เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศความก้าวหน้าในการพัฒนา ‘ฟิล์มโพลีเทคพลาสติกสำหรับคลุมโรงเรือน’ ที่มีคุณสมบัติใหม่พิเศษสามารถลดความร้อนได้ 3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ฟิล์มโพลีเทคพลาสติกนี้มีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ และเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ทั้งสิ้นกว่า 10,000 ล้านบาท และทดแทนการนำเข้าโดยลดต้นทุนพลาสติกโรงเรือนได้ 75% โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง และมหาวิทยาลัยนเรศวร
รศ. ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการ ศูนย์เอ็มเทค ซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่งไม่นานมานี้ กล่าวว่า“ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชประเภทผักและผลไม้ประมาณ 1.24 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่แค่เพียงประมาณ 650 ไร่ที่ปลูกภายใต้โรงเรือน (กรีนเฮาส์) แต่หากมีการนำฟิล์มพลาสติกนี้มาใช้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกมาก เนื่องจากมูลค่าตลาดการส่งออกและบริโภคในประเทศของพืชประเภทผักและผลไม้ของไทยมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 36,500 ล้านบาท ซึ่งหากฟิล์มพลาสติกนี้ได้มีการนำไปใช้ น่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้กับเกษตรกรทั่วประเทศได้รวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำการส่งออกกล้วยไม้เมืองร้อนเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2550 ประเทศไทยมีสัดส่วนในตลาดกล้วยไม้ทั่วโลกถึง 35% และมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทยประมาณ 2,500 ล้านบาท หากฟิล์มโพลีเทคพลาสติกนี้สามารถผลิตออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว เรามีศักยภาพจะเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับประเทศได้อีกกว่าพันล้านบาท”
รศ. ดร. วีระศักดิ์ เปิดเผยว่า ศูนย์เอ็มเทคได้ทำการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้เป็น ‘ฟิล์ม-
โพลีเทคพลาสติก’ โดยมุ่งหมายให้สามารถทดแทนการนำเข้าฟิล์มพลาสติกที่มีราคาแพงจนเกษตรกรไทยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรขั้นสูงนี้ได้
“ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีเพื่อการผลิตฟิล์มโพลีเทคพลาสติกได้เองในประเทศแล้ว และเราสามารถผลิตได้ถูกกว่าฟิล์มพลาสติกนำเข้าถึง 75% ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรนับแสนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่นี้ได้มากขึ้น ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าของของผลผลิตทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกที่จะปลูกพืชผักผลไม้ได้หลากหลายขึ้น เช่น สามารถเลือกปลูกผักผลไม้บางชนิดที่ชอบอุณหภูมิต่ำ อันจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร” รศ. ดร. วีระศักดิ์กล่าว
“นอกจากนี้ การที่เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักและผลไม้บางชนิดนอกฤดูกาลได้ จะทำให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะขายผลผลิตได้ในราคาสูงกว่าปกติถึง 2-3 เท่า” รศ. ดร. วีระศักดิ์ กล่าว
ดร. จิตติ์พร เครือเนตร นักวิจัยของศูนย์เอ็มเทค หัวหน้าทีมโครงการวิจัยพัฒนาโพลีเทคพลาสติก กล่าวว่า จากการสนับสนุนของมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของฟิล์มโพลีเทค พลาสติกภายในโรงเรือน พบว่า โพลีเทคพลาสติกช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ถึง 3 องศา-เซลเซียส เมื่อเทียบกับโรงเรือนที่ใช้พลาสติกทั่วไป ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับการออกดอกผลของพืชหลายชนิดที่ปลูกในโรงเรือนเพาะชำ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นอีกด้วย
“คุณสมบัติใหม่ในการลดความร้อนนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะจะเหมาะกับประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน อีกทั้ง ปัญหาโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนเพาะชำโดยทั่วไปสูงเกินไป ทำให้พืชผลเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตลดน้อยลง และเกษตรกรในภาคอีสานซึ่งต้องเผชิญกับปัญหานี้มากเป็นพิเศษ” ดร. จิตติ์พรกล่าว
ดร.จิตติ์พร กล่าวว่า ปัจจุบันพลาสติกที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันต้องนำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน แต่ก็มีราคาแพงมาก ซึ่งทำให้เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ “ปกติแล้วหากนำเข้าพลาสติกชนิดไฮเทคสำหรับคลุมโรงเรือนที่คุณสมบัติใกล้เคียงกันกับโพลีเทคพลาสติก จะมีราคาแพงกว่าประมาณ 4 เท่า”
นอกจากจะสามารถลดปริมาณการแผ่รังสีความร้อนที่เข้าสู่โรงเรือนเพาะชำแล้ว โพลีเทคพลาสติกยังสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด เพื่อช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีกว่า โดยลดหรือกันช่วงรังสีที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่ให้ผ่านเข้าไปในโรงเรือนได้อีกด้วย
ดร. จิตติ์พร เปิดเผยว่า “การตัดรังสีบางช่วงออกไปยังช่วยป้องกันโรคพืชบางชนิดที่อาศัยช่วงรังสีดังกล่าวในการแพร่ระบาด ไม่เพียงแต่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสมบูรณ์กว่า และในปริมาณที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยลดปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชในโรงเรือนได้ประมาณ 80%”
ตั้งเป้าพัฒนาพลาสติกอัจฉริยะสำเร็จในปี 2552
ดร.จิตติ์พร กล่าวว่า ก้าวสำคัญขั้นต่อไปของทีมวิจัยนี้คือ ตั้งเป้าพัฒนาโพลีเทคพลาสติกให้เป็น “โพลีเทคพลาสติกอัจฉริยะ” (Smart PolyTech Plastic) ภายในปี 2552 ซึ่งจะเป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติล้ำหน้าสำหรับใช้ในโรงเรือนเพาะชำ โดยในขณะนี้โพลีเทคพลาสติกสามารถจะคัดเลือกช่วงแสง และกันรังสีอันตรายไม่ให้ผ่านเข้าสู่เรือนเพาะชำได้ พร้อมกับลดอุณหภูมิความร้อนลง แต่ โพลีเทคพลาสติกอัจฉริยะจะไม่เพียงแต่สามารถจะคัดเลือกช่วงแสง และกันรังสีอันตรายออกไปเท่านั้น แต่สามารถที่จะแปรรังสีดังกล่าวให้เป็นรังสีที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชแทน”
ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
รศ. ดร. วีระศักดิ์ กล่าวว่า โพลีเทคพลาสติกได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวง และบริษัทเอกชน
“นี่คือตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของรัฐอย่าง
เอ็มเทค ภายใต้ สวทช. และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนระดมทรัพยากรของภาคเอกชนมาสร้างผลงานที่สอดคล้องกับความต้องการภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการแพทย์”
รศ. ดร. วีระศักดิ์ กล่าวว่า บริษัท ควอลิตี้ แพคพริ้นติ้ง 2000 จำกัด เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และเทคนิคการปฏิบัติงานแก่ทีมงานวิจัยโพลีเทคพลาสติกที่ใช้ทำฟิล์มพลาสติกเพื่อการทดสอบ
ดร. อุทัย วิชัย อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมวิจัยเพื่อสังเคราะห์วัสดุสำหรับลดรังสีความร้อน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาโพลีเทคพลาสติก
เพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าพลาสติกซึ่งมีราคาแพง
รศ. ดร. วีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เอ็มเทค ในฐานะศูนย์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาวัสดุและโลหะ กำลังทำงานวิจัยในโครงการอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัสดุที่มีสมบัติพิเศษอื่นๆ ทดแทนวัสดุนำเข้าที่มีราคาแพง
“โครงการวิจัยหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่ได้แก่การพัฒนาเครื่องต้นแบบ (Prototype) สำหรับการผลิต แขนขาเทียม และอวัยวะเทียมอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาวัสดุที่มีสมบัติพิเศษที่สามารถใช้แทนกระดูก รวมทั้งฟันปลอม” รศ. ดร. วีระศักดิ์ กล่าว
รศ. ดร. วีระศักดิ์ กล่าวว่า เอ็มเทคประสบความสำเร็จในการพัฒนารากฟันเทียมที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งสามารถใช้แทนของนำเข้า และช่วยให้คนไข้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีรากฟันเทียมได้มากขึ้น ทั้งนี้ รากฟันเทียมนำเข้ามีราคาประมาณตัวละ 15,000 บาท ในขณะที่รากฟันเทียมผลิตในประเทศมีราคาเพียงตัวละ 5,000 บาท
ศูนย์เอ็มเทคมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น 127 โครงการ และมีบุคลากรปฏิบัติงาน ประกอบด้วยนักวิจัย วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งสิ้น 345 คน
สวทช.เป็นองค์กรชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยมีเอ็มเทคเป็นหนึ่งในศูนย์แห่งชาติซึ่งปฏิบัติงานภายใต้ สวทช. ศูนย์เอ็มเทคมุ่งทำงานวิจัยพัฒนา และทำวิจัยร่วมกับกระทรวงต่างๆ ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุต่างๆ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น หรือใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ และทำให้มีวัสดุที่ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน
เกี่ยวกับ สวทช.
สวทช. มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการทำให้ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการแพทย์ สามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ โดยเสริมสร้างความสามารถด้าน-วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ไบโอเทค เอ็มเทค เนคเทค นาโนเทค และ ทีเอ็มซี สวทช. จะทำงานร่วมกับส่วนราชการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อที่จะเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำงานใกล้ชิด และเข้าถึงความต้องการของทั้งภาคการเกษตร การแพทย์ และภาคอุตสาหกรรม สวทช. และศูนย์ต่างๆ ขับเคลื่อนด้วยนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 คน โดยครึ่งหนึ่งของบุคลากรของ สวทช. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือปริญญาโท