วิกฤตการณ์ทางการเงินสหรัฐฯ และทิศทางของเงินทุนต่างชาติ…ผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย

ในช่วงที่ผ่านมาวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดจากปัญหาซับไพร์มขยายผลกระทบลุกลามมากขึ้น และล่าสุดได้ส่งผลมาถึงการล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ อิงค์ (Lehman Brothers Holdings Inc) วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ และตามมาด้วยกระแสข่าวความอ่อนแอของสถานะทางการเงินและการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินสหรัฐฯ หลายแห่ง อย่างบริษัทประกันภัยชั้นนำของโลก คือ บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องออกมาให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ ด้วยวงเงินกว่า 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบรุนแรงในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ได้ส่งผลลุกลามไปยังสถาบันการเงินทั่วโลกหลายแห่ง และมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อระบบการเงินในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับความเชื่อมโยงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยนั้น เนื่องจากการลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ นอกจากการพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศแล้ว บางโครงการโดยเฉพาะการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก (เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม รีสอร์ท โครงการคอนโดมิเนียม เป็นต้น) มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างประเทศ การขายหุ้นกู้ให้แก่สถาบันการเงินต่างประเทศ หรือการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศ โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงที่จะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกนี้ต่อแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ดังนี้

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ…พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างชาติมากขึ้น
การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างมากภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งในขณะนั้นผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศประสบกับภาวะสภาพคล่องรุนแรง จนไม่สามารถพัฒนาโครงการต่อไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมทุน โดยเฉพาะพันธมิตรจากต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการต่อไป หรือโครงการที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนทำให้โครงการก่อสร้างถูกปล่อยทิ้งร้างจำนวนมาก สำหรับโครงการจำนวนไม่น้อยที่ได้กลายเป็น NPA หรือสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Assets) ได้ถูกนำมาประมูลขายในตลาด ซึ่งในขณะนั้นนักลงทุนต่างชาติได้ให้ความสนใจในการเข้ามาซื้อสินทรัพย์ในโครงการที่ยังคงมีศักยภาพในการที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อได้ โดยเข้ามาในลักษณะของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยเพื่อเข้ามาพัฒนาโครงการต่อไป

สำหรับสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันนั้น เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศในแถบเดียวกัน เช่น การที่นักลงทุนต่างชาติยังมองว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเดียวกัน เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น และการที่ประเทศไทยสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่เป็นที่รู้จักในสายตาของนานาประเทศ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เพื่อรองรับตลาดชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือต้องการเข้ามาพำนักในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัวลง แต่การลงทุนของต่างชาติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่ากว่า 33,603 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 66.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.3 ของเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศ ทั้งหมด ซึ่งถ้าพิจารณาถึงมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมที่ยังคงอยู่ในประเทศมีมูลค่าถึง 198,757 ล้านบาท (ตั้งแต่ปี 2514- กรกฎาคม 2551)

การเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนจากต่างประเทศนั้น มีการเข้ามาลงทุนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชาวไทย การเข้ามาลงทุนโดยผ่านกองทุนต่างๆ การเข้ามาซื้อหุ้นกู้ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย หรือการเข้ามาซื้อกิจการของผู้ประกอบการไทย เป็นต้น สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของสัดส่วนผู้ถือหุ้น โดยลักษณะของการเข้ามาของทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยนั้น โดยส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในโรงแรม บ้านพักตากอากาศ ประเภทวิลล่า ในจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่มาในระยะหลังเมื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โครงการบ้านจัดสรร ในกรุงเทพมหานครย่านใจกลางเมือง แหล่งธุรกิจ เริ่มเป็นที่สนใจของตลาดและสามารถปิดโครงการขายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่จากต่างชาติ

ทั้งนี้ทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีมาจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ กลุ่มทุนจากสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภท โรงแรม รีสอร์ท อาคารสำนักงาน และโครงการคอนโดมิเนียมระดับบน เช่น กลุ่มทุนจาก บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ อิงค์ (Lehman Brothers Holdings Inc) บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) บริษัท Morgan Stanley และกลุ่มแมริออท เป็นต้น กลุ่มทุนสิงคโปร์ เป็นกลุ่มทุนที่เข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยเป็นการเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย เช่น กองทุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ Government of Singapore Investment Corp หรือ GIC บริษัท แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือ รัฐบาลสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจด้านที่พักอาศัย โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มทุนกลุ่มใหม่ที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยร่วมกับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาลงทุนในโรงแรม โครงการคอนโดมิเนียมระดับบน บ้านพักตากอากาศ รีสอร์ท ตามเมืองท่องเที่ยว และกลุ่มทุนจากยุโรป เช่น จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และจากประเทศสวีเดน กลุ่มทุนกลุ่มนี้จะเน้นการลงทุนไปยังโรงแรม รีสอร์ท แถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นหลัก

การเข้าถึงทุนต่างชาติอาจยากขึ้นและมีต้นทุนสูง
วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้เกิดประเด็นคำถามถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เมื่อบริษัท Lehman Brothers บริษัท AIG และกองทุนไพรเวท ฟันด์ (Private Fund) ต่างๆ ได้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ
วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยผ่านการลงทุนของต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนขยายการผลิตหรือขยายธุรกิจในไทยอาจชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น นิคมอุตสาหกรรม หรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ในขณะเดียวกันการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการคอนโดมิเนียมระดับบน และโครงการที่อยู่อาศัยประเภทวิลล่าที่สร้างขึ้นตามสถานที่ท่องเที่ยวของไทย ที่มักจะพึ่งกำลังซื้อของชาวต่างชาติเป็นหลัก หรือนักลงทุนรายย่อย ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่อาจลดลงจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก

ความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่พึ่งแหล่งทุนจากต่างประเทศ
วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก และนำไปสู่ความอ่อนแอของฐานะทางการเงินของสถาบันการเงิน ตลอดจนนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ทั่วโลกต่างก็ต้องเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องและขาดทุน ซึ่ง IMF ประเมินมูลค่าความสูญเสียในระบบการเงินโลกไว้สูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สภาวะดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัทที่มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงและพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศในการลงทุนโครงการ สำหรับนักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากสหรัฐฯและยุโรปบางกลุ่ม ทำให้มีโอกาสสูงที่กลุ่มทุนเหล่านี้อาจจะมีการดึงเงินทุนกลับประเทศตนเอง อย่างไรก็ตามผลกระทบโดยตรงที่คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยอาจได้รับผลกระทบโดยตรงในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการที่พึ่งพาแหล่งทุนจากสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีปัญหายังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
ในด้านแหล่งทุนในประเทศผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจจะเผชิญกับภาวะยากลำบากขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมา จากการที่สถาบันการเงินในประเทศเองได้มีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยลบภายในประเทศที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็อาจเผชิญสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ในกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายที่ระดมทุนในรูปแบบหุ้นกู้ อาจจะทำได้ยากและมีต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาวะตลาดในปัจจุบันที่นักลงทุนเริ่มหันมาลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย และผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในอัตราตลาด (Market rate) บวกกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น (Premium risk) ต้องมีความเหมาะสมและจูงใจนักลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งเมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนของหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายในประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.25 ต่อปี ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนของหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.80 ต่อปี

การชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศ ซึ่งที่สำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนรัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมา แม้พระราชกำหนดดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้วแต่ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงรอดูความชัดเจนทั้งในด้านเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาล แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเข้ามากดดันตลาดเงินตลาดทุนอีก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งผลประกอบการของธุรกิจของบริษัทแม่ในต่างประเทศที่อาจประสบปัญหาทำให้ต้องลดขอบเขตการลงทุน

บทสรุปและข้อคิดเห็น
ท่ามกลางกระแสวิกฤตการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่ตามมาด้วยการล้มละลายและการถูกเข้าครอบครองกิจการในสถาบันการเงินหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯและกำลังลุกลามไปยังสถาบันการเงินอีกหลายแห่งทั่วโลกในขณะนี้นั้น ความเชื่อมโยงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ ย่อมส่งผ่านมาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการกู้ยืม หรือการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่ากว่า 33,603 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 66.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.3 ของเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศทั้งหมด และโดยเฉพาะเมื่อทุนที่เข้ามาในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยจำนวนหนึ่งเป็นบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงิน เช่น บริษัท Lehman Brothers Holdings Inc ที่มีการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย อาจได้รับผลกระทบโดยตรงในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการที่พึ่งพาแหล่งทุนจากสถาบันการเงินที่มีปัญหายังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก ขณะที่กลุ่มทุนจากภูมิภาคอื่น เช่น เอเชีย ตะวันออกกลาง ก็อาจยังไม่เปลี่ยนแปลงสถานะการลงทุนในไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เล็งเห็นศักยภาพทางการตลาดในระยะยาว ขณะเดียวกันแม้ว่าสถาบันการเงินต่างชาติที่มีปัญหา อาจจำเป็นต้องขายทรัพย์สินหรือถอนการลงทุนกลับไปก็อาจมีกลุ่มทุนต่างชาติรายใหม่ หรือกลุ่มทุนไทยที่เข้ามาซื้อ เนื่องจากทรัพย์สินที่สถาบันการเงินต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่มีโอกาสในการสร้างรายได้ค่อนข้างดี ซึ่งในประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขายสินทรัพย์โดยกลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐฯและยุโรป อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกลุ่มทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเฉพาะการเข้ามาของกลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ที่จะเข้ามาแทนที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบในทางอ้อมต่ออุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยผ่านการลงทุนของต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนขยายการผลิตหรือขยายธุรกิจในไทยอาจชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น นิคมอุตสาหกรรม หรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ในขณะเดียวกันการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการคอนโดมิเนียมระดับบน และโครงการที่อยู่อาศัยประเภทวิลล่าที่สร้างขึ้นตามสถานที่ท่องเที่ยวของไทย ที่มักจะพึ่งกำลังซื้อของชาวต่างชาติเป็นหลัก หรือนักลงทุนรายย่อย ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่อาจลดลงจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นอาจมีผลต่อการจัดหาแหล่งทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วน โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการที่พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลักในการนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากแหล่งเงินทุนต่างชาติที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการลงทุนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสภาพคล่องของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงการที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยยังอาจเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมาในการระดมทุนเนื่องจากภาวะตลาดทุนที่อาจไม่เอื้ออำนวย อันเป็นผลจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความท้าทายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในระยะข้างหน้า นอกจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯแล้ว ปัจจัยภายในประเทศยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ยังคงต้องระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง ที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทยเอง แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงนี้จะทำให้แรงกดดันต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภคจะบรรเทาลงก็ตาม