วิกฤตสถาบันการเงินโลก … ส่งผลกระทบภาคธนาคารเกาหลีใต้

วิกฤตการเงินโลกขณะนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังภาคธนาคารทั่วโลก สำหรับภาคธนาคารของเกาหลีใต้ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ปัจจุบันค่าเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่หนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงกว่าเงินสำรองต่างประเทศและอยู่ต่ำกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดของเกาหลีใต้เพียงเล็กน้อย โดย หนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ต่างประเทศในภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสร้างความกังวลว่าฐานะภาคธนาคารของเกาหลีใต้จะมีความมั่นคงเพียงภายใต้สถานการณ์เปราะบางข้างต้น

ภายใต้ภาวะวิกฤตสภาพคล่องตึงตัวทั่วโลก เกาหลีใต้ดำเนินนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ สำหรับมาตรการช่วยเหลือภาคธนาคารในประเทศ ทางการเกาหลีใต้ใช้เงินสำรองต่างประเทศเพื่อพยุงตลาดไม่ให้ผันผวนมากนัก โดยการเพิ่มเงินสกุลต่างประเทศผ่านธนาคารภาครัฐเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับตลาด และรัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้มีแผนเจรจากับธนาคารสหรัฐฯ เพื่อขอต่ออายุวงเงินเครคิตให้กับธนาคารเกาหลีใต้ในภาวะที่ค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างหนัก ขณะเดียวกันทางการเกาหลีใต้ก็เพิ่มปริมาณเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจส่งออก SMEs ที่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในวันที่ 9 ตุลาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 นับว่าเป็นการสิ้นสุดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีของเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 5.25 ในเดือนกันยายน 2551 และถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเกาหลีใต้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเงินเฟ้อปรับลดลงจากร้อยละ 5.9 ในเดือนกรกฎาคม 2551 เป็นร้อยละ 5.6 และร้อยละ 5.1 ในเดือนสิงหาคม และกันยายน 2551 ตามลำดับ โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัวทั่วโลกและอาจกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจจริงตามมาด้วย โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ได้ร่วมมือกันลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.27 รวมถึงฮ่องกง และออสเตรเลียที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เพื่อช่วยกอบกู้ภาวะสินเชื่อตึงตัวที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินโลก

ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 2551
ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินทั่วโลกจากวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ก่อให้เกิดปัญหาสินเชื่อตึงตัวแพร่ไปประเทศต่างๆ รวมทั้งเกาหลีใต้ด้วยซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาคธนาคารเกาหลีใต้และอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของเกาหลีใต้ในที่สุด กล่าวได้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2551 ต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งจากปัญหาภาคการเงินโลก และความต้องการภายในประเทศที่ชะลอตัวเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศชะลอลง และต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าปัจจัยท้าทายหลายประการที่ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2551 ได้แก่

 วิกฤตสภาพคล่องทางการเงิน & เงินสำรองต่างประเทศปรับลดลง
วิกฤตสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวอย่างหนักที่ส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารเกาหลีใต้ ทำให้ทางการเกาหลีใต้ต้องใช้เงินสำรองต่างประเทศ (Foreign Reserve) เข้าช่วยธนาคารในประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศตึงตัวผ่านธนาคารภาครัฐโดยการทำ Swap รวมทั้งใช้เงินสำรองต่างประเทศที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพยุงค่าเงินวอนไม่ให้อ่อนค่าลงมากนัก นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างหนักในปัจจุบัน ทำให้รัฐมนตรีการคลังของเกาหลีใต้มีแผนเจรจากับธนาคารสหรัฐฯ เพื่อขอต่ออายุวงเงินเครดิตให้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เนื่องจากหนี้ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้อยู่ในระดับสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภาคธนาคารพาณิชย์

ทางการเกาหลีใต้ได้ใช้เงินสำรองต่างประเทศเข้าแก้ไขปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกขนาดกลางและเล็ก (SMEs) โดยสนับสนุนเงินตราต่างประเทศมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) ของเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศแก่ธุรกิจส่งออก SMEs ที่กำลังประสบปัญหาความยากลำบากในการหาเงินตราต่างประเทศท่ามกลางปัญหาสภาพคล่องการเงินโลก มาตรการใช้เงินสำรองต่างประเทศของทางการเกาหลีเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินช่วยเหลือภาคธนาคารและภาคธุรกิจในประเทศ ส่งผลให้เงินสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ในเดือนกันยายน 2551 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเงินสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ลดลงอย่างจาก 264.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2551 มาอยู่ที่ 239.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2551

ฟองสบู่ภาคสินเชื่อ & หนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้อยู่ในระดับสูง >
ภาคธนาคารพาณิชย์ของเกาหลีใต้มีอัตราเงินกู้ต่อเงินฝาก (loan-to-deposit ratios) อยู่ในระดับค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 136 ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ยเงินกู้ต่อเงินฝากของประเทศเอเชียที่อยู่ที่ร้อยละ 82 อย่างไรก็ตาม อัตราขยายตัวของเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ชะลอลงอย่างรวดเร็วทั้งการให้กู้กับภาคครัวเรือนและการให้กู้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินโลก ซึ่งช่วยลดอัตราส่วนเงินกู้ต่อเงินฝากที่อยู่ในระดับสูงของภาคธนาคารให้ต่ำลง ขณะที่หนี้สินต่างประเทศของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 382 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 เป็น 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2551 โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารพาณิชย์ที่มีมูลค่า 211 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากมูลค่า 194 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 หากพิจารณาสินทรัพย์ต่างประเทศของเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน 2551 มีมูลค่า 422 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศในช่วงเดียวกัน แต่หนี้สินต่างประเทศของเกาหลีใต้อยู่ในระดับสูงกว่าเงินสำรองต่างประเทศที่ 239.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2551

ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี >
ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 โดยเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงมาปิดที่ระดับ 1,306.4 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 คิดเป็นอ่อนค่าลงเกือบร้อยละ 40 จากระดับ ณ สิ้นปี 2550 ที่ 936.1 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และถือเป็นเงินสกุลที่อ่อนค่ามากที่สุดในบรรดาเงินสกุลสำคัญๆ ในเอเชียเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงอย่างมากมีสาเหตุจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ แรงกดดันของเงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ในภาวะที่เกิดปัญหาภาคการเงินโลกและเกิดสภาพคล่องตึงตัว ทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเอเชีย ส่งผลกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วเอเชียปรับตัวลดลง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KOSPI) ในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ปิดที่ระดับ 1,241 จุด ปรับลดลงร้อยละ 34.5 จากช่วงปลายปี 2550 ที่อยู่ที่ 1,897 จุด นอกจากนี้ เงินวอนเกาหลีใต้ยังได้รับปัจจัยลบจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลที่พุ่งขึ้น ถือว่าเป็นปีแรกที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลอีกครั้งนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ปัจจัยอีกประการ ได้แก่ วิกฤตสินเชื่อตึงตัวของโลกที่ทำให้สถาบันการเงินของเกาหลีใต้ประสบความยากลำบากในการหาเงินทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สถาบันการเงินเหล่านี้จำเป็นต้องขายเงินวอนเพื่อถือดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงอีก

ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2540
แม้ว่าการส่งออกของเกาหลีใต้จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 22.8 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 แต่การนำเข้าของเกาหลีใต้ก็เร่งตัวขึ้นในอัตรา ร้อยละ 34.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าของเกาหลีใต้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มียอดขาดดุล 14.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับที่เกินดุลการค้า 11.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2550 สาเหตุสำคัญของการขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นของเกาหลีใต้ในปีนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันต้องเผชิญกับมูลค่าการนำเข้าน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลด้วย โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุล 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในปี 2551 นี้ จะขาดดุลเป็นปีแรกนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าผลกระทบจากวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกต่อภาคธนาคารพาณิชย์ของเกาหลีใต้ค่อนข้างรุนแรง ถือเป็นปัญหาเปราะบางที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภาคการธนาคารเกาหลีใต้ เนื่องจากปัญหาฟองสบู่ภาคสินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์ของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของประเทศ และในภาวะที่ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้หนี้ต่างประเทศมีมูลค่าสูงขึ้น การที่ทางการเกาหลีใต้ดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินในประเทศโดยใช้เงินสำรองต่างประเทศ ส่งผลให้เงินสำรองต่างประเทศปรับลดลง โดยในปัจจุบันหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดของเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดเพียงเล็กน้อย แต่อยู่สูงกว่าเงินสำรองต่างประเทศ ซึ่งปัญหาของภาคการเงินของเกาหลีใต้ครั้งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทางการเกาหลีใต้คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัญหาภาคการเงินอาจส่งผลลุกลามต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมตามมา

สำหรับปัจจัยด้านบวกบางประการที่จะช่วยบรรเทาภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ได้แก่ แนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้และครึ่งปีแรกของปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรง จะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าของเกาหลีใต้ชะลอลงด้วย ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าของเกาหลีใต้ในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2551 ได้เริ่มชะลอตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลงจากที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า และได้ส่งผลให้มูลค่าขาดดุลการค้าของเกาหลีใต้ในเดือนกันยายนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก จะช่วยให้สินค้าส่งออกของเกาหลีใต้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดส่งออก และส่งผลดีต่อการขยายตัวด้านส่งออกในภาวะที่อุปสงค์ความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอ่อนแรงลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการชะลอตัวของการนำเข้าและการส่งออกที่น่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยข้างต้นจะช่วยบรรเทาภาวะขาดดุลการค้าในขณะนี้ให้ชะลอลง และคาดว่าจะลดแรงกดดันภาวะขาดดุลดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ท่ามกลางปัญหาหลายด้านรุมเร้าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2551 นี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะชะลอลงเหลือร้อยละ 4 จากที่เติบโตร้อยละ 5 ในปี 2550

สรุป
วิกฤตการเงินโลกขณะนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังภาคธนาคารทั่วโลก สำหรับภาคธนาคารของเกาหลีใต้ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ปัจจุบันค่าเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ขณะที่หนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้ในปัจจุบันที่ 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าสูงกว่าเงินสำรองต่างประเทศที่ 239.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอยู่ในระดับต่ำกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดของเกาหลีใต้เพียงเล็กน้อย (สินทรัพย์ต่างประเทศรวมของเกาหลีใต้มีมูลค่า 422 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยหนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้สินต่างประเทศในภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสร้างความกังวลว่าฐานะภาคธนาคารของเกาหลีใต้จะมีความมั่นคงเพียงใดภายใต้สถานการณ์เปราะบางข้างต้น

ทางการเกาหลีใต้รับมือกับวิกฤตภาคการเงินโลกโดยดำเนินนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคธนาคารในประเทศที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศตึงตัวอย่างหนัก ทางการเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในวันที่ 9 ตุลาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 5.25 ในเดือนกันยายน 2551 ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี ของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ทางการเกาหลีใต้ใช้เงินสำรองต่างประเทศเพื่อพยุงตลาดไม่ให้ผันผวนมากนัก โดยการเพิ่มเงินสกุลต่างประเทศผ่านธนาคารภาครัฐเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับตลาด นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้มีแผนเจรจากับธนาคารสหรัฐฯ เพื่อขอต่ออายุวงเงินเครคิต (extended credit lines) ให้กับธนาคารเกาหลีใต้ในภาวะที่ค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างหนัก ขณะเดียวกันทางการเกาหลีใต้ก็เพิ่มปริมาณเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจส่งออก SMEs ที่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศด้วย

การที่ทางการเกาหลีใต้ดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินในประเทศโดยใช้เงินสำรองต่างประเทศ ส่งผลให้เงินสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดของเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่อยู่สูงกว่าเงินสำรองต่างประเทศ ซึ่งปัญหาของภาคการเงินของเกาหลีใต้ครั้งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทางการเกาหลีใต้คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัญหาภาคการเงินอาจส่งผลลุกลามต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมตามมา กล่าวได้ว่า ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2551 นี้ ได้แก่ 1. ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวตามภาวะวิกฤตการเงินโลก 2. ฟองสบู่ภาคสินเชื่อ & หนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้อยู่ในระดับสูง 3. ค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี 4. เงินทุนสำรองต่างประเทศที่ปรับลดลง 5. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง และ 6. ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาขาดดุลอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2540 ปัจจัยท้าทายต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2551 นี้จะชะลอลงเหลือร้อยละ 4 จากที่เติบโต ร้อยละ 5 ในปี 2550

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับอ่อนตัวในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้และช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวรุนแรงมากขึ้น น่าจะลดแรงกดดันต่อภาวะขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปี 2551 นี้ ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะช่วยพยุงไม่ให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงมากนัก และเป็นการลดภาระทางการเกาหลีใต้ในการใช้เงินสำรองต่างประเทศพยุงค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงมากด้วย นอกจากนี้ แม้เงินสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ปรับลดลงจาก 262 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2550 เป็น 239.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2551 แต่ก็ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยเทียบได้กับมูลค่าการนำเข้าของเกาหลีใต้ประมาณ 6 เดือน