ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2550 พบว่า
• สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิ) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ปรับลดลงจากสิ้นเดือนสิงหาคม 2551 โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 1.73 ล้านล้านบาท ลดลง 7.93 หมื่นล้านบาท จาก 1.81 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อันเป็นผลจากการลดลงในองค์ประกอบหลักอย่างเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นและเงินลงทุนสุทธิเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การลดลงของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนกันยายน เป็นทิศทางที่สอดคล้องกันกับยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่งในเดือนเดียวกันที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.44 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ที่ 4.30 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ชะลอการระดมเงินผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำแบบพิเศษและตั๋วแลกเงิน ตามการคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการคงจะยุติลงแล้ว หลังจากที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจัยลบทั้งปัญหาวิกฤตการเงินโลกและสถานการณ์การเมืองในประเทศ
• การลดลงของสินสินทรัพย์สภาพคล่องเกิดขึ้นในทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มียอดคงค้างของสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 1.04 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6.24 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.27 หมื่นล้านบาท มาที่ 2.07 แสนล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีสภาพคล่องลดลง 4.1 พันล้านบาท มาที่ 4.84 แสนล้านบาท
• เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ลดลง 1.94 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลดลงในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารขนาดกลางจำนวน 1.66 หมื่นล้านบาท และ 3.23 พันล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 379 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ อันเป็นผลจากการปรับตัวลงของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย ซึ่งคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบมาจากฐานะด้านต่างประเทศของไทยที่อาจบันทึกยอดเกินดุลสุทธิลดลงหรืออาจขาดดุล ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และปัญหาวิกฤตการเงินโลกที่ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด โดยการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง กอปรกับการดึงสภาพคล่องด้วยการขายสินทรัพย์ในประเทศเพื่อนำกลับไปเสริมสภาพคล่องของบรรดาสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ประสบปัญหา ตลอดจนการหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก อาจทำให้เม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศสุทธิผ่านช่องทางการค้าและการลงทุนมีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ตาม ในภาพกว้าง สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีอยู่สูงถึง 1.73 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ก็คาดว่าจะยังคงเป็นระดับที่มากพอสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งคงจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดสภาพคล่องเช่นวิกฤตในปี 2540 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิกฤตการเงินโลกในรอบนี้อาจยังคงต้องใช้เวลาอีกนานเกือบปีกว่าจะคลี่คลายลงได้ ดังนั้น การติดตามสถานการณ์และการวางแผนรับมือกับกรณีเลวร้ายยังคงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งดำเนินการ เพื่อที่จะสามารถตั้งรับและรอดพ้นไปจากสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ไปได้ด้วยดี ?