในการผสาน เชื่อมโยงความร่วมมือและ จับมือกันไปแก้ปัญหาสังคม อีกทั้ง ยังจะเป็นการปูทางบ่มเพาะ จูงใจให้คนรุ่นใหม่ซึ่งมีใจอยู่แล้ว มาร่วมงาน เชื่อว่าหากมีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง จะทำให้การทำงานในทุกด้านพัฒนาและสำเร็จลุล่วงไปได้เร็ว ง่ายขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง”
อาจารย์เกื้อ แก้วเกตุ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเยาวชน YPDC กล่าวว่า ตนทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาประมาณ 43 ปี การดำเนินโครงการแบ่งปันฯ ถือว่าเป็นมิติที่ดีเพราะเป็นความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม ซึ่งถือว่าการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ทางสังคมมากมาย นอกจากนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยไม่หวังผลกำไร และในปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาทำงานด้านสังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เมื่อมีกำลังเสริมก็จะทำให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและสามารถพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ทำงานได้ดีและมีความสุขในอนาคต

โครงการ“แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 โดยมีเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network: SVN) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่เชื่อมโยง องค์กรภาคสังคม ที่ทำงานโดยไม่หวังผลกำไร กับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อทำงานพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม ที่ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้มาร่วมกันดำเนินโครงการนี้ นับเป็นหนึ่งใน 48 คู่ความดี ที่ทางโครงการได้ดำเนินการประสานงาน สร้างความเข้าใจ และเชื่อมโยงให้มาทำงานร่วมกัน