กวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยปี 2551…..ขยายตัวต่อเนื่อง

ธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจน้อยกว่าอีกหลายๆธุรกิจ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นจะลงอย่างไร เด็กนักเรียน โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ยังคงต้องเข้าสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ ตราบใดที่มาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียนยังคงไม่มีมาตรฐานเดียวกัน สถาบันกวดวิชาถือเป็นแหล่งที่พึ่งทางด้านวิชาการที่เด็กนักเรียนต่างเชื่อมั่นว่า จะเพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยสามารถเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการทำข้อสอบมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับสูง เนื่องมาจากสถาบันการศึกษาของภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ได้รับความนิยมจากเด็กนักเรียน มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าเรียน จึงทำให้การแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งค่านิยมของตลาดแรงงาน ทั้งในการรับเข้าทำงาน และโอกาสความเจริญก้าวหน้าของการทำงานในอนาคต ซึ่งให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนการที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือวิธีการวัดผลสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปี 2553 มีผลกระทบโดยตรงต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในปีการศึกษา 2551 ที่จะต้องมีการทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test : GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional Aptitude Test : PAT) เพิ่มขึ้นมา แต่ยังคงการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) เอาไว้ ซึ่ง GAT และ PAT เป็นการทดสอบที่จะต้องใช้ความรู้ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบได้ทั้งหมด 3 ครั้งต่อปี โดยในปีแรกจะต้องสมัครสอบในช่วงวันที่ 1 ก.ย.- 31 ต.ค. 51 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่งผลให้เด็กนักเรียนเกิดความตื่นตัวกันมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีวัดผลสอบรูปแบบใหม่นั้น ไม่ได้ส่งผลให้ความรุนแรงในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยลดลงเลย โดยเฉพาะรูปแบบการรับตรงของสถาบันการศึกษาภาครัฐ กลับมีคะแนนการสอบที่สูงมาก สาเหตุเหล่านี้ต่างเป็นการเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อเรียนในมหาวิทยาลัยรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ ธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แนวโน้มของธุรกิจสถาบันกวดวิชา
ด้วยความที่ตลาดขยายตัวทั้งในแง่ของเด็กนักเรียนและผู้ประกอบการ (ผู้สอน) ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้ทุกปีๆละหลายคน ส่งผลให้ในแต่ละปี ผู้ปกครองต้องเสียค่าเรียนพิเศษเทอมละหลายหมื่นบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ โดยส่วนใหญ่แล้ว อัตราค่าเรียนพิเศษจะคิดเป็นรายวิชา เฉลี่ยวิชาละ 2,500-5,500 บาท ดังนั้น ตลาดของสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในปี 2550 จึงมีมูลค่าถึง 5,500 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเกือบร้อยละ 10 ซึ่งขยายตัวสูงกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการชะลอการลงทุนใหม่ และชะลอการเปิดสาขา เพราะต้องพิจารณาสถานการณ์หลังระบบแอดมิชชั่นที่เริ่มนำร่องมาในปี 2548 และปฏิบัติจริงในปี 2549

สำหรับปี 2551 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5,900 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.8 จากปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยกระตุ้นธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. การเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2551 กระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มสัดส่วนของผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 จากสัดส่วนร้อยละ 30 ในปีการศึกษา 2550 ทำให้เด็กนักเรียนต้องการหาความรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในโรงเรียน ด้วยการเรียนพิเศษเพิ่มเติมตามสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง เพื่อให้มีระดับผลการเรียนในโรงเรียนที่ดี และสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ สำหรับปีการศึกษา 2553 ที่จะต้องใช้เกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง (Admission) ในรูปแบบใหม่ จะทำให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนบางกลุ่มที่ตั้งใจศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของภาครัฐ ซึ่งจะต้องเตรียมตัวอย่างจริงจังสำหรับการสอบในแต่ละครั้งต้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น และหากเด็กนักเรียนยังมีความไม่แน่ใจว่า ตนเองต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาใด จะทำให้มีการเรียนพิเศษในด้านความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นไปอีก

2. การขยายกิจการ และการเปิดศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่ ที่เปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการธุรกิจสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงรายใหญ่ได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่ขึ้น ให้เป็นแหล่งรวมของสถาบันกวดวิชาหลายๆแห่งมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกของนักเรียนและผู้ปกครองในการเดินทาง ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มยอดจำนวนเด็กนักเรียนได้มากขึ้นกว่าที่เปิดเป็นสถาบันเดี่ยวแยกออกไปต่างหาก เพราะเด็กนักเรียนสามารถจัดตารางเรียนให้เหลื่อมล้ำกันได้ สำหรับในอนาคตนั้น ยังมีผู้ประกอบการสถาบันกวดวิชาบางรายคาดว่าจะสร้างศูนย์กวดวิชาที่ให้บริการได้ทุกวิชาอย่างครบวงจร ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อเจาะตลาดในกลุ่มนักเรียนที่ต้องการใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ

3. การแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย มีอัตราการแข่งขันอยู่ในระดับสูงทุกปี เนื่องจากเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต้องการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของภาครัฐที่มีชื่อเสียง เพราะค่านิยมของตลาดแรงงานที่ให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่ากัน แต่สถาบันการศึกษาของภาครัฐสามารถรับเด็กนักเรียนได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เด็กนักเรียนจึงต้องเรียนกวดวิชามากขึ้นเพื่อให้สามารถสอบแข่งขัน และผ่านเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาของภาครัฐได้

4. ค่านิยมของผู้ปกครอง และตลาดแรงงาน เนื่องด้วย ในตลาดแรงงานมีการให้คุณค่าของมหาวิทยาลัยต่างๆไม่เท่ากัน ผู้ปกครองจึงมีค่านิยมที่ต้องการให้เด็กนักเรียนได้เข้าเรียนในคณะที่ดี และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งถือเป็นการรับประกันจากในสังคมระดับหนึ่งว่า จะสามารถเข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงได้ หรือจะมีรายได้ดีในอนาคต ผู้ปกครองจึงส่งเสริมให้บุตร-หลานของตนเข้าเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมจากการเรียนตามปกติ

5. มาตรฐานการเรียน และการสอนของโรงเรียน ในปัจจุบัน ประเทศไทยเกิดความขาดแคลนอาจารย์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทำให้มาตรฐานทางการศึกษาของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน นอกจากนี้ อาจารย์บางท่านอาจให้เวลาในด้านการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติแก่เด็กนักเรียนไม่เพียงพอ หรือมีการสอนในรูปแบบเดิมๆ รวมทั้งขาดการวัดผลการเรียนโดยกระบวนการแสวงหาความรู้ การวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการนำความรู้จากในตำราเรียนมาประยุกต์ใช้ ด้วยเหตุต่างๆเหล่านี้ มีผลอย่างมากที่ทำให้เด็กนักเรียนต้องหันไปพึ่งพาสถาบันกวดวิชา เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมนอกชั้นเรียน เพราะสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง จะมีระบบการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน

อุปสรรคธุรกิจและการปรับตัว…..ทางรอดของธุรกิจ
ถึงแม้ว่าธุรกิจสถาบันกวดวิชาเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีอนาคตสดใส และสามารถเติบโตได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ภาวะการแข่งขันในธุรกิจนี้กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อหลายแห่ง ต่างหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เช่น การรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่ แต่ก็ยังเกิดอุปสรรคในการทำธุรกิจของทั้งผู้ประกอบการรายเดิม และผู้ประกอบการรายใหม่

โดยอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิมนั้น มาจากการที่สถาบันกวดวิชาต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน และระบบการสอบรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เช่น การจัดเตรียมการสอน และเอกสารประกอบการเรียนต่างๆ นอกจากการปรับเนื้อหาการเรียนการสอนแล้ว ผู้ประกอบการหรือผู้สอนยังต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีแก่เด็กนักเรียน กล่าวคือ สถาบันกวดวิชาต้องเป็นพี่เลี้ยง คอยแนะแนว และให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนให้แก่เด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ยังมีโอกาสที่จะดำเนินการได้ แต่ควรจะประเมินจากสภาวการณ์ในปัจจุบัน และต้องปรับตัวให้ทันกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น จึงจะสามารถอยู่รอดในธุรกิจนี้ต่อไปได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่ไม่มีความแน่นอน และการเข้าสู่ตลาดธุรกิจสถาบันกวดวิชาในปัจจุบันก็ทำได้ยาก เพราะมีสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นส่วนใหญ่อยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่เรียนในสถาบันกวดวิชาแล้วก็จะพบว่า เด็กนักเรียนมีความจงรักภักดี เชื่อมั่นในสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงเท่านั้น และยังเป็นการเรียนแบบตามคำชักชวนหรือบอกต่อกันมาแบบปากต่อปาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน จึงจะเข้าสู่ตลาดได้

การปรับตัว…..ฝ่าคลื่นธุรกิจและการแข่งขันที่รุนแรง
หากผู้ประกอบการในธุรกิจสถาบันกวดวิชาสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ท่ามกลางกระแสความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการศึกษาของไทยนั้น จำเป็นต้องปรับตัวในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. การออกแบบเนื้อหาหลักสูตร เพื่อรองรับระบบการสอบรูปแบบใหม่ และระบบการรับตรงจากมหาวิทยาลัย จะทำให้สถาบันกวดวิชามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การกวดวิชาเข้าภาคอินเตอร์แบบรับตรงที่จะมีความแตกต่างกันตามเกณฑ์ของแต่ละสถาบันการศึกษา อาจทำให้สถาบันกวดวิชาไม่สามารถระบุได้ว่า การเข้ากวดวิชาเพียงที่เดียวสามารถทำให้เด็กนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกหลักสูตร

2. การปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อใช้ในการสอบ O-NET / A-NET ในการสอบก่อนปีการศึกษา 2553 และการสอบ O-NET / GAT / PAT ในปีการศึกษา 2553 รวมถึงการรับตรงในบางคณะ ทำให้ต่อไปในอนาคต รูปแบบหลักสูตรของสถาบันกวดวิชาจะมีความเป็นตลาดเฉพาะ (Niche market) มากขึ้น

3. การปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน ผู้ประกอบการในธุรกิจสถาบันกวดวิชาจำเป็นต้องปรับกล-ยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับเด็กนักเรียน รวมทั้งควรเริ่มขยายการเรียนการสอนแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยอาจให้บริการด้านการเรียนการสอนตามรูปแบบ และเวลาที่ตรงกับความต้องการของเด็กนักเรียน (On demand) เช่น การเรียนพิเศษผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเรียนมากยิ่งขึ้น

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2551 มูลค่าตลาดของธุรกิจสถาบันกวดวิชาจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 5,900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6.8
โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับเด็กนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาภาครัฐ โดยเพิ่มการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) รวมทั้งการขยายกิจการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และการรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์กวดวิชาของผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงต่างๆ ส่วนปัจจัยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า จะส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจสถาบันกวดวิชาโดยตรง ได้แก่ อัตราการแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาภาครัฐที่สูงอย่างต่อเนื่อง ค่านิยมของตลาดแรงงานที่ผลักดันให้เด็กนักเรียนต้องเข้าเรียนในคณะ และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง โครงสร้างของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียน และการสอนของแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานไม่เท่ากัน ทำให้เด็กนักเรียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากสถาบันกวดวิชามากขึ้น

อุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจสถาบันกวดวิชาที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน และโครงสร้างของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ ส่งผลต่อการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ทั้งการจัดเตรียมการสอน เอกสารประกอบการเรียนต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้สอนควรต้องมีจิตวิทยาในการเป็นผู้ให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือที่ดีแก่เด็กนักเรียน ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ อาจจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่ไม่มีความแน่นอน และการเข้าสู่ตลาดธุรกิจสถาบันกวดวิชาเป็นไปได้ยาก หากไม่มีชื่อเสียงที่สะสมมายาวนาน

การดำเนินธุรกิจของสถาบันกวดวิชาให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ รวมทั้งต้องสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความสนุกสนานให้เกิดขึ้นในระหว่างการเรียน และพัฒนาการบริการด้านการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของเด็กนักเรียน โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆมาเป็นส่วนสนับสนุนในการให้บริการควบคู่ไปด้วย